Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

เปียโน เสริมสร้างพัฒนาการได้จริงหรือ? ด้านใดบ้าง?

เปียโน เสริมสร้างพัฒนาการได้จริงหรือ? ด้านใดบ้าง?

เพราะคุณพ่อคุณแม่คือ ผู้ที่คอยสนับสนุนลูกและช่วยกระตุ้นพัฒนาการลูกในทุกด้าน การเรียนในห้องเรียนลูกจะได้ความรู้ในด้านวิชาการ แต่การให้ลูกได้มีกิจกรรมเสริมนับเป็นการเสริมทักษะและกระตุ้นพัฒนาการด้านอื่น ๆ ที่ในห้องเรียนไม่มีได้เป็นอย่างดี แล้วอย่าง “เปียโน” จะช่วยเสริมพัฒนาการให้ลูกได้จริงหรือ? ด้านใดบ้าง?

เปียโน เสริมสร้างพัฒนาการด้านจิตใจและความคิด

เรามาดูกันดีกว่าค่ะว่าเปียโน สามารถเสริมสร้างพัฒนาการด้านจิตใจและความคิดอย่างไรกันบ้าง

ช่วยให้มีสมาธิมากขึ้น

สมาธิเกิดจากการที่เด็ก ๆ ต้องอ่านตัวโน้ตให้ทัน เพื่อให้สัมพันธ์กับมือที่ต้องเล่นอย่างต่อเนื่องนั่นเอง

เสริมสร้างด้านร่างกายและจิตใจ

ในขณะที่เล่นเปียโนนั้น สมองของเขาจะมีการทำงานอย่างต่อเนื่อง สมองจะถูกกระตุ้น ระบบประสาทจะทำงานได้ดี เมื่อเด็ก ๆ ได้อยู่กับการเล่นเปียโน ได้ฟังเสียงดนตรีที่ตัวเองเล่นก็จะมีความสุข ทำให้จิตใจของเด็ก ๆ แจ่มใส เมื่อจิตใจดี การแสดงออกก็จะดีตามไปด้วย

รู้จักการคิดแก้ปัญหา

เพราะการเล่นเปียโนหรือเล่นเครื่องดนตรีอะไรก็ตาม ต้องอาศัยการอ่านตัวโน้ต ซึ่งในแต่ละเพลงก็จะมีตัวโน้ตพร้อมเครื่องหมายต่าง ๆ กำกับไว้มากมาย เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้การแก้ปัญหากับตัวโน้ตนั้น ทำให้เกิดการเรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาใหม่ ๆ ค่ะ

พัฒนาในเรื่องการเรียน

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สามารถพิสูจน์ได้อย่างเป็นรูปธรรมทีเดียว เพราะเนื่องมาจากการที่ลูกมีสมาธิเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง จึงส่งให้ผลการเรียนนั้นดีตามไปด้วย

ภูมิใจในตัวเอง

เพราะการจะเล่นเปียโนได้นั้นต้องอาศัยความพยายามหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความมุ่งมั่นตั้งใจ ความพยายามในการที่จะเรียนรู้ทั้งในเรื่องของตัวโน้ตและเรื่องของตัวเปียโนเอง เมื่อเวลาผ่านไป เด็ก ๆ สามารถเล่นเปียโนเป็นเพลงได้ เด็กจะเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง และเห็นคุณค่าในตัวเองค่ะ

สร้างวินัยในตัวเอง

เพราะการจะเล่นเปียโนได้อย่างคล่องแคล่วนั้นต้องอาศัยระยะเวลาในการฝึกฝนเป็นระยะเวลาหนึ่งเลยทีเดียว ดังนั้น การนั่งเก้าอี้ซ้อมเปียโนในทุก ๆ วัน นับเป็นการปลูกฝังวินัยที่ดีให้กับเด็กได้ดีทีเดียว

เปียโน เสริมสร้างพัฒนาการด้านร่างกาย

เปียโนแม้จะอาศัยการนั่งเล่นก็จริง แต่ความจริงแล้วหากลูกน้อยได้เล่นเปียโน เขาก็จะได้รับการกระตุ้นพัฒนาการทางด้านร่างกายอีกด้วย มีอะไรบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ

นิ้วมือ

เล่นเปียโนต้องอาศัยมือ และนิ้วมือทั้งสองข้าง โดยนิ้วมือทั้งสองข้างต่างทำงานแยกกันอย่างเป็นอิสระ ดังนั้น ต้องอาศัยสมาธิ และสายตาเป็นอย่างมากค่ะ

เท้า

การเล่นเปียโนนอกจากจะใช้มือและนิ้วมือแล้ว ยังต้องอาศัยเท้าการเล่นให้เกิดความไพเราะอีกด้วย เนื่องจากเปียโนจะมีคันเหยียบทั้งหมด 3 อันด้วยกัน ได้แก่

Sustain pedal คือ คันเหยียบซ้าย ใช้เมื่อต้องการลดความดังของเสียงเปียโน ชุดของคีย์บอร์ด สามารถขยับซ้ายขวาได้เล็กน้อย
Soft pedal คือ คันเหยียบที่อยู่ตรงกลาง ใช้เมื่อต้องการลดความดังของเปียโน โดยจะมีผ้ากั้นระหว่างค้อนกับสาย เมื่อกดคีย์ลงไป เสียงจะเบาลง
Sostenuto pedal คือ คันเหยียบด้านขวา ใช้เมื่อต้องการลากเสียงของตัวโน้ตให้ยาวขึ้น หากกดคีย์ 1 ครั้ง และยกนิ้วออกจากคีย์ เสียงก็จะหยุดลง แต่การลากให้เสียงยาวขึ้นนั้น แค่กด 1 ครั้งและปล่อยมือ ไม่ต้องกดคีย์ค้างนะคะ

ตา

ตาก็เป็นส่วนสำคัญที่ต้องทำงานให้ประสานกับมือ ต้องรู้จักการโฟกัส โดยการทำงานของมันคือ เมื่อสายตาอ่านที่ตัวโน้ต ก็จะส่งข้อมูลไปยังสมอง เพื่อให้สมองสั่งการไปยังมือ เพื่อให้กดที่คีย์ไปพร้อมกับสายตาที่อ่านตัวโน้ตนั่นเอง

หู

การเล่นดนตรีจำเป็นที่จะต้องมีประสาทหูหรือมีการได้ยินเสียงที่ดี เพื่อในขณะที่เล่นเปียโน เราจะได้สามารถแยกแยะเสียงของตัวโน้ตได้ รวมไปถึงความหนักเบาของเสียงจากตัวโน้ตแต่ละตัวอีกด้วย

การกะระยะ

เมื่อเด็ก ๆ เริ่มเล่นเปียโน ยังขาดความคล่องในการกดแป้นคีย์ให้ตรง การกะระยะของนิ้วและคีย์บอร์ดยังไม่แม่น แต่เมื่อเล่นไปนาน ๆ ฝึกฝนไปนาน ๆ เด็ก ๆ ก็จะเกิดความคล่องในการกะระยะมากขึ้น

การเล่นเปียโนนอกจากจะเพื่อความบันเทิงแล้ว ยังได้ในเรื่องของ “สมาธิ” ซึ่งหากเด็กมีสมาธิแล้ว ก็จะส่งผลดีต่อการทำกิจกรรมอื่น ๆ อีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการมีสมาธิต่อการเรียน หรือมีสมาธิต่อการแก้ไขปัญหา รวมไปถึงเด็ก ๆ จะมีพัฒนาการด้านร่างกายที่ดี พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ในทุกวันอีกด้วยค่ะ