Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

คลอดก่อนกำหนด และ NICU ที่แม่ท้องควรรู้

คลอดก่อนกำหนด และ NICU ที่แม่ท้องควรรู้

ตลอดระยะเวลาที่แม่ตั้งครรภ์ไม่มีใครรู้ได้เลยว่าระหว่างการตั้งครรภ์จะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง จะอุ้มท้องได้ครบ 9 เดือนหรือไม่ ร่างกายคุณแม่จะแข็งแรงดีไหม ลูกน้อยจะครบ 32 ไหม และอีกต่าง ๆ มากมาย การคลอดก่อนกำหนดสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ซึ่งการคลอดก่อนกำหนดจะมีความเกี่ยวเนื่องกับ NICU วันนี้เราจะมีมาทำความรู้จักในเรื่องนี้กันให้มากขึ้นค่ะ

การคลอดก่อนกำหนด คืออะไร?

การคลอดก่อนกำหนด” คือ การที่คุณแม่คลอดก่อนที่อายุครรภ์จะครบตามกำหนด 37 ส่วนตัวผู้เขียนเองคลอดเมื่อ อายุครรภ์ได้ 28 สัปดาห์ เพราะครรภ์เป็นพิษ เรียกได้ว่า พอลูกคลอดออกมาตั้งแต่ในห้องคลอด ได้ยินเสียงลูกร้อง ได้เห็นหน้าลูกแป๊บเดียว พยาบาลต้องเอาเข้าตู้อบแล้วลงไปอยู่ที่ห้อง NICU ทันที

ปัจจัยเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด

หลัก ๆ แล้วประกอบไปด้วย 2 ส่วนด้วยกัน ดังนี้

คุณแม่

  • อายุของคุณแม่ คือ น้อยกว่า 18 ปี หรือมากกว่า 35 ปี ถือว่ามีความเสี่ยงค่ะ
  • หากคุณแม่มีโรคประจำตัวขณะตั้งครรภ์ เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ และความดันโลหิตสูง
  • มีประวัติเคยคลอดก่อนกำหนดมาก่อน
  • มดลูกขยายตัวมากเกินไป เช่น มีครรภ์แฝด หรือมีภาวะน้ำคร่ำที่ผิดปกติ เป็นต้น
  • มดลูกมีความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด เช่น ปากมดลูกสั้น
  • มีการติดเชื้อในร่างกาย เช่น ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ทำให้มีโอกาสเจ็บท้องก่อนกำหนดได้
  • เกิดการอักเสบในช่องคลอด
  • ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือใช้สารเสพติดขณะตั้งครรภ์
  • มีฟันผุและมีการอักเสบของเหงือก

ลูกในครรภ์

  • หากลูกในครรภ์มีความผิดปกติของโครโมโซมหรือมีภาวการณ์ติดเชื้อ จะส่งผลให้คุณแม่มีอาการเจ็บท้องคลอดก่อนกำหนดได้

สัญญาณเตือนการคลอดก่อนกำหนด

  • ปวดหลังช่วงล่าง หรือบริเวณเอวต่อเนื่อง หรือเป็น ๆ หาย ๆ แม้จะพยายามเปลี่ยนท่าทางการนั่ง ยืน เดินแล้วก็ตาม
  • เจ็บท้องต่อเนื่องกัน 4 ครั้ง ใน 20 นาที หรืออาจจะเกิดได้เป็นระยะสั้น ๆ เนื่องมาจากการหดตัวของมดลูก
  • มีมูกหรือมีเลือดออกทางช่องคลอด
  • รับรู้ได้ว่าลูกดิ้นน้อยกว่าปกติ
  • มีอาการตัวบวมและมีความดันโลหิตสูง
  • ตาพร่ามัว มองเห็นแสงเป็นแฉก
  • จุกลิ้นปี่
  • ปวดศีรษะ ซึ่งกินยาแล้วอาการก็ไม่ดีขึ้น

ข้อมูลอ้างอิง bangkokhospital.com

แม่โน้ตมีอาการเด่น ๆ เลยนะคะ คือ ตาพร่ามัว ปวดศีรษะ และจุกที่ลิ้นปี เป็นต่อเนื่องกันในทุก 15 นาที จึงแจ้งคุณหมอ พอวันรุ่งขึ้นต้องผ่าตัดด่วน คลอดก่อนกำหนดค่ะ

NICU คืออะไร?

NICU ย่อมาจาก Neonatal Intensive Care Unit หรือหอผู้ป่วยทารกแรกเกิดระยะวิกฤต เป็นแผนกบำบัดพิเศษทารกแรกเกิด อยู่ภายใต้ศูนย์เวชศาสตร์มารดาและทารกปริกำเนิด ในส่วนนี้จะมีทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์เฉพาะทางจากสาขากุมารเวชศาสตร์ทารกแรกเกิดและปริกำเนิด ร่วมกับสูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขากุมารเวชศาสตร์และทารกในครรภ์มาร่วมวินิจฉัยและทำการรักษากันอย่างใกล้ชิด เพราะทารกที่คลอดก่อนกำหนด อวัยวะภายในต่างๆ ยังทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เช่น เมื่อทานนมเข้าแล้ว แพทย์และพยาบาลต้องคอยกลับมาตรวจเช็คอีกรอบว่า นมในกระเพาะนั้นถูกย่อยไปหมดหรือไม่เป็นต้น
ทารกที่คลอดก่อนกำหนดจำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันอาการที่ทรุดหนักและป้องกันโรคแทรกซ้อน
นอกจากนี้ ทีมแพทย์และพยาบาลของ NICU จะคอยดูอาการของทารกและต้องทำน้ำหนักของทารกให้ขึ้นมาตามเกณฑ์ รวมถึงต้องมั่นใจได้ก่อนว่า เมื่อทารกกลับบ้าน คุณพ่อคุณแม่จะสามารถดูแลลูกน้อยได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการอุ้ม การให้นม การอาบน้ำ การให้ยา ฯลฯ เพื่อให้ทารกได้เจริญเติบโตอย่างแข็งแรงต่อไป

NICU รองรับทารกประเภทไหน?

  • มีภาวะพิการแต่กำเนิด
  • ทารกที่ต้องให้ออกซิเจน ต้องเฝ้าระวัง ต้องให้ยา หรือต้องมีการฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ
  • ทารกที่ต้องมีการใช้กระบวนการหรือเครื่องมือพิเศษ เช่น การถ่ายเลือด
  • เกิดภาวะติดเชื้อ เช่น เริม หนองในเทียม หรือกลุ่มสเตรปโตตอตตัส บี
  • ทารกที่ได้รับยาหรือได้รับการช่วยชีวิตทันทีหลังคลอด
  • ทารกเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • ทารกมีน้ำหนักแรกคลอดต่ำกว่า 2,500 กรัม หรือมากกว่า 4,000 กรัม
  • ทารกที่คลอดก่อนกำหนด หรืออายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์ รวมไปถึงคลอดเมื่ออายุครรภ์มากกว่า 42 สัปดาห์
  • มีปัญหาเรื่องระบบหายใจ

ทีมแพทย์และบุคลากรของ NICU มีใครบ้าง?

หลังจากที่คุณแม่คลอดน้องแล้ว น้องก็อยู่ในห้อง NICU ส่วนคุณแม่เองก็อยู่ที่ห้องพักฟื้นรวม 1 คืนก่อน คุณหมอสั่งงดน้ำ งดอาหาร 24 ชม. ปากแห้งมากเหมือนคนที่อยู่ท่ามกลางทะเลทรายซาฮาร่า เว้นเสียแต่ว่าอากาศไม่ได้ร้อนเท่า
อักวันต่อมา ได้ห้องพิเศษ พอพักฟื้นจนตัวเองรู้สึกว่าเดินไหวแล้ว ก็ขอคุณหมอลงไปเยี่ยมลูกที่ห้อง NICU เด็กทารกจะมีแพทย์ที่คอยดูแล 2 คนต่อทารก 1 คน และก็จะมีทีมพยาบาลที่เปลี่ยนเวรกันไป เรามาดูกันเลยค่ะว่า จริงๆ แล้วมีใครกันอีกบ้าง

  • สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ (Maternal-Fetal Medicine Specialist)
  • กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญสาขาทารกแรกเกิดและปริกำเนิด (Neonatologist) คือ กุมารแพทย์ที่ทำการรักษาทารกแรกเกิดที่มีภาวะผิดปกติ โดยอาจเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอด
  • ทีมพยาบาลที่ผ่านการอบรม และฝึกฝน จนเชี่ยวชาญในเรื่องการดูแลครรภ์ การคลอด รวมไปถึงการดูแลทารกหลังคลอดมาโดยตรง
  • ทีมพยาบาลผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลระหว่างการผ่าคลอด
  • ทีมพยาบาลผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลทารกแรกเกิดในภาวะวิกฤติ
  • ทีมพยาบาลผู้ประสานงานมารดา
  • ทีมพยาบาลผู้ประสานงานด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การอุ้มให้นม หรือการกระตุ้นน้ำนม

วิธีรับมือที่คุณแม่ต้องทำเมื่อลูกอยู่ NICU

บอกได้เลยค่ะ ว่าลูกอยู่โรงพยาบาล แม่อยู่บ้าน วันๆ ไม่ได้คิดอะไรแล้วนอกจากรอเวลาปั๊มนม และคิดถึงแต่ลูก เพราะฉะนั้นถ้าอยากให้ลูกมีน้ำหนักตามเกณฑ์ตามที่ทางโรงพยาบาลกำหนด คือ 1,800 กรัม คุณแม่ต้องปฏิบัติตัวดังนี้ค่ะ

  • มีวินัยในตัวเอง โดยปั๊มนมให้ได้ทุกๆ 2-3 ชม.
  • นำน้ำนมแม่ไปส่งที่ห้อง NICU เพื่อให้พยาบาลนำไปป้อนลูก

*** นมแม่สำคัญต่อทารกที่คลอดก่อนกำหนดมาก หากลูกได้รับน้ำนมแม่ได้เร็วเท่าไหร่ ยิ่งดีต่อทารกมากเท่านั้นค่ะ ขณะนั้นผู้เขียนได้มาแค่ 2 cc. ก็ต้องรีบเอาลงไปให้ลูกแล้วค่ะ

คุณแม่ที่มีร่างกายแข็งแรงมากก่อนการตั้งครรภ์ ใช่ว่าช่วงตั้งครรภ์แล้วจะแข็งแรงเสมอไป ดังนั้น การดูแลตัวเอง ไม่หักโหมทำงานหนัก ยกของหนัก หรือเดินมาก ๆ กินอาหารให้หลากหลาย ครบ 5 หมู่เป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ และที่สำคัญ หากพบอาการไม่ปกติอย่างไร รีบปรึกษาแพทย์ทันทีนะคะ