Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

อาหารของแม่ท้องและแม่หลังคลอดเหมือนหรือต่างกันอย่างไร?

อาหารของแม่ท้องและแม่หลังคลอดเหมือนหรือต่างกันอย่างไร?

ทันที่เริ่มมีการปฏิสนธิ ร่างกายคุณแม่ก็จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงแล้วค่ะ เริ่มจากฮอร์โมนก่อน โดยที่คนรอบข้างจะรู้สึกได้ว่าเราขี้โมโห ขี้หงุดหงิดมากขึ้น สิ่งต่อมาที่คุณแม่ควรใส่ใจมากขึ้นก็คือ “เรื่องอาหารการกิน” เพราะตอนนี้คุณแม่ไม่ได้ตัวคนเดียงแล้วน้า แต่มีลูกน้อยในท้องที่ต้องดูแล จะมากินมะม่วงดอง กระท้อนทรงเครื่อง เยอะๆ แบบเมื่อก่อนคงไม่ดีต่อสุขภาพแม่และลูกเท่าไหร่โนะ (แต่ถ้าอดไม่ไหวจริงๆ ก็ทานแต่พอหอมปากหอมคอแล้วกันนะคะ)

ทีนี้มาในส่วนของอาหารขณะคุณแม่ท้องและอาหารสำหรับคุณแม่หลังคลอดจะมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร แล้ว 2 ช่วงนี้คุณแม่ควรทานอาหารประเภทไหนบ้าง ไปดูกันคะ

Youtube : อาหารของแม่ท้องและแม่หลังคลอดเหมือนหรือต่างกันอย่างไร?

อาหารแม่ท้อง

เพราะลูกในท้องต้องการสารอาหารสำคัญหลายอย่างเพื่อเป็นการช่วยเสริมสร้างอวัยวะและเซลล์ประสาทสำคัญขณะอยู่ในท้องแม่ ว่าแต่สารอาหารสำคัญเหล่านั้นมีอะไรบ้างนะ

โปรตีน

เป็นสารอาหารที่สำคัญที่สุดสำหรับทั้งแม่ท้องและลูกน้อยในท้อง ถ้าหากขาดสารอาหารนี้ไปหรือได้รับแต่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จะส่งผลให้ลูกในท้องมีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติไป รวมไปถึงพัฒนาการทางสมองก็จะไม่สมบูรณ์ แหล่งโปรตีนมีมากในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์นม ไข่ และถั่วเมล็ดแห้ง

ไอโอดีน

หากแม่ไม่ได้รับสารอาหารตัวนี้ พัฒนาการทางสมองของลูกน้อยจะผิดปกติ เป็นโรคเอ๋อ ปัญญาอ่อน หูหนวก หรืออาจเป็นใบ้ และการทำงานของกล้ามเนื้อจะไม่ประสานกัน สารอาหารนี้สามารถพบมากในอาหารทะเลและเกลือเสริมไอโอดีน

ธาตุเหล็ก

ช่วยป้องกันการเป็นโรคโลหิตจางของทั้งแม่และลูก มีมากในตับ เลือด เนื้อสัตว์ และไข่

แคลเซียม

ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของกระดูกและการเจริญเติบโตในอวัยวะต่างๆ ในท้องแม่ พบมากในนมและผลิตภัณฑ์จากนม และปลาตัวเล็กๆ

โฟเลต

ช่วยเสริมสร้างเซลล์สมองลูกน้อย โดยเฉพาะไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ พบมากใน ตับ ผักใบเขียว เช่น กุยช่าย หน่อไม้ฝรั่ง เป็นต้น สารอาหารนี้เป็นอีกหนึ่งตัวป้องกันไม่ให้ลูกมีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่

อาหารแม่หลังคลอด

หลังคลอดร่างกายของคุณแม่ต้องการการฟื้นฟูและยังต้องการอาหารที่ช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนม เรียกได้ว่าคุณแม่มีหน้าที่ที่ต้องดูแลตัวเองและลูกน้อยกันเลยทีเดียว ว่าแต่จะมีอะไรบ้างนั้น ไปดูกันค่ะ

หัวปลี

อุดมไปด้วยแคลเซียม ฟอสฟอรัส และธาตุเหล็ก รวมถึงมีใยอาหารสูง ช่วยในการขับถ่ายและบำรุงน้ำนมได้ดี เมนูหัวปลีอาทิ ยำหัวปลี, แกงเลียง, ต้มข่าไก่ใส่หัวปลี หรือจะเป็นหัวปลีต้มจิ้วกับน้ำพริก เป็นต้น

ขิง

ช่วยขับเหงื่อ ขับลม บรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ บรรเทาอาการหวัด เมนูที่ใช้ขิงเป็นส่วนผสม อาทิ ไก่ผัดขิง, บัวลอยน้ำขิง หรือมันต้มขิง เป็นต้น

ฟักทอง

มีสารอาหารหลายอย่าง อาทิ วิตามินเอ ฟอสฟอรัส เบต้าแคโรทีน และใยอาหาร ช่วยระบบขับถ่ายให้สะดวกมากขึ้น เมนูที่ทำจากฟักทอง อาทิ ฟักทองนึ่ง, แกงเลียงใสฟักทอง, ฟักทองผัดไข่, แกงบวดฟักทอง

ใบกระเพรา

อุดมไปด้วย แคลเซียม ฟอสฟอรัส แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ขับลม และช่วยบำรุงน้ำนมได้ดี เมนูที่เราคุ้นเคยเช่น ผัดกระเพรานั่นเอง แต่คุณแม่อาจไม่ต้องใส่พริกกับกระเทียมก็ได้นะคะ ถ้ากลัวกลิ่นน้ำนมจะเพี้ยนแล้วลูกไม่ยอมทาน

กุยช่าย

หรือบางอาจคุ้นเคยกันดีในชื่อ “ผักไม้กวาด” กุยช่ายมีสารอาหารชั้นดีอย่างฟอสฟอรัส ช่วยบำรุงกระดูก บรรเทาอาการฟกช้ำ ดอกและใบของกุยช่าย ช่วยบำรุงให้น้ำนมไหลมากขึ้น เมนูแนะนำ เช่น ผัดกุยช่ายกับตับ เป็นต้นค่ะ

อาหารของคุณแม่แต่ละช่วงจะมีความแตกต่างกันไปตามความต้องการของร่างกาย ในช่วงที่คุณแม่จะสามารถตามใจปากได้มากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นช่วงที่ยังไม่ท้องโนะ อยากกินอะไรก็กินได้ แต่ถามว่าตอนท้องแล้ว อาหารที่เปลี่ยนไปจะทำให้คุณแม่รู้สึกขาดหรือไม่ เชื่อว่าคุณแม่หลายคนคงเป็นเหมือนโน้ต คือ ไม่ได้รู้สึกว่าขาดอะไร แต่กลับกัน…เราเต็มใจที่จะปรับเปลี่ยนอาหารเพื่อสิ่งมีค่าที่สุดในชีวิตเราต่างหาก