Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

เด็กขี้ขโมยเกิดจากอะไร? แก้ไขอย่างไรดี?

เด็กขี้ขโมยเกิดจากอะไร? แก้ไขอย่างไรดี?

คงไม่มีคุณพ่อคุณแม่คนไหนปลื้มใจแน่นอนหากรู้ว่าสิ่งของที่ลูกได้มานั้นมาจากการลักเล็กขโมยน้อย โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่เขายังไม่เข้าใจเรื่องการเป็นเจ้าของ รู้แต่เพียงว่า “อยากได้ของสิ่งนั้น” อย่างเดียว การจะแก้ไขพฤติกรรมของลูกที่ชอบขโมยของไม่ใช่เรื่องยากแต่คงไม่ใช่การใช้วิธีดุด่า หรือตำหนิแน่นอน แล้วจะทำอย่างไร ไปติดตามกันค่ะ

เด็กขี้ขโมย หรือ โรคขี้ขโมย เกิดจากอะไร?

โรคขี้ขโมย หรือ Kleptomania นั้นเป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากความผิดปกติของสมอง สารเซโรโซนินต่ำลง พันธุกรรม และเกิดจากการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมตั้งแต่เล็กๆ

โรคขี้ขโมย ใช่อาการทางจิตไหม?

โรคขี้ขโมยนี้ไม่ถือว่าเป็นอาการทางจิตค่ะ แต่เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติทางสมอง โดยที่ผู้ที่เป็น จะไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้

วิธีรับมือเมื่อลูกเป็นเด็กขี้ขโมย

จากที่กล่าวมาในข้างต้น คงไม่มีคุณพ่อคุณแม่ดีใจหากรู้ว่าลูกเป็นเด็กขี้ขโมย แต่สิ่งที่สำคัญคือ การคิดหาทางแก้ไขหรือปรับพฤติกรรมลูกมากกว่า ทั้งนี้ วิธีการสอนก็สำคัญ เพราะถ้าหากสอนแบบผิดวิธีอาจทำให้ลูกไม่เชื่อฟัง และจะขี้ขโมยมากขึ้น แล้วจะทำอย่างไร ลองมาดูแนวทางดังต่อไปนี้กันค่ะ

อ่านหนังสือนิทานคุณธรรม

เพราะความที่ลูกยังเล็ก ยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องเรียนรู้ ดังนั้น ในบางเหตุการณ์ลูกอาจทำไปโดยที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น เจอเงินตกอยู่ที่พื้น ก็หยิบขึ้นมาใส่กระเป๋าตัวเอง เรื่องนี้เป็นเรื่องของความซื่อสัตย์

คุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูกให้รู้จักเรื่องของความซื่อสัตย์ ว่าถ้าสิ่งไหนที่ไม่ใช่ของเรา เราก็ไม่ควรจะเอามาเป็นของตัวเอง ซึ่งสามารถเลือกที่จะสอนผ่านหนังสือนิทานคุณธรรม ในเรื่องของความซื่อสัตย์ก็ได้ค่ะ

สอนให้รู้จักคุณค่าและรักษาสิ่งของ

จริงอยู่แม้ว่าเด็กเล็กจะยังไม่สามารถรู้ได้ว่าคุณค่าของสิ่งของหรือต้องรักษาสิ่งของนั้นคืออะไร แนะนำอย่างนี้ค่ะว่า ให้คุณพ่อคุณแม่ซื้อของเล่นให้ลูกน้อยลง ตั้งกติกาอะไรบางอย่างในครอบครัวขึ้นมา เพื่อให้รู้สึกว่ากว่าจะได้ของเล่นนั้นมันยาก ด้วยวิธีการนี้จะทำให้ลูกรู้สึกว่าเมื่อใดก็ตามที่เขาได้ของเล่นมาแล้ว เขาต้องรักษาให้ดี

เมื่อเขารู้จักคุณค่าของสิ่งของ เขาจะเรียนรู้ว่าใครที่ต้องการจะยืมของเล่นชิ้นนั้นๆ จะต้องมาขออนุญาตเขาก่อน ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่มีคนหยิบของเล่นไปโดยที่ไม่ขออนุญาตเขาจะเข้าใจได้ทันทีว่าทำแบบนี้จะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

รู้จักเอามาคืนและขอโทษ

ในบางครั้งหรือในช่วงแรกของการปรับพฤติกรรม ลูกอาจจะมีบ้างที่เผลอไปหยิบสิ่งของของคนอื่นโดยที่ไม่ได้ขออนุญาตก่อน ให้คุณพ่อคุณแม่อธิบายให้ลูกเข้าใจ ว่าถ้าเราไม่ได้ตั้งใจจะขโมยมา ให้ลูกนำไปคืนและขอโทษเจ้าของ เพื่อเป็นการแสดงความสำนึกผิด ลูกรู้สึกเสียใจเช่นกัน และสัญญาว่าจะไม่ทำเช่นนี้

สอบถามถึงเหตุผลที่ทำ

เมื่อคุณพ่อคุณแม่รู้ว่าลูกหยิบฉวยสิ่งของของคนอื่นมา โดยที่ทั้งตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ ให้จับเข่าคุยกับลูกด้วยท่าทีและน้ำเสียงที่อ่อนโยน พร้อมกับสอบถามถึงเหตุผลหรือแรงจูงใจว่าเพราะอะไรลูกจึงทำเช่นนี้ ในช่วงแรก เด็กอาจจะยังไม่ได้ตอบคำถามคุณพ่อคุณแม่ในทันที คุณพ่อคุณแม่ก็อย่าเพิ่งโมโหหรือหงุดหงิดนะคะ เพราะจะทำให้เรื่องบานปลายไปกันใหญ่ คุณพ่อคุณแม่ควรใจเย็นๆ ค่อยๆ ตะล่อมถามไปเรื่อยๆ เมื่อลูกมั่นใจว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่ดุด่าเขาแน่นอน เขาจะยอมอธิบายค่ะ ซึ่งการที่คุณพ่อคุณแม่ได้รู้ถึงแรงจูงใจและสาเหตุ ก็ย่อมจะทำให้การแก้ไขง่ายมากขึ้นค่ะ

สิ่งสำคัญ หากคุณพ่อคุณแม่เห็นสิ่งของที่คุณพ่อคุณแม่มั่นใจว่าไม่ได้เป็นคนซื้อให้ลูกและลูกไม่สามารถซื้อเองได้แน่นอน สิ่งแรกที่ควรทำคือ ควบคุมอารมณ์ตัวเองก่อนค่ะ อย่าเพิ่งดุด่าลูก หลังจากนั้นค่อยสอบถามลูกตามวิธีการข้างต้นที่เราได้นำมาแชร์กันไว้ เรื่องของการปลูกฝังหรือการปรับพฤติกรรมลูกในเรื่องใดก็ตาม ล้วนแล้วแต่ใช้ระยะเวลาทั้งสิ้นค่ะ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรดุลูก หรือบังคับให้ลูกพูดหากลูกยังไม่พร้อมนะคะ ที่สำคัญจะวิธีนี้จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ค่ะ