Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

คลอดธรรมชาติ รู้ก่อน เตรียมตัวก่อน

คลอดธรรมชาติ รู้ก่อน เตรียมตัวก่อน

เวลาผ่านไป 9 เดือนกับการอุ้มท้อง เชื่อว่าคุณแม่ทุกท่านอยากจะคลอดลูกด้วยวิธีธรรมชาติ เพราะรู้มาว่าจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าการผ่าคลอด แต่การคลอดด้วยวิธีธรรมชาตินี้จะมีข้อมูลอะไรที่คุณแม่ต้องรู้เพื่อการเตรียมตัวคลอดบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ

ลักษณะของการคลอดธรรมชาติ

การคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ คือ การคลอดเองโดยไม่ต้องใช้เครื่องมือผ่าตัด ซึ่งอาจจะมีการใช้ยาเพื่อช่วยทุเลาอาการเจ็บปวดขณะคลอด หรืออาจใช้เครื่องมือทางการแพทย์ เพื่อให้ความช่วยเหลือคุณแม่ในการคลอด เช่น การเย็บแผลตัดขยายปากช่องคลอด

คลอดธรรมชาติดีอย่างไร?

มีผลข้างเคียงน้อย

คุณแม่และลูกจะมีโอกาสที่จะได้รับอันตรายหรือผลข้างเคียงจากการคลอดธรรมชาติน้อย

รู้สึกตัวตลอดเวลาขณะคลอด

คุณแม่จะรู้สึกตัวตลอดเวลา ทำให้ร่างกายฟื้นตัวเร็วหลังคลอด เพราะร่างกายคุณแม่ไม่ต้องเจอกับแผลผ่าตัดใหญ่ที่ต้องอาศัยการดูแลมากเป็นพิเศษ

คุณพ่อของลูกน้อยสามารถอยู่ในห้องคลอดได้

กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคุณแม่ที่กำลังจะคลอดน้อง คุณพ่อของลูกสามารถเข้าไปอยู่ในห้องคลอด เพื่อให้กำลังใจและช่วยคุณแม่รับมือกับความเจ็บปวดของคุณแม่ขณะคลอดได้ค่ะ

คุณแม่เกิดความภูมิใจหลังคลอด

คุณแม่ทุกท่านที่เลือกวิธีคลอดธรรมชาติ จะเกิดความภูมิใจหลังการให้กำเนิดลูกน้อย ซึ่งถ้าตั้งครรภ์ในครั้งต่อไป คุณแม่ส่วนใหญ่ก็จะเลือกคลอดด้วยวิธีธรรมชาติเหมือนครั้งแรก

การคลอดธรรมชาติมีกี่แบบ

การคลอดธรรมชาติแบ่งออกได้เป็น 3 แบบ

  • การคลอดในน้ำ : เป็นวิธีที่เริ่มได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน เนื่องจากการคลอดในน้ำจะช่วยลดความเจ็บปวดในขณะที่คลอดลูกได้มากที่สุด ในน้ำจะมีออกซิเจนที่สามารถส่งไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ได้ดี ทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • การคลอดที่บ้าน : วิธีนี้ต้องมีสูติแพทย์และพยาบาลคอยดูแลอย่างใกล้ชิดขณะคลอด
  • การคลอดที่โรงพยาบาล : ข้อนี้หายห่วงค่ะ เพราะใกล้คุณหมอ ใกล้พยาบาลอยู่แล้ว เครื่องมือก็จะสะดวก สะอาด และปลอดภัย

คลอดธรรมชาติ ต้องเตรียมตัวอย่างไร?

คุณแม่ที่เลือกการคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ ควรมีการเตรียมตัวแต่เนิ่น ๆ ดังนี้

  • เลือกโรงพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการทำคลอดแบบธรรมชาติ
  • ปรึกษาและเตรียมวางแผนการคลอดกับคุณหมอ โดยพูดคุยถึงความต้องการเกี่ยงกับการคลอดงให้ชัดเจน
  • สอบถามคุณหมอว่าจำเป็นต้องใช้ยาหรือเครื่องมือทางการแพทย์ในการช่วยทำคลอดหรือไม่? อะไรบ้าง? เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน
  • โดยส่วนใหญ่ วิธีที่คุณหมอจะนำมาใช้ช่วยเหลือในการคลอด คือ การฉีดยาเข้าทางเส้นเลือดและการใช้เครื่องตรวจอัลตราซาวด์เพื่อดูลูกในครรภ์ จึงส่งผลให้ในระหว่างคลอด คุณแม่จะขยับตัวค่อนข้างลำบาก อาจจะรู้สึกว่าการคลอดแบบนี้เป็นเรื่องยากขึ้น แต่ก็เป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ค่ะ เพราะไม่เช่นนั้นคุณแม่จะรับมือกับความเจ็บปวดไม่ไหวแน่นอน
  • ลดความกังวลระหว่างคลอด ด้วยการฝึกปฏิบัติก่อน
  • การที่คุณแม่หาข้อมูลเรื่องวิธีการคลอดธรรมชาติและนำมาฝึกปฏิบัติด้วยนั้น จะทำให้ระหว่างการคลอดคุณแม่จะสามารถทำให้คล่องแคล่วและรู้วิธีมากขึ้น ทำให้ลดความวิตกกังวลและความเครียดระหว่างคลอดไปได้มาก เพราะหากคุณแม่มีความกังวลจะส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการคลอด เนื่องจากระดับฮอร์โมนความเครียดเพิ่มขึ้นสูงอาจกระทบต่อการบีบรัดตัวของมดลูกได้

ขั้นตอนการคลอดธรรมชาติ

คุณแม่ที่ตั้งใจอยากจะคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ ต้องเผชิญกับระยะของการคลอด 3 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 ปากมดลูกขยายออกและบางลง

ซึ่งแบ่งออกเป็นระยะ ได้แก่

ระยะปากมดลูกเปิดตัวช้า

คุณแม่จะเริ่มรู้สึกถึงการหดรัดตัวของปากมดลูกเบาๆ โดยจะเกิดขึ้นครั้งละประมาณ 30-45 วินาที ทุก ๆ 5-30 นาที บางรายปากมดลูกอาจจะค่อยๆ ขยายออกประมาณ 3-4 เซนติเมตร มีอาการปวดหลังส่วนล่าง ปวดท้องคล้ายมีประจำเดือน หรือปวดตึงๆ บริเวณเชิงกราน หรืออาจมีน้ำสีมพูหรือน้ำปนเลือดออกมาด้วย

ระยะปากมดลูกเปิดตัวเร็ว

ระยะนี้ปากมดลูกจะค่อยๆ หดรัดตัวถี่และรุนแรงมากขึ้น ทำให้คุณแม่มีอาการปวดหลังส่วนล่างมากขึ้น เกิดตะคริวที่ขา รวมถึงคลื่นไส้ บางรายอาจมีน้ำคร่ำแตกออกมา คุณแม่ควรรีบไปโรงพยาบาลโดยด่วน

ระยะเปลี่ยนผ่าน

เป็นช่วงสุดท้ายของระยะที่ 1 ซึ่งอาจใช้เวลาตั้งแต่ 20 นาทีไปจนถึง 2-3 ชั่วโมง สำหรับการคลอดในท้องแรก แต่หากเป็นท้องสองการคลอดมักจะเปลี่ยนเป็นระยะที่ 2 อย่างรวดเร็ว ระยะนี้ปากมดลูกจะขยายออก 8-10 เซนติเมตร และมีการหดรัดตัวถี่ขึ้นเป็นครั้งละ 60-90 วินาที ทุก ๆ 0.5-2 นาที อย่างไรก็ตามระยะนี้หากคุณแม่ต้องการเบ่งคลอดให้แจ้งคุณหมอทันที คุณหมอจะให้อั้นไว้ก่อน เพราะปากมดลูกยังไม่เปิดเต็มที่ หากเบ่งเร็วเกินไปอาจทำให้เหนื่อยล้าและปากช่องคลอดบวมได้

ระยะที่ 2 ระยะเบ่งคลอด

ช่วงนี้คุณแม่จะเวลาประมาณ 5 นาทีไปจนถึง 2-3 ชั่วโมง บางรายหากเป็นท้องแรกอาจใช้เวลานานกว่านี้ คุณหมอจะให้ยาระงับปวด และคอยให้จังหวะการเบ่งเมื่อมดลูกมีการหดรัดตัว เมื่อเด็กคลอดออกมาแล้ว อันดับแรกคุณหมอจะทำความสะอาดทางเดินหายใจของเด็กและตัดสายสะดือ

ระยะที่ 3 ระยะคลอดรก

หลังจากที่คลอดลูกแล้ว คุณหมอจะทำการคลอดรกทันที ในขั้นตอนนี้คุณหมอจะขอให้คุณแม่เบ่งอีกครั้งเพื่อทำการคลอดรกออกมา โดยอาจให้ยากระตุ้นการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูกและลดการมีเลือดออก หรือให้คุณแม่ลองให้นมลูก เพื่อเป็นการกระตุ้นการหดรัดตัวของช่องคลอด พร้อมกับนวดเบาๆ ที่ท้อง เพื่อกระตุ้นให้รกลอกตัวออกมา

5 วิธีช่วยลดความเจ็บปวดระหว่างคลอด

ทำสมาธิ

ขณะคลอดให้คุณแม่หายใจเข้าออกช้า ๆ เป็นจังหวะที่เท่า ๆ กัน พร้อมกับเป่าปากในขณะที่หายใจออก แบบนี้ก็สามารถช่วยได้ค่ะ

ท่าคลอดตามแรงโน้มถ่วงโลก

โดยเฉพาะท่าคลอดแบบแมว หรือ PSU Cat position ที่ใช้แรงโน้มถ่วงโลกช่วยในการเคลื่อนตัวของทารกในครรภ์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคุณหมอเป็นหลักนะคะ

เตรียมร่างกายให้พร้อม

แน่นอนว่าการเตรียมร่างกายของคุณแม่ก่อนคลอดเป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งคุณแม่ควรดูแลตัวเองให้ดี พักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ พร้อมกับออกกำลังกายแค่พอเหมาะเท่านี้คุณแม่ก็จะคลอดได้ง่าย และฟื้นตัวเร็ว

น้ำอุ่น ๆ ช่วยได้

น้ำอุ่นทีว่านี้ไม่ใช่ให้คุณแม่จิบไปคลอดไปนะคะ แต่หมายถึงการเลือกคลอดในน้ำต่างหาก เพราะน้ำอุ่นจะช่วยลดการหดเกร็งของช่องท้อง และเพิ่มการไหลเวียนของโลหิตได้เป็นอย่างดี

สามี

จะให้มาเบ่งแทนคงไม่ได้ แต่ที่ได้คือ กำลังใจมากกว่า ถ้ากำลังใจดี อะไรก็ดีตามค่ะ

การคลอดธรรมชาติเป็นวิธีที่คุณแม่หลาย ๆ คนเลือกใช้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น บางคนไม่สามารถคลอดธรรมชาติได้เนื่องจากหลาย ๆ ปัจจัยด้วยกัน แต่ไม่ว่าจะเป็นการคลอดด้วยวิธีไหนก็ตาม ขออย่างเดียวให้ลูกแข็งแรง ครบ 32 ก็พอแล้วเนอะ