Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

“หนูไม่รักพ่อ ไม่รักแม่แล้ว” นัยอะไรที่แฝงอยู่ รับมืออย่างไรดี

“หนูไม่รักพ่อ ไม่รักแม่แล้ว” นัยอะไรที่แฝงอยู่ รับมืออย่างไรดี
หนู

“หนูไม่รักแม่แล้ว ไม่รักพ่อแล้ว”

“หนูเกลียดแม่”

เจ็บจี๊ดสิคะ หัวอกคนเป็นแม่ แต่เดี๋ยวก่อน…สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องคิดต่อคือ ความจริงแล้วลูกไม่น่าจะหมายความอย่างนั้นจริง ๆ ค่ะ ลูกพูดแบบนี้มันต้องมีนัยอะไรสักอย่างแน่นอน ถึงพูดคำพูดเหล่านี้ออกมา วันนี้แม่โน้ตจะชวนคุณพ่อคุณแม่มาถอดรหัสคำพูดของลูกกันค่ะ

สาเหตุที่ลูกพูดว่า “หนูไม่รักแม่แล้ว”

ทักษะการควบคุมอารมณ์ยังไม่ดีพอ

เมื่อลูกมีอายุได้ 3 ปี ขึ้นไป ลูกจะเริ่มมีพัฒนาการในด้านอารมณ์และความรู้สึกที่มากขึ้น และซับซ้อนขึ้น ลูกจะมีอารมณ์โกรธ หงุดหงิด ดีใจ เสียใจ ความสุข ซึ่งอารมณ์ดังกล่าวบางครั้งอาจเกิดขึ้นได้พร้อม ๆ กัน ในขณะที่ลูกนั้นยังขาดทักษะในการเข้าใจอารมณ์ตัวเอง การจัดการอารมณ์ตัวเอง และยังขาดทักษะในการสื่อสาร เพื่อที่จะใช้อธิบายความรู้สึกของตัวเองให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจได้

ขาดประสบการณ์การเชื่อมโยงอารมณ์กับเหตุผล

เมื่อลูกมีอารมณ์โกรธ หงุดหงิด เสียใจ งอน หรือน้อยใจ ลูกก็มักจะเชื่อมอารมณ์เหล่านี้กับคำพูดที่ว่า “ไม่รัก” ได้เพียงคำเดียว เนื่องจากลูกยังมีคลังคำศัพท์ในหัวน้อย จึงไม่รู้ว่าจะสื่อสารออกมาเป็นคำไหนให้ตรงกับความรู้สึกของตัวเอง

ทดสอบปฏิกิริยาของพ่อแม่

เมื่อลูกถูกขัดใจ หรือลูกต้องการอะไรสักอย่าง ลูกก็จะพยายามหาและทำทุกวิถีทาง เพื่อให้ได้สิ่งนั้น ๆ มา ลูกกำลังทดสอบปฏิกิริยาของคุณพ่อคุณแม่อยู่ค่ะ

วิธีรับมือลูกพูดไม่รักแม่แล้ว

อย่าเพิ่งโกรธ หรือพูดประชดกลับ

“หนูไม่รักแม่แล้ว”

“แม่ก็ไม่รักหนูเหมือนกัน เพราะหนูทำตัวไม่น่ารัก”

แบบนี้ไม่ได้เด็ดขาดค่ะ เพราะจะกลายเป็นว่าต่างคนต่างทำร้ายจิตใจซึ่งกันและกัน ไม่มีประโยชน์เลย และที่สำคัญ ลูกจะรู้ได้ทันทีว่าเมื่อเขาพูดคำนี้แล้วคุณแม่จะมีปฏิกิริยาอย่างไร

ตั้งสติวิเคราะห์

หนูไม่รักพ่อแล้ว” ให้คุณพ่อตั้งสติคิดก่อนค่ะ ว่าที่ลูกพูดมานั้น เนื่องมาจากสาเหตุอะไร ก่อนหน้านี้มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้างที่ส่งผลให้ลูกงอน หรือโกรธได้ขนาดนี้

ให้ลูกนิ่งก่อน

หากลูกโวยวาย ลงนอนดิ้นกับพื้น ให้คุณแม่ปล่อยให้ลูกดิ้นไปก่อน แต่ไม่ใช่เดินหนีนะคะ เพียงแต่รอให้ลูกนิ่งก่อน หลังจากนั้นค่อยพูดคุยกันด้วยเหตุผลว่า เมื่อกี้ที่หนูบอกว่าไม่รักแม่น่ะ เป็นเพราะว่าแม่ไม่ตามใจหนูมากกว่า ถ้าคราวหน้ามีเหตุการณ์ที่ลูกโกรธอีก ให้มาคุยกับคุณพ่อคุณแม่ดี ๆ ว่าหนูต้องการอะไร คุณพ่อคุณแม่จะได้ช่วยกันแก้ไขให้ แบบนี้จะดีกว่าค่ะ

ความรักไม่ใช่การตามใจ

อธิบายให้ลูกเข้าใจว่าความรักกับการตามใจเป็นคนละเรื่องกัน การที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ได้ตามใจหนูในทุกเรื่องไม่ใช่ว่าไม่รัก แต่เป็นเพราะเหตุผลอะไรให้อธิบายให้ลูกเข้าใจค่ะ

แสดงออกให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่ก็เสียใจ

เมื่อลูกบอกว่าไม่รักคุณพ่อคุณแม่แล้ว ให้คุณพ่อคุณแม่แสดงออกได้เลยค่ะว่าเราก็เสียใจที่ลูกพูดแบบนั้น ถ้าลูกต้องการอะไรให้คุย ให้อธิบายกันดี ๆ อะไรให้ได้ก็ให้ อะไรที่ให้ไม่ได้ ก็อธิบายลูกไปว่าเพราะอะไร แต่การที่ลูกจะพูดให้คนอื่นเสียใจ ควรเป็นอะไรที่ลูกควรเลี่ยง

ตอบสนองในเชิงบวก

ไม่ใช่ให้คุณแม่วิ่งไปบวกกับลูก (ไปตีลูก) นะคะ แต่หมายถึงว่า ถึงแม้ว่าลูกจะพูดว่า “หนูไม่รักแม่แล้ว” ก็ให้คุณแม่หรือคุณพ่อก็ตามบอกกับลูกไปว่า “แต่พ่อกับแม่รักหนูนะคะ” และอธิบายให้เขาเข้าใจว่า ถึงแม้ว่าเขาจะพูดไม่ดีกับคุณพ่อคุณแม่แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ยังรักลูกเหมือนเดิม พร้อมที่จะให้อภัยเสมอ

หากคุณพ่อคุณแม่จะย้อนไปในเรื่องเกี่ยวกับพัฒนาการด้านอารมณ์ของเด็กวัย 3 ขวบ ขึ้นไป คุณพ่อคุณแม่จะเข้าใจทันทีค่ะ ว่าเพราะอะไรลูกถึงแสดงออกและพูดแบบนั้น สิ่งหนึ่งหลัก ๆ เลยก็คือ การที่ลูกมีพัฒนาการด้านอารมณ์ที่ซับซ้อนขึ้น แต่คลังศัพท์ในหัวยังน้อย จึงไม่รู้ว่าจะใช้คำไหนมาอธิบายความรู้สึกดี ทางออกที่ดีที่สุดคือ การที่คุณพ่อคุณแม่ต้องใจเย็น และทำความเข้าใจลูกค่ะว่าถ้าลูกพูดแบบนี้ แสดงว่าเขาอาจต้องการอะไรสักอย่างแน่นอน