Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

5 วิธีสื่อสารกับลูกในครรภ์เพื่อเสริมพัฒนาการที่ดี

5 วิธีสื่อสารกับลูกในครรภ์เพื่อเสริมพัฒนาการที่ดี

สาว ๆ ทั้งหลายที่กำลังเริ่มตั้งครรภ์ หรือเพิ่งได้รับข่าวดีว่าตั้งครรภ์ ก็คงจะมีความรู้สึกดีใจจนบอกไม่ถูกกันนะคะ ซึ่งก็ต้องร่วมดีใจกับคุณแม่ทุก ๆ คน ด้วยค่ะ

ในระยะเดือนที่ 1-3 คุณแม่ก็คงจะต้องรักษาครรภ์เป็นอย่างดี เพราะในช่วงนี้เป็นช่วงของการเริ่มสร้างเซลต่าง ๆ ของลูกในครรภ์ ซึ่งหากคุณแม่ดูแลเรื่องอาหารการกินได้เป็นอย่างดี และบำรุงรักษาร่างกายตามที่แพทย์แนะนำก็จะทำให้ชีวิตของเด็กในครรภ์มีการก่อตัวที่แข็งแรงมากขึ้น ๆ ตามลำดับ

การเข้าสู่เดือนที่ 3 ของลูกในครรภ์เริ่มเป็นช่วงที่ลูกอาจจะมีการตอบสนองได้บ้าง แต่คุณแม่อาจจะไม่ทราบจนกระทั่งเข้าเดือนที่ 4 ค่ะ

ในช่วงเดือนนี้การสร้างเสริมเซลต่าง ๆ ของลูกในครรภ์จะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างการรับรู้การได้ยินก็เริ่มพัฒนามากขึ้นด้วยค่ะ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ดีหากคุณแม่จะเริ่มต้นสื่อสารกับลูกในครรภ์นช่วงเดือนที่ 4 นี้นะคะ และถ้าคุณแม่ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร หรือจะสื่อสารกับลูกในครรภ์อย่างไรดี เราลองมาดู 5 วิธีง่าย ๆ ที่คุณแม่สามารถทำได้ทุกวันและจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคุณแม่กับลูกในครรภ์เลยค่ะ

วิธีที่ 1 ทักทายลูกในยามเช้า

หลังจากคุณแม่ตื่นนอนและ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์เรียบร้อยแล้ว สิ่งหนึ่งที่ควรเริ่มทำเป็นอันดับแรกของทุก ๆ เช้าก็คือ การเดินสูดอากาศดี ๆ หรือ การเดินเพื่อออกกำลังกายเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อให้ร่างกายของคุณแม่แข็งแรง ซึ่งในระหว่างนี้ก็สามารถทักทายกับลูกน้อยในครรภ์เพื่อเป็นการตั้งต้นความสัมพันธ์กันในทุก ๆ วันนะคะ

คุณแม่ควรใช้วิธีการเริ่มด้วยการสัมผัสเบา ๆ ที่ท้อง และ เริ่มสื่อสารด้วยคำพูดง่าย ๆ กับลูกน้อยในครรภ์ เช่น

“อรุณสวัสดิ์ หรือ สวัสดีนะคะลูกแม่
วันนี้อากาศดี แม่กำลังเดินออกกำลังกาย เพื่อให้ลูกได้แข็งแรง แม่อยากให้ลูกแข็งแรงมาก ๆ นะคะ
เช้าวันนี้แม่มีความสุขมาก ๆ ที่ได้อุ้มลูกมาเดินด้วยกันนะคะ”

คำพูดเหล่านี้ ไม่ได้ปรุงแต่ง แต่เป็นคำพูดที่คุณแม่ทุกคนมีความต้องการมากที่สุดเมื่อวันใดที่ลูกน้อยของคุณคลอดออกมา

คุณแม่ก็สามารถทักทายลูกน้อยในครรภ์เช่นนี้ได้ในทุก ๆ เช้าค่ะ

วิธีที่ 2 คุยกับลูกในยามสาย

หลังจากที่คุณแม่พักผ่อนจากช่วงเวลาเช้าแล้ว ก่อนรับประทานอาหารกลางวัน ก็อาจจะหันมาพูดคุยกับลูกในครรภ์ตอนสาย ๆ กันได้อีกนะคะ เพื่อให้ประสาทสัมผัสได้กระตุ้นการรับรู้ของลูกน้อยในครรภ์ในอีกช่วงเวลาหนึ่งค่ะ ในเวลาแบบนี้คุณแม่สามารถใช้วิธีการพูดคุยเกี่ยวกับบรรยากาศในบ้านให้ลูกได้รับรู้ก็ได้นะคะ ถ้าพูดทุกวันลูกน้อยก็จะค่อย ๆ รับรู้ไปทุกในค่ะ เรื่องใกล้ ๆ ตัวเป็นเรื่องที่สำคัญไม่ควรมองข้ามไปนะคะ ใช้เวลาสัก 5-10 นาทีก็เพียงพอในการพูดคุยช่วงเวลาแบบนี้ค่ะ

วิธีที่ 3 กล่อมลูกนอนในยามบ่าย

หลังอาหารกลางวัน เชื่อว่าทั้งคุณแม่และคุณลูกก็อยากที่จะพักผ่อนบ้าง เพื่อให้ร่างกายได้เติมเต็มจากที่อาจจะรู้สึกอ่อนล้าบ้างตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงค่ะ หากคุณแม่ทำได้ก็ใช้วิธีการร้องเพลงเบา ๆ สบาย ๆ เพื่อกล่อมลูกในครรภ์ก่อนที่คุณแม่จะพักผ่อนนะคะ โดยที่คุณแม่อาจจะหาเพลงเพราะ ๆ ฟังเพลิน ๆ ที่จดจำได้มาร้องกล่อมลูกนะคะ หรืออาจจะเปิดเพลงให้ลูกฟังในยามบ่ายพร้อม ๆ กับคุณแม่ก็ได้ค่ะ สื่อสัมพันธ์ก็จะสานต่อได้เป็นอย่างดี เพราะเพลงเป็นส่วนสร้างอารมณ์ให้แจ่มใสได้ในยามบ่ายเช่นนี้นะคะ

วิธีที่ 4 ชวนลูกคุยในยามเย็น

เวลาอาหารเย็นมาถึง ก็ไม่ยากเลยที่คุณแม่จะชวนลูกคุยในระหว่างรับประทานอาหารนะคะ อาจจะใช้วิธีการชวนคุยโดยบอกเล่าถึงอาหารวันนี้ว่ามีอะไรบ้าง ให้ประโยชน์ต่อลูกน้อยอย่างไร เรื่องอาหารก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าคุณแม่ใส่ใจเสมอในทุก ๆ วันเพื่อลูกในครรภ์นะคะ

วิธีที่ 5 ขับกล่อมลูกในยามนอน

ใกล้เวลานอนก็เป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่คุณแม่ห้ามลืมที่จะสื่อสารกับลูกในครรภ์นะคะ คุณแม่อาจจะใช้วิธีการเปิดเพลงเบา ๆ และพูดคุยกับลูกในครรภ์ โดยมีคุณพ่ออยู่ด้วยก็จะยิ่งทำให้ลูกน้อยได้สัมผัสเสียงทั้งของคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งก็จะเป็นการขับกล่อมให้ลูกในครรภ์สดชื่นก่อนนอนได้นะคะ

ทั้ง 5 วิธีนี้คือการใช้เวลามาเป็นส่วนช่วยให้คุณแม่สื่อสารกับลูกในครรภ์ได้โดยที่ไม่รู้สึกอึดอัดใจ เพียงแต่ต้องทำเป็นประจำทุกวัน เพราะพัฒนาการของลูกสามารถเสริมสร้างได้จากการสื่อสารอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ วันของคุณแม่สู่คุณลูกนะคะ
โดยเฉพาะเมื่ออายุครรภ์ของลูกมากขึ้นเป็น 5 เดือน 6 เดือน 7 เดือน 8 เดือน จนกระทั่ง 9 เดือน การรับรู้และพัฒนาการในด้านต่าง ๆ รวมทั้งการสัมผัสความรู้สึกจากคุณแม่สู่ลูกในครรภ์ก็จะยิ่งมีมากขึ้น สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดผลดีต่อทักษะและพัฒนาการของลูกน้อย อีกทั้ง ยังก่อให้เกิด ความรัก ความผูกพัน ความอิ่มเอมใจ ที่ทั้งคุณแม่และคุณลูกรับรู้ได้ตลอดช่วงเวลาที่สื่อสารซึ่งกันและกันนะคะ