Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

แผลฝีเย็บอักเสบ จากการคลอดธรรมชาติ ควรดูแลอย่างไร

แผลฝีเย็บอักเสบ จากการคลอดธรรมชาติ ควรดูแลอย่างไร

หลายคนอาจสงสัยว่า การคลอดธรรมชาติ ต้องมีแผลฝีเย็บด้วยหรือ? แล้วจะดูแผลฝีเย็บอย่างไรไม่ให้ติดเชื้อ และที่สำคัญ ถ้าติดเชื้อหรือเกิดการอักเสบไปแล้วจะจัดการอย่างไรดี ทำเองที่บ้านได้หรือไม่ วันนี้เราจะมาใข้อข้องเรื่อง “แผลฝีเย็บ” กันค่ะ

แผลฝีเย็บ จากการคลอดธรรมชาติ

ก่อนอื่นต้องอธิบายเรื่องแผลฝีเย็บจากการคลอดธรรมชาติกันก่อน “แผลฝีเย็บจากการคลอดธรรมชาติ” เกิดจากการกรีดหรือการตัดผิวหนังบริเวณที่เรียกว่า “ฝีเย็บ” ที่อยู่ระหว่างช่องคลอดไปจนถึงทวารหนัก เพื่อให้ทารกออกมาได้อย่างสะดวก กลับกันหากแพทย์ไม่ได้ทำการกรีดผิวหนัง ก็อาจเสี่ยงที่จะเกิดการฉีกขาดในบริเวณดังกล่าวได้
ทั้งนี้ ไม่ใช่คุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคนที่จะต้องกรีดผิวหนังเพื่อคลอดธรรมชาติ แพทย์จะทำการประเมินก่อนค่ะ ว่า ทารกมีความกว้างของช่วงไหล่ที่ใหญ่กว่าช่องคลอดหรือไม่ หรือทารกมีความผิดปกติอะไรหรือเปล่า หากเป็นเช่นนี้แพทย์ถึงจะทำการตัดฝีเย็บ แต่ถ้าทารกสามารถออกมาได้อย่างสะดวกก็ไม่จำเป็นต้องตัดฝีเย็บค่ะ

การดูแลแผลฝีเย็บ ไม่ให้อักเสบ

ก่อนที่แผลฝีเย็บจะอักเสบ เรามีวิธีดูแลแผลฝีเย็บจากการคลอดธรรมชาติมาฝากค่ะ

ควรทำความสะอาดแผลให้ถูกวิธี

การทำความสะอาดเริ่มจากใช้สำลีชุบน้ำอุ่น เช็ดบริเวณแผลฝีเย็บอย่างเบามือ เช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลัง วันละ 2 ครั้ง ซับแผลให้แห้งเท่าที่สุดเท่าที่จะทำได้ รวมถึงหลังการขับถ่าย ที่สำคัญไม่ควรใช้น้ำฉีดทำความสะอาด เพราะอาจทำให้แผลฉีกขาดได้ สามารถอาบน้ำได้ตามปกติค่ะ แต่ควรระวังเรื่องความแรงของน้ำ

หมั่นเปลี่ยนผ้าอนามัย

เพื่อป้องกันการหมักหมมของเชื้อโรค คุณแม่ไม่ควรใช้ผ้าอนามัยทิ้งไว้หลาย ๆ ชั่วโมง เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้

ประคบเย็น

หลังคลอด แผลฝีเย็บจะมีอาการบวม ซึ่งคุณแม่สามารถประคบด้วยถุงเย็นเพื่อบรรเทาอาการได้

เคลื่อนไหวร่างกายอย่างเหมาะสม

การเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การเดิน ควรระมัดระวังเรื่องแผลเกิดการเสียดสี ดังนั้น ควรเดินแยกขาเล็กน้อยก็จะช่วยป้องกันได้ และการนั่ง ท่าที่ควรเลี่ยงคือ การนั่งขัดสมาธิ เพราะเสี่ยงที่จะทำให้แผลฉีกขาดได้ แต่ควรนั่งในท่าห้อยขาหรือพับเพียบจะดีที่สุด

สัญญาณบ่งบอกว่า แผลฝีเย็บอักเสบ

หลังคลอด ผ่านไป 1 สัปดาห์ แผลฝีเย็บก็จะเริ่มแห้ง และมีอาการดีขึ้น ยกเว้นว่าถ้าผ่านมากว่า 1 สัปดาห์แล้ว คุณแม่มีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดตัว แผลบวม มีหนอง หรือมีก้อนบริเวณปากช่องคลอด รวมถึงปัสสาวะขัด เหล่านี้คือ อาการที่บ่งบอกได้ว่า แผลฝีเย็บเกิดการอักเสบ
การดูแลแผลฝีเย็บอักเสบเป็นสิ่งสำคัญมาก ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อเข้ารับคำแนะนำและการรักษาทันที

วิธีดูแลตัวเองเบื้องต้น เมื่อปวดแผลฝีเย็บ

แผลฝีเย็บถึงแม้จะเป็นแผลเล็ก แต่เมื่อเกิดการอักเสบแล้วคุณแม่ต้องใส่ใจดูแลมากเป็นพิเศษค่ะ เพราะถ้าหากเชื้อลุกลามจะยิ่งทำให้เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลาในการดูแลรักษามากทีเดียว

ประคบเย็น

การประคบเย็นจะช่วยลดอาการบวมและอาการปวดได้ แต่ถ้าต้องการอาบน้ำควรเป็นน้ำอุ่น เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ซึ่งจะอาบน้ำได้ก็ต่อเมื่อคลอดมาแล้วมากกว่า 24 ชั่วโมง

แช่แผลในน้ำอุ่น

คุณแม่สามารถแช่แผลฝีเย็บในน้ำอุ่นได้ค่ะ วันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 10 – 15 นาทีโดยประมาณ เพื่อช่วยให้การไหลเวียนของเลือดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญ ยังช่วยให้แผลหายเร็วยิ่งขึ้นอีกด้วย

เช็ดทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ

การเช็ดควรใช้สำลีชุบน้ำอุ่นเช็ดวันละ 2 ครั้ง จากหน้าไปหลังเสมอ พร้อมกับซับให้แห้งสนิททุกครั้ง

ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์

การปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดเป็นสิ่งจำเป็นค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยยากิน หรือยาทาก็ตาม

เลี่ยงการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงที่แผล

ได้แก่ การเบ่งอุจจาระ การใช้สายฉีดน้ำที่มีความดันแรงเกินไป รวมไปถึงการเช็ดทำความสะอาดแผลฝีเย็บที่รุนแรง

กินอาหารที่มีประโยชน์

โดยเฉพาะอาหารที่มีกากใยสูง ดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอ ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยให้ถ่ายคล่อง ไม่ต้องเบ่ง ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลให้แผลฉีกได้

หมั่นสังเกตความผิดปกติ

หลังจากปฏิบัติตามกันมาหมดทุกข้อแล้ว ให้คุณแม่หมั่นสังเกตความผิดปกติของแผล และของร่างกายด้วยนะคะ เพื่อที่หากมีอะไรผิดปกติ จะได้เข้ารับคำแนะนำจากแพทย์ได้ทันท่วงที

แผลฝีเย็บแม้จะเป็นแผลเล็ก ๆ แต่ก็สามารถทำให้เกิดปัญหากับร่างกายคุณแม่ได้เช่นกัน ดังนั้น การดูแลรักษาก่อนการอักเสบหรือการติดเชื้อจึงเป็นสิ่งจำเป็นและควรทำอย่างยิ่ง เพราะอย่าลืมว่าเรายังมีลูกน้อยที่รอคอยการดูแลจากคุณแม่อีกนะคะ แต่ถ้าคุณแม่ไม่แน่ใจว่าแผลฝีเย็บแห้งดีไหม หรือมีสิ่งผิดปกติอะไรหรือเปล่า แนะนำว่าปรึกษาแพทย์ได้เลยค่ะ เพื่อความสบายใจ

อ้างอิง sanook.com, amarinbabyandkids.com