Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

เพื่อนในจินตนาการ คืออะไร? ควรกังวลไหม?

เพื่อนในจินตนาการ คืออะไร? ควรกังวลไหม?

เคยไหมคะที่คุณพ่อคุณแม่ได้ยินหรือเห็นลูกพูดคุยอยู่คนเดียว พูดกับใครไม่รู้ เรามองไม่เห็น ทำเอาคุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คนอาจกังวลว่าลูกเราปกติหรือเปล่า หรือลูกเรามีอาการทางจิต? ไม่ใช่ค่ะ ไม่ใช่ทั้งสองอย่าง แบบนี้เขาเรียกว่าลูกมี “เพื่อนในจินตานาการ” ค่ะ แล้วเพื่อนในจินตนาการแบบนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรกังวลไหม? แล้วสิ่งนี้จะส่งผลดีต่อลูกหรือเปล่า ควรแก้ไข หรือปล่อยไป วันนี้เราจะมาพูดคุยเรื่องนี้กันค่ะ

เพื่อนในจินตนาการ คืออะไร?

เพื่อนในจินตนาการ หรือ Imaginary Friend คือ เพื่อนที่ลูกอุปโลกน์หรือสร้างขึ้นมา ซึ่งสิ่งนั้น ๆ เป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิต สามารถเป็นได้ทั้งตุ๊กตา สัตว์ หรือสิ่งของ มีทุกขนาด ทุกรูปร่าง เพื่อนในจินตนาการนี้อาจสามารถอุ้มไปด้วยในที่ใดก็ได้ หรืออาจจะอยู่เฉพาะที่ก็ได้ รวมไปถึงอาจปรากฏตัวอยู่ตลอดเวลาหรือมาเฉพาะบางเวลาก็ได้เช่นกัน

สาเหตุที่เด็กสร้างเพื่อนในจินตนาการขึ้นมา

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สงสัยอยากรู้มากที่สุด เพื่อเป็นการทำความเข้าใจในกระบวนการด้านความคิดของลูก คงเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากว่าเพราะอะไรลูก ๆ ถึงต้องสร้างเพื่อนในจินตนาการขึ้นมา ไปค่ะ เราไปดูกัน

  • เพราะลูกต้องการคนที่รับฟังและให้การสนับสนุนเขา
  • ต้องการเพื่อนเล่นที่ยอมได้ทุกอย่าง
  • ต้องการให้ทำในสิ่งที่ตัวเองทำไม่ได้
  • ต้องการให้เพื่อนในจินตนาการของตัวเองเป็นสิ่งพิเศษสำหรับเขาคนเดียว
  • เพราะเพื่อนในจินตนาการไม่สามารถตัดสินความถูก-ผิดในตัวลูกได้

วิธีจัดการกับเพื่อนในจิตนาการ

ฟัง ๆ ดูเพื่อนในจินตนาการจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกได้หลายอย่างทีเดียว แต่…ก็มีบ้างเหมือนกันในบางกรณีที่ดูเหมือนลูกจะให้ความสำคัญมากเกินไป ซึ่งต้องเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องจำกัดขอบเขตและจัดการ ดังนี้ค่ะ

ขอให้ทำสิ่งต่าง ๆ ให้กับเพื่อนในจินตนาการ

บางครั้งคุณแม่อาจถูกขอให้ทำขนม หรือจัดเตียงให้กับเพื่อนในจินตานาการบ้าง ลำพังเรื่องการจัดเตียงแบบเล็กน้อยคงไม่เป็นอะไร แต่ถ้าหากถูกขอให้ซื้อเตียงให้เป็นเรื่องเป็นราว แบบนี้คุณแม่ต้องพูดคุยกับลูกให้เข้าใจถึงสาเหตุว่าเพราะอะไรที่เราไม่สามารถทำตามคำขอได้ เช่น แม่มีหนูที่เป็นลูกอยู่คนเดียว ถ้าจะให้แม่ต้องเสียเงินซื้อข้าวของให้เพื่อนของหนู แม่มีเงินจำกัด แล้วถ้าแม่เงินหมด แม่ก็อาจจะไม่มีเงินพาหนูไปเที่ยว หรือซื้อเสื้อผ้าสวย ๆ ให้หนูแล้วก็ได้นะคะ แบบนี้หนูโอเคไหม? เป็นต้น แล้วรับฟังความคิดเห็นของลูกนะคะ

ให้พูดต่อรองกับเพื่อนในจินตนาการ

หากคุณแม่เห็นว่าในตู้เสื้อผ้ามีเสื่อผ้าที่เล็กเกินไป ลูกใส่ไม่ได้แล้ว ต้องการจะโล๊ะเพื่อการบริจาค แล้วคุณแม่ถามลูกว่า “ชุดนี้แม่โล๊ะได้ไหมคะเพราะมันเล็กสำหรับหนูแล้ว?” แล้วลูกตอบว่า “หนูต้องถามแพทตี้ก่อน” แบบนี้ให้คุณแม่บอกลูกว่า “แต่แม่อยากฟังความคิดเห็นของหนูมากกว่าค่ะ

โยนความผิดให้เพื่อนในจินตนาการ

เป็นเพราะลูกกลัวความผิด ทำผิดแล้วกล้ารับผิด ทางออกเดียวในความคิดลูกก็คือ โยนความผิดให้เพื่อน แบบนี้คุณแม่สามารถอธิบายกับลูกได้ค่ะว่า “เพื่อนของหนูเป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิต ไม่สามารถทำสิ่งนี้ได้” เป็นต้น

จากหัวข้อข้างต้นที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ลูกพึ่งพาไม่ใช่คุณพ่อคุณแม่แต่เป็น “เพื่อนในจินตนาการ” แทน ซึ่งทางด้านจิตวิทยาสิ่งที่น่ากังวลจะไม่ใช่เรื่องของเพื่อนในจินตนาการแล้ว แต่เป็นเรื่องของ “การเลี้ยงดูและการให้เวลาคุณภาพกับลูก” มากกว่า การโยนความผิดให้เพื่อนจะทำให้เราเห็นได้ชัด และเป็นไปได้สูงว่า ก่อนหน้านี้ลูกเคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดีเกี่ยวกับการถูกลงโทษอย่างรุนแรงมาก่อน จึงส่งผลให้เมื่อทำผิด ลูกจะไม่กล้ารับผิด และโยนความผิดให้คนอื่นซึ่งไม่มีตัวตน การเลี้ยงลูกต้องอาศัยการปรับตัวของทั้งสองฝ่ายค่ะ คุณพ่อคุณแม่เองก็ต้องปรับวิธีการเลี้ยงลูก เพื่อที่จะปรับความคิดของลูกให้ถูกต้องต่อไป ที่สำคัญ ไม่ควรใช้อารมณ์ในการลงโทษ แต่ก่อนการลงโทษ ควรพูดคุยกับลูกให้ลูกเข้าใจเหตุผลที่ต้องลงโทษเสียก่อน

เพื่อนในจินตนาการไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลหากลูกใช้ไปในทางที่ถูกต้อง เช่น เพื่อส่งเสริมความมั่นใจให้กับตัวเอง เพื่อเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ ฯลฯ แต่เชื่อเถอะค่ะ อะไร ๆ ก็ไม่เท่ากับการที่คุณพ่อคุณแม่มีเวลาคุณภาพให้กับลูกค่ะ