Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

คุณแม่ครรภ์ 7 เดือน จะต้องระวังอาการอะไร

เข้าสู่เดือนที่ 7 ยิ่งใกล้ความเป็นจริงในการอุ้มลูกเต็มที แต่ในความเป็นจริงนั้นคุณแม่ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ไม่ใช่เสมอไปว่าลูกในครรภ์จะคลอดตามกำหนด เดือนที่ 7 นี้ คุณแม่บางคนอาจจะทราบหรือไม่ทราบเกี่ยวกับอาการที่อาจจะเกิดขึ้นในเดือนที่ 7 ของการตั้งครรภ์ แล้วคุณแม่จะต้องทำอย่างไรที่จะไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้

ทารกในครรภ์นอกจากจะมีขนาดตัวยาวขึ้น น้ำหนักมากขึ้นแล้วยังสามารถรับฟังเสียง ขยับมือ ดูดนิ้ว สะอึก หรือจามได้ ทั้งนี้คุณแม่เองก็จะหายใจเร็วขึ้น เนื่องจากมดลูกที่ขยายจะดันกระบังลมทำให้หายใจได้สั้นๆ จะเคลื่อนไหวช้าลง ทั้งนี้อาการที่คุณแม่พบได้ในการตั้งครรภ์ 7 เดือน จะยังคงมีอาการเช่นเดิมจากเดือนก่อนๆ เช่น ปัสสาวะบ่อย อาการเวียนศีรษะ ขาและเท้าบวม ปวดหลัง ท้องอืดจากลมในกระเพาะ หน้าท้องลาย และนอกจากนั้นยังมีอาการอย่างอื่น ดังนี้

อาการที่เกิดกับคุณแม่ตั้งครรภ์ 7 เดือน

อาการนอนไม่หลับ

คุณแม่อาจจะนอนไม่หลับบ้างในเวลากลางคืน เพราะลูกในครรภ์ไม่ยอมนอน ทำให้คุณแม่รับรู้ถึงการเคลื่อนไหวของลูก และตัวมดลูกเองก็จะบีบตัวเป็นระยะ เมื่อคุณแม่นอนไม่เพียงพอจากการโดนรบกวน อาจจะอ่อนเพลีย และเวียนศีรษะได้

น้ำนม

การสร้างน้ำนมจะเริ่มตั้งแต่เดือนที่ 7 ของอายุครรภ์ เพื่อเตรียมพร้อมหากมีการคลอดก่อนกำหนด โดยจะมีน้ำสีเหลืองใสออกจากหัวนม

อาการภาวะแทรกซ้อน

ภาวะนี้เป็นสัญญาณอันตรายอย่างหนึ่งของคุณแม่และลูกในครรภ์ ซึ่งจะทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด โดยคุณแม่สังเกตอาการว่ามีในลักษณะดังนี้

น้ำเดิน
มีลักษณะน้ำใสๆ คล้ายน้ำปัสสาวะ แต่ไม่ใช่ปัสสาวะ ไหลออกมาทางช่องคลอด โดยปกติจะเกิดขึ้นเมื่อถึงกำหนดคลอด แต่หากมีน้ำเดินก่อนกำหนด ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน หากทิ้งไว้อาจเกิดอันตรายได้ทั้งแม่และลูกในครรภ์

ท้องแข็งตึง และบวบ
โดยปกติจะมีอาการท้องแข็งอยู่บ้าง แต่ไม่บ่อย หากนอนพักแต่ก็ยังมีอาการท้องแข็ง หรืออาการบวม ที่ไม่ใช่แค่ขาและเท้าบวมเพียงอย่างเดียว แต่มีหน้าแข้ง มือ นิ้วบวม ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว ซึ่งมาจากครรภ์เป็นพิษ โดยคนในครอบครัวมีความดันโลหิตสูง เบาหวาน ควรพบแพทย์ด่วน

เลือดออกทางช่องคลอด
เกิดจากภาวะพิษในครรภ์ ซึ่งคุณแม่อาจมีการกระทบกระแทกให้สะเทือนบริเวณท้องอย่างรุนแรง ทำให้มีอาการเลือดออกทางช่องคลอด ปวดท้อง หน้าท้องแข็งตึง จึงควรรีบพบแพทย์โดยด่วน

ลูกดิ้น
โดยปกติจะมีการนับจำนวน ทุกๆ 10 ครั้งที่ลูกดิ้น แต่หากรู้สึกว่าลูกดิ้นครบ 10 ครั้งนานเกิน 2 ชั่วโมง หรือถ้าหากลูกดิ้นน้อย โดยการดิ้น 3 ครั้ง แล้วหลังจากนั้นพบว่าลูกดิ้นน้อยลงกว่าเดิม ให้รีบพบแพทย์ ซึ่งอาจจะมีสายสะดือพันคอ หรือ เด็กอาจจะเริ่มมีการขาดออกซิเจนได้

ป้องกันเหตุการณ์คลอดก่อนกำหนดอย่างไร

  1. คุณแม่ตั้งครรภ์มีภาวะเบาหวาน ความดันสูง ครรภ์แฝด หรือมีภาวะแท้ง ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
  2. พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ทำงานหนัก และระวังท้องไม่ให้โดนกระแทก
  3. ไม่กลั้นปัสสาวะ เพราะอาจจะทำให้กระเพราะปัสสาวะอักเสบ จะทำให้เจ็บคลอดก่อนกำหนด
  4. ไม่สูบบุหรี่ หรือเข้าใกล้คนสูบบุหรี่
  5. มาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง

หากคุณแม่ที่หมั่นดูแลตัวเอง และพบแพทย์เป็นประจำก็จะพ้นจากอาการแทรกซ้อนได้ ทั้งนี้ในเดือนที่ 7 ของอายุครรภ์ คุณแม่ยังต้องใส่ใจเรื่องอาหารที่ดีและมีประโยชน์ ซึ่งคุณแม่กินอาหารได้หลากหลายขึ้น แต่ถ้าหากเริ่มมีอาการของน้ำนมที่ไหลออกมา คุณแม่บางคนไหนมากไหลน้อยไม่เท่ากัน แล้วการเลือกกินอาหารแบบไหนจะช่วยได้บ้าง ทั้งให้ประโยชน์และยังช่วยสร้างน้ำนมได้

อาหารที่ควรกินของคุณแม่ตั้งครรภ์ 7 เดือน

ธาตุเหล็ก

ประเภทตับ เครื่องในสัตว์ ไข่แดง ผักใบเขียว เช่น ผักคะน้า ผักโขม ถั่วชนิดต่างๆ และงา

แคลเซียม

เช่น นม นมถั่วเหลือง ไข่ ปลาตัวเล็ก อาหารทะเล ธัญพืช

วิตามิน

วิตามินจากธรรมชาติ ได้แก่ ผัก ผลไม้ เช่น ส้ม มะนาว มะเขือเทศ ผักสด เป็นต้น

สมุนไพร

เช่น ขิง ตำลึง กะเพรา ดอกแค หัวปลี ขมิ้นขาว ใบแมงลัก กุยช่าย เป็นต้น โดยทำอาหารได้หลายเมนู ยกตัวอย่าง ไก่ผัดขิง แกงหัวปลี ผัดกะเพรา แกงจืด ปลาผัดพริกไทย แกงส้ม พะแนงหมู แกงเลียงเป็นต้น

หากคุณแม่ดูแลลูกในครรภ์ให้ดี และไม่เครียด หรือกังวล ลูกในครรภ์ก็จะเติบโตในครรภ์จนครบกำหนดคลอด และการเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ นอกจากจะช่วยเสริมสร้างร่างกายแก่ลูกแล้วคุณแม่ก็จะได้รับประโยชน์เช่นกัน ฉะนั้นคุณแม่จึงควรที่จะสังเกตอาการทุกอย่างเสมอ ฝึกสมาธิ ผักผ่อนให้เพียงพอ และกินอาหารที่สด สะอาด ปรุงสุก มีคุณค่าทางอาหารที่ดี เพื่อตัวคุณแม่และลูกในครรภ์ค่ะ