Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ปัจจัยเสี่ยงกับภาวะสูญเสียการได้ยินของทารกแรกเกิด

หากไม่สังเกตกันให้ดีๆ กับเด็กทารกวัยแรกเกิดนั้นอาจจะไม่สามารถรับรู้ได้ถึงความผิดปกติทางด้านการได้ยินของเขาได้แต่ความเสี่ยงนี้เป็นเรื่องที่ต้องรีบจับสัญญาณให้ได้โดยเร็วเนื่องจากมันอาจจะกระทบไปถึงเรื่องของความบกพร่องด้านการสื่อสาร พัฒนาการทางด้านภาษาและการพูดช้าในเด็กได้เลยทีเดียว

หากพบความผิดปกติในช่วง 3-6 เดือนนั้นจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาสมรรถภาพในด้านการฟังและการพูดให้ใกล้เคียงกับเด็กปกติได้ ดังนั้นเรามารู้จักกับสภาวะและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ลูกเข้าข่ายเด็กที่มีภาวะสูญเสียการได้ยินกันก่อนดีกว่า

10 สัญญาณที่จะช่วยบอกคุณได้ว่าลูกมีปัจจัยเสี่ยงกับภาวะสูญเสียการได้ยินหรือไม่

ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่ควรทราบกันไว้ก่อนว่าในตอนนี้มีการพบว่าปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ส่งผลต่อการได้ยินของลูกนั้นส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับเด็กทารกวัยแรกเกิดไปจนถึง 2 ปี แล้วมีปัจจัยอะไรบ้างมาดูกันเลย

  1. ปัจจัยแรกอาจมาจากคุณพ่อคุณแม่หรือญาติใกล้ชิดที่เป็นโรคประสาทหูพิการและเป็นใบ้ตั้งแต่กำเนิดหรือตั้งแต่วัยเด็ก
  2. ถ้าหากในระหว่างตั้งครรภ์คุณแม่เกิดอาการติดเชื้อหรือพบว่าลูกในครรภ์นั้นมีอาการติดเชื้อก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงทีทำให้ลูกมีภาวะสูญเสียการได้ยินได้
  3. ขณะตั้งครรภ์คุณแม่นั้นได้รับยาหรือสารที่เป็นพิษซึ่งมีผลกระทบต่อลูกในครรภ์และขณะคลอดได้นั่นเอง
  4. เกิดขึ้นได้ในกรณีที่ทารกแรกเกิดมีความผิดปกติของรูปหน้า ศีรษะ รวมทั้งความผอดปกติของรูปร่างใบหูและช่องหู
  5. ทารกแรกเกิดมีอาการเจ็บป่วยที่เข้าขั้นวิกฤตมากกว่า 48 ชั่วโมง
  6. ถ้าหากลูกเกิดมีอาการที่เกี่ยวข้องกับโรคกลุ่มภาวะสูญเสียการได้ยิน เช่น ประสาทหูชั้นในเสีย ทางนำเสียงเสีย ก็อาจจะเป็นสาเหตุและปัจจัยหลักที่ทำให้ลูกต้องเผชิญกับภาวะนี้ได้
  7. ทารกมีภาวะตัวเหลืองจากสารบิลิรูบินในเลือดสูงจนต้องถ่ายเลือด
  8. หลังจากคลอดแล้วตรวจพบการติดเชื้อในทารก เช่น โรคเยื้อหุ้มสมองอักเสบ ก็มีผลทำให้ลูกเสี่ยงกับภาวะสูญเสียการได้ยินได้
  9. เมื่อลูกโตพอที่จะรับการสื่อสารได้แต่กลับดูมีปัญหาทางการได้ยิน ด้านภาษา หรือการพูดรวมทั้งมีพัฒนาการที่ล่าช้ากว่าวัยก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงได้เช่นกัน
  10. หากลูกเป็นโรคหูน้ำหนวกชนิดน้ำใสเกิดซ้ำและยังเป็นเรื้อรังเกิน 3 เดือน

มีความจำเป็นที่คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยไปพบแพทย์และปรึกษาถึงพัฒนาการที่ควรจะเป็นของลูกอยู่เสมอเพราะภาวะนี้อาจจะไม่ได้เกิดทันทีหลังคลอดแต่อาจจะต้องอาศัยดูกันไปเรื่อยๆ เพื่อที่จะได้รู้ทันและช่วยลูกแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องนั่นเอง เพราะหากนานไปแล้วอาจจะแก้ไขและปรับเปลี่ยนอะไรได้ยากขึ้นจนทำให้อาจเป็นผลกระทบกับการใช้ชีวิตของลูกนั่นเอง