ในการตั้งครรภ์นั้นจะเป็นช่วงที่คุณแม่ห่างหายไปจากการเป็นประจำเดือน จนเมื่อคลอดเรียบร้อยแล้วก็จะเริ่มกลับมาเป็นประจำเดือนอีกครั้งหนึ่ง แต่การมีประจำเดือนหลังคลอดนั้นแต่ละคนก็จะแตกต่างกันไปตามสุขภาพร่างกาย จะมีแบบไหนบ้างเรามารู้ให้ทันจะได้ไม่ต้องคอยวิตกกังวลกัน
สารบัญ
คุณแม่จะเริ่มกลับมามีประจำเดือนเมื่อไร
เราจะมาแบ่งออกเป็น 2 กรณี นั่นก็คือ
คุณแม่ที่ไม่ให้นมลูกหรือให้ร่วมกับนมชง
ในกรณีนี้คุณแม่ส่วนใหญ่จะเริ่มกลับมามีประจำเดือนในช่วงประมาณ 6-8 สัปดาห์ หลังจากคลอด แต่ถ้าหากเลยไปจนถึงประมาณ 3 เดือนแล้วประจำเดือนยังไม่มา คุณแม่ควรรีบไปปรึกษาคุณหมอหาสาเหตุเพื่อตรวจร่างกายว่ามีภาวะขาดประจำเดือนหรือมีสุขภาพร่างกายตรงไหนไม่ดีหรือไม่
คุณแม่ที่ให้นมลูก
คุณแม่ที่ให้นมลูกจากเต้านั้นบางคนจะไม่มีประจำเดือนตลอดระยะเวลาที่ให้นมลูก หรือบางคนอาจจะมาล่าช้ามากเนื่องจากโพรแลคติน (Prolactin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนสำหรับผลิตน้ำนมแม่มีฤทธิ์ยับยั้งฮอร์โมนสืบพันธุ์ ส่งผลให้ร่างกายไม่ตกไข่ออกมานั่นเอง
คุณแม่ที่ให้นมลูกน้อยลงอาจกลับมามีประจำเดือนได้เร็วขึ้น และหากยิ่งได้ทานอาหารเสริมร่วมกับอาหารหลักอย่างเพียงพอ ก็มีแนวโน้มที่จะกลับมามีประจำเดือนเร็วกว่า 6 เดือนอีกด้วย
อาการของการมีประจำเดือนหลังคลอด
- มีเลือดออกเป็นจุด พอเริ่มให้นมลูกน้อยลงประจำเดือนก็จะค่อยๆ กลับมาแต่จะมาเป็นจุดๆ ไม่สม่ำเสมอ
- มีลิ่มเลือด เป็นอาการปกติที่ร่างกายจะผลิตลิ่มเลือดออกมา ในบางครั้งอาจจะเป็นจากการฟื้นฟูซ่อมแซมร่างกาย ไม่ใช่ปัญหาสุขภาพแต่อย่างใด แต่ถ้าเกิดมีลิ่มเลือดออกมาเยอะจนเกินปกติก็ไม่น่าไว้ใจคุณแม่ควรรีบไปพบคุณหมอและให้ตรวจอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง
- ตกไข่และตั้งครรภ์ได้ คุณแม่ที่คลอดเรียบร้อยแล้วนั้นอาจจะสามารถตั้งครรภ์ได้อีกแม้จะไม่มีประจำเดือนมาเพราะว่าร่างกายจะตกไข่ออกมาก่อนประจำเดือนมาประมาณ 2 สัปดาห์ หากยังไม่พร้อมที่จะตั้งครรภ์ก็ควรมีการคุมกำเนิดทุกครั้ง
- มีตกขาว เกิดขึ้นเพราะกลไกของร่างกายต้องการขับเลือดและสิ่งตกค้างระหว่างตั้งครรภ์ออกไป คุณแม่ที่เพิ่งคลอดออกจะมีเลือดและลิ่มเลือดออกมามากในช่วงสัปดาห์แรก คุณแม่ที่ไม่ได้ให้นมลูกอาจจะมีน้ำคาวปลาหรือตกขาวออกมาประมาณ 6 สัปดาห์เลยทีเดียว ซึ่งเป็นช่วงที่ประจำเดือนใกล้จะมา โดยอาจจะเป็นประจำเดือนปนมากับน้ำคาวปลาก็ได้
อย่างไรก็ตามคุณแม่ที่คลอดด้วยวิธีธรรมชาติและมีประจำเดือนหลังคลอดทันทีนั้นก็ควรเลี่ยงการใช้ผ้าอนามัยแบบสอดในช่วงแรกของการมีประจำเดือน เพราะร่างกายจะต้องฟื้นฟูอวัยวะภายในร่างกายก่อน การสอดผ้าอนามัยสำหรับซับเลือดประจำเดือนนั้นจะทำให้เกิดการกระทบกระเทือนต่ออวัยวะดังกล่าวได้