Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ตามรอยออเจ้า กับการทำคลอดโดยหมอตำแยในสมัยโบราณ

จบไปแล้วค่ะ กับละครย้อนยุคสุดฮิตอย่าง “บุพเพสันนิวาส” ที่ใครๆ ก็ติดกันทั้งพระนคร วันนี้จะพาไปตามรอยออเจ้า แม่หญิงการะเกด ในฉากเบ่งท้องคลอดร้องเสียงหลง ที่ทำโดยหมอตำแย (ในต่างประเทศมักเรียกกันว่า Midwife) มาดูกันค่ะว่า วิธีการทำคลอดของหมอตำแยนั้นต่างจากแผนปัจจุบันอย่างไรบ้าง
จริงๆ แล้ววิธีการทำคลอดของหมอตำแยในสมัยก่อนนั้น ก็จะคล้ายๆ กับวิธีการคลอดโดยธรรมชาติในปัจจุบัน ไม่ว่าจะคลอดกับพยาบาลผดุงครรภ์ หรือแพทย์ก็ตาม ซึ่งถ้าทารกในครรภ์ไม่มีปัญหา และคุณแม่มีสุขภาพแข็งแรง การคลอดเช่นนี้ก็มีประโยชน์มาก โดยในยุโรปปัจจุบันต่างหันกันมาคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ และให้ Midwife เป็นคนดูแลตลอดการคลอด และถ้าพูดถึงหมอตำแยแบบไทยๆ อาจจะมีบางขั้นตอนที่ดูน่ากลัวบ้าง ฉะนั้นหมอตำแยที่ประสบการณ์ทำคลอดสำเร็จ มักจะโดนเรียกไปทำคลอดให้พวกเจ้านายอยู่เสมอ แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับบุญกรรมด้วยนะคะ เพราะสมัยก่อนก็ไม่สามารถจะอัลตร้าซาวน์ดูความผิดปกติภายในครรภ์ได้

อุปกรณ์ที่ต้องเตรียมสำหรับการคลอด

  1. ผ้าไว้ผูกกับขื่อบ้าน เพื่อให้คุณแม่ได้ดึงขณะเบ่งคลอด (ห้ามใช้เชือกเด็ดขาด เพราะต้องดึงแรง อาจทำให้ได้รับการบาดเจ็บที่นิ้วมือได้)
  2. น้ำมนต์ เพื่อให้เป็นสิริมงคล เป็นขวัญและกำลังใจ รวมถึงเป็นความเชื่อที่ว่าจะช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายไปได้
  3. ใบจาก … ใช่ค่ะ ใบจากที่ใช้มุงหลังคานี่ละค่ะ ความคมของใบจากสามารถตัดรกจนขาดได้ต้องใช้ใบสดที่แข็งๆ หน่อย
  4. ฟืนไม้สะแก หรือไม้มะขาม เพื่อนำมาใช้เพื่ออยู่ไฟ โดยสามีจะต้องเป็นคนไปตัดด้วยตนเอง มีความเชื่อกันว่า หากสามีตัดฟืนมาได้ท่อนยาว จะได้ลูกชาย แต่ถ้าได้ฟืนท่อนสั้นมา จะได้ลูกสาว
  5. ข้าวสาร หมากพลู ธูป เทียน เงินค่าครู (จริงๆ แล้วก็เป็นค่าจ้างนั่นแหละค่ะ) อย่างละ 3 ชุด กล้วย 1 หวี เพื่อแต่งขันธ์ ใช้ทำพิธีก่อนทำคลอด น่าจะเป็นการเรียกขวัญกำลังใจ และสมาธิของทั้งคนทำคลอดและคุณแม่นั่นเอง
  6. หัวตะไคร้ หรือบางบ้านหรูหน่อยก็ใช้ยาดม ยาหม่อง เตรียมไว้เผื่อคุณแม่จะเป็นลมตอนเบ่งคลอด
  7. เกลือตัวผู้ เลือกดอกที่มีความคม โดยหมอตำแยจะนำมากรีดฝีเย็บให้ขาด จะได้คลอดง่าย
  8. น้ำสะอาด เพื่อใช้ชำระสิ่งสกปรกหลังคลอด จะเห็นว่าละครไทยย้อนยุคส่วนใหญ่มักจะมีคนวิ่งวุ่นต้องไปต้มน้ำเตรียมทำคลอด
  9. ผ้าสะอาด ใช้เช็ดตัว และห่อตัวเด็ก

วิธีการทำคลอดแบบสมัยโบราณ

เมื่อคุณแม่เจ็บท้องพร้อมจะคลอดแล้ว พอหมอตำแยมาถึงพร้อมกับเตรียมอุปกรณ์ข้างต้นเรียบร้อย ก็จะทำการแต่งขันธ์ เพื่อสวดมนต์ บ้างก็สวดบท ”องคุลีมาล” (ตามตำราพุทธประวัติที่ขณะองคุลีมาลออกบวช ได้พบกับหญิงท้องแก่ คลอดยากจึงไปสาธยายบทพระปริตรให้ฟัง จากนั้นก็คลอดได้โดยปลอดภัย) จากนั้นหาคนมาหนุนหลังเพื่อคัดท้องไม่ให้ลูกดิ้น จากนั้นหมอตำแยก็จะเอามือล้วงเข้าไปคลำดูว่าทารกอยู่ในท่าพร้อมคลอดหรือไม่ หากลมเบ่งยังไม่มา อาจต้องกรีดที่ฝีเย็บเพื่อให้คลอดง่ายขึ้น เมื่อแม่เบ่งจนลูกออกมาบนพื้น หมอตำแยจะกระทืบพื้นแรงๆ ให้เด็กร้องออกมา แล้วจึงทำความสะอาดช่องปาก กวาดของเสียพวกน้ำคร่ำออกมา จากนั้นจึงทำพิธีตัดสายสะดือ ส่วนฝีเย็บที่ฉีกขาด ในสมัยโบราณจะไม่มีการเย็บ จึงต้องมีการอยู่ไฟเพื่อให้มดลูกเข้าอู่และเพื่อสุขภาพของคุณแม่รวมถึงกระตุ้นให้น้ำนมไหลนั่นเองค่ะ