Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

เทคนิคเช็ดตัวลดไข้ให้ลูก ไข้ลดเร็ว คุณแม่สบายใจได้แน่นอน

เทคนิคเช็ดตัวลดไข้ให้ลูก ไข้ลดเร็ว คุณแม่สบายใจได้แน่นอน

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าไข้ตัวร้อนในเด็กเป็นเพียงอาการของโรคหรือเกิดจากการเจ็บป่วยโดยไข้ที่มีจะมีอาการยาวนานแตกต่างกัน และเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่มักจะต้องพบเจอ ซึ่งในบางรายอาจจะไม่มีความรู้มากพอหรือไม่รู้วิธีเช็ดตัวลดไข้จนปล่อยให้ผู้ป่วยหรือลูกน้อยมีไข้สูงและเป็นสาเหตุที่จะทำให้ลูกมีอาการชักได้ ซึ่งอาจจะไม่เป็นผลดีต่อลูกน้อยในอนาคตหากปล่อยให้ลูกชักเพราะจะทำให้มีโอกาสที่เด็กจะชักซ้ำจากการมีไข้สูงได้อีกและจะมีมากกว่าเด็กที่ไม่เคยชักเลยมากถึง 30%

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดไข้ชักในเด็ก

  • ภาวะไข้ชักมักเป็นกรรมพันธุ์ หรือในครอบครัวของเด็กมีประวัติเป็นไข้ชักร้อยละ 15 ในส่วนของเด็กทั่วไปพบบ่อยที่สุดในเด็กที่มีอายุ 6 เดือน – 6 ปี ประมาณร้อยละ 3 – 5
  • ระดับของไข้หรือยิ่งมีอาการไข้ตัวร้อนสูงมากยิ่งมีโอกาสชักได้ โดยใช้ปรอทวัดไข้ทางรักแร้ หรือทางปาก 37.5 องศาเซลเซียสหรือทางทวารหนักสูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียส

อาการไข้ตัวร้อน ไม่จำเป็นว่าร่างกายจะต้องร้อนเหมือนกันทุกส่วน ซึ่งบางครั้งก็พบว่าลูกมีศีรษะร้อนแต่ฝ่าเท้าเย็นถือว่าเป็นเรื่องปกติ คุณพ่อคุณบางท่านจะรู้สึกกังวลเพราะเป็นความเชื่อมาตั้งแต่โบราณว่าลูกอาจจะเจ็บป่วยร้ายแรง

เมื่อลูกมีไข้คุณพ่อคุณแม่ควรทำอย่างไร

  • เมื่อคุณพ่อคุณรู้สึกว่าลูกเริ่มไม่สบายหรือมีอาการตัวร้อน ให้ใช้ปรอทวัดไข้เพื่อให้แน่ใจว่าลูกจะมีความเสี่ยงที่จะมีอาการชักหรือไม่
  • ให้เตรียมการเช็ดตัวลดไข้ผู้ป่วยด้วยวิธีที่ถูกต้อง เพื่อเป็นการระบายความร้อนให้ออกจากร่างกายลูก
  • จัดให้ลูกอยู่ในสถานที่มีอากาศถ่ายเทสะดวกไม่ให้ลมโกรก ถ้าอยู่ในห้องแอร์ควรปิดแอร์ และใส่เสื้อผ้าที่โปร่งสบายไม่ห่มผ้าหนา
  • ให้ยาลดไข้กับลูกตามปริมาณที่แพทย์กำหนดเท่านั้น และหากลูกมีประวัติเคยชักควรให้ยากันชัก ควบคู่กันไปด้วย
  • หลังจากเช็ดตัวลดไข้และให้รับประทานยาลดไข้ไปแล้วเป็นเวลา 15 นาที ให้คุณพ่อคุณแม่ทำการวัดไข้ซ้ำทุก ๆ 4 ชั่วโมง
  • ถ้าเด็กไข้ไม่ลดลง และมีอาการซึม อาเจียน ปัสสาวะน้อยและปัสสาวะมีสีเข้มมาก ควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการไข้
  • สำหรับเด็กที่มีไข้สูงและมีอายุต่ำกว่า 6 ปี ควรจะต้องใส่ใจเรื่องการเช็ดตัวลดไข้ให้ดี เพราะเด็กอาจเกิดอาการชักจากไข้สูงได้

วิธีเช็ดตัวลดไข้เร็ว ๆ

จำไว้ว่าการเช็ดตัวลดไข้ให้ลูกจะต้องใช้เวลาในการเช็ดต่อครั้งนานประมาณ 30 นาที สลับกับการใช้ปรอทวัดไข้ลูกเพื่อให้แน่ใจว่าอุณหภูมิในร่างกายลูกลดลงแล้ว นี่จึงเป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่ทุกบ้านควรจะต้องมีการซื้อปรอทวัดไข้ไว้ใช้เองภายในบ้าน

เตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ในการเช็ดตัวลดไข้ให้ลูก

  • กะละมังสำหรับใส่น้ำเช็ดตัว 1 – 2 ใบ โดยใช้น้ำอุณหภูมิห้องจะดีที่สุด
  • ผ้าขนหนูผืนเล็ก จำนวน 2 – 3 ผืน
  • ผ้าเช็ดตัวผืนใหญ่ 2 ผืน

วิธีเช็ดตัวลดไข้เร็ว ๆ

  • เตรียมสถานที่ให้มีอากาศถ่ายเท และไม่ควรเปิดแอร์
  • ถอดเสื้อผ้าลูกออกให้หมด ให้ใช้ผ้าเช็ดตัวปูรองเพื่อป้องกันน้ำเปียกที่นอน
  • ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำที่เตรียมไว้บิดพอหมาด หรือให้ผ้ายังอมน้ำอยู่เล็กน้อย
  • เช็ดทุกส่วนของร่างกายย้อนขึ้นไปหาหัวใจเป็นการเปิดรูขุมขนให้ความร้อนระบายได้
  • ไล่เช็ดตั้งแต่ปลายแขน ข้อพับ รักแร้ เมื่อรู้สึกว่าผ้าขนหนูอุ่น ๆ แล้วทำการชุบน้ำใหม่อีกครั้ง
  • เช็ดขาย้อนขึ้น ข้อพับ และขาหนีบ เมื่อผ้าเริ่มอุ่นให้ชุบน้ำและทำซ้ำที่เดิมหรือเปลี่ยนข้าง
  • ให้เช็ดแผ่นหลังและท้องไล่ขึ้นไปหาหัวใจ เมื่อผ้าเริ่มอุ่นให้ชุบน้ำแล้วทำซ้ำเช่นเดิม
  • ใช้ผ้าขนหนูอีกผืนชุบน้ำแล้วบิดพอหมาดเช็ดที่หน้า ซอกคอและศีรษะลูกย้อนขึ้น

ในทุกขั้นตอนให้สลับเช็ดไปเรื่อย ๆ และเมื่อรู้สึกว่าผ้าขนหนูอุ่นให้ซักน้ำแล้วบิดพอหมาด ๆ ทุกครั้ง ทำซ้ำแบบนี้ไปจนครบ 30 นาที จากนั้นใช้ผ้าขนหนูผืนใหญ่เช็ดตัวลูกให้แห้ง รอประมาณ 15 นาทีจึงทำการวัดไข้อีกครั้ง หากไข้ยังไม่ลดให้ทำการเช็ดตัวให้ลูกซ้ำและทำจนกว่าจะวัดอุณหภูมิแล้วเป็นปกติ ในกรณีที่ลูกมีไข้สูงก่อนที่จะทำการเช็ดตัวควรจะให้ทานยาแก้ไข้เด็กตามขนาดที่แพทย์แนะนำ หรือตามฉลากยาที่แนะนำปริมาณที่เหมาะสมกับอายุและน้ำหนักลูก
จะเห็นว่าวิธีเช็ดตัวลดไข้เร็ว ๆ จะเป็นการเปิดรูขุมขนของลูกให้ได้มากที่สุด ตรงจุดไหนของร่างกายลูกที่มีความร้อนให้ใช้ผ้าเปียกเช็ดบ่อย ๆ อย่างเช่น รักแร้ เพื่อให้ความร้อนระบายออกมาให้มากที่สุด และสำหรับเด็กที่เคยชักมาแล้วหากมีอาการไข้ตัวร้อนพยายามให้ลูกนอนหงาย เพื่อที่คุณพ่อคุณแม่จะได้สังเกตอาการของลูกได้

ข้อมูลอ้างอิง : PHAYATHAI / SIRIRAJ ONLINE / SIKARIN