Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

วิธีเล่นกับลูกในท้อง เพื่อพัฒนาการลูกที่ดี

วิธีเล่นกับลูกในท้อง เพื่อพัฒนาการลูกที่ดี

พัฒนาการที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ” คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยส่งเสริมและกระตุ้นลูกได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ การเล่นกับลูกในครรภ์นอกจากจะเป็นการช่วยกระตุ้นพัฒนาการของลูกแล้ว ยังเป็นการสร้างสายใยรักระหว่างพ่อ แม่ และลูกอีกด้วยค่ะ ทารกที่ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการอย่างถูกต้องและเหมาะสม หลังคลอด…ทารกจะเป็นเด็กที่มีความฉลาด อารมณ์ดี และเลี้ยงง่ายค่ะ

หลักการสำคัญในการเล่นกับลูกในท้อง

การสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกนั้น สามารถสร้างได้ตั้งแต่ลูกอยู่ในท้องค่ะ ไม่จำเป็นต้องรอให้คลอดออกมาก่อน แต่หลังการสำคัญในการเล่นเพื่อให้ลูกฉลาดและมีพัฒนาการที่ดีจะต้องมีการกระตุ้นเซลล์ประสาทในส่วนต่าง ๆ ของลูกน้อยดังนี้ค่ะ

ประสาทด้านการรับเสียงหรือการได้ยิน

โดยปกติแล้ว ลูกน้อยจะสามารถได้ยินเสียงตั้งแต่อยู่ในท้องคุณเมื่ออายุได้ 8 สัปดาห์ ซึ่งเสียงแรกที่ทารกจะได้ยินคือ เสียงหัวใจเต้นของคุณแม่ และเสียงท้องร้อง และเมื่ออายุครรภ์เข้า 26 สัปดาห์ ประสาทด้านการรับเสียง และการได้ยินจะพัฒนาดีขึ้น ลูกเริ่มได้ยินเสียงจากภายนอกท้องของคุณแม่มากขึ้น

ประสาทด้านการมองเห็นหรือสายตา

ประสาทส่วนนี้ของทารกในครรภ์จะเริ่มทำงานได้เมื่ออายุครรภ์ 20 สัปดาห์ ลูกในท้องสามารถลืมตาได้แม้อยู่ในท้อง นอกจากนี้ลูกน้อยยังสามารถรับรู้ถึงแสงต่าง ๆ ที่อยู่ภายนอกท้องของคุณแม่ได้อีกด้วย

ประสาทด้านการรับรู้ถึงสัมผัสของคุณแม่

เมื่ออายุครรภ์ได้ 18 สัปดาห์ ลูกน้อยมักจะหลับในเวลาที่คุณแม่ตื่น เพราะการที่ร่างกายคุณแม่ขยับนั้นเปรียบเสมือนเปลที่กำลังไกว ทำให้ลูกในท้องรู้สึกง่วง ซึ่งในขณะที่ลูกตื่นลูกยังสามารถรับรู้ได้ถึงสัมผัสจากภายนอกท้องของคุณแม่ได้อีกด้วยค่ะ

พัฒนาการด้านการรับรู้ของลูกในท้อง

  • ไตรมาสแรก : เป็นช่วงที่เซลล์สมองแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว ระบบประสาทของทารกจะถูกสร้างขึ้นเป็นล้านล้านเซลล์ ประสาทสัมผัสของทารกเริ่มพัฒนาขึ้นเช่นกัน
  • ไตรมาสที่สอง : เป็นช่วงที่เซลล์ประสาทจะได้รับการห่อหุ้มด้วยไมอีลิน(Myelin) ซึ่งเป็นฉนวนไฟฟ้าที่ช่วยให้ระบบประสาทผ่านไปได้เร็วขึ้น ทารกเริ่มกระพริบตาได้
  • ไตรมาสที่สาม : เซลล์ประสาทและการส่งสัญญาณในเส้นประสาทสมองของทารกมีพัฒนาการไปอย่างรวดเร็วเทียบเท่ากับ 10% ของน้ำหนักตัว มีการเคลื่อนไหวและมีการตอบสนองได้รวดเร็วมากขึ้น

วิธีเล่นกับลูกในท้อง

ชวนลูกคุยผ่านผนังหน้าท้อง

เมื่อลูกน้อยในครรภ์มีอายุได้ประมาณ 24-26 สัปดาห์ พัฒนาการด้านการได้ยินของลูกจะทำงานได้ดีขึ้น ลูกสามารถได้ยินเสียงแม้อยู่ในครรภ์ ลูกจะเริ่มได้ยินเสียงหัวใจของคุณแม่ จำเสียงของคุณพ่อคุณแม่ได้ เสียงคุณแม่ท้องร้องลูกก็ได้ยินนะคะ^^

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ลองทักทาย ชวนลูกคุย เรียกชื่อเค้าบ่อยๆ และใช้พยายามใช้คำซ้ำ ๆ บ่อย ๆ ในชีวิตประจำวัน อาทิ พ่อกับแม่รักหนูนะ กินข้าวกัน หรืออาบน้ำกัน เป็นต้น คำเหล่านี้จะทำให้ลูกคุ้นเคย เมื่อคลอดแล้ว ลูกจะมีพัฒนาการทางด้านภาษาที่ดีเมื่อโตขึ้น

สื่อสารด้วยการสัมผัสผ่านการลูบท้อง

การลูบท้องเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยกระตุ้นระบบประสาทและสมองในส่วนของการรับรู้ รวมทั้งด้านความรู้สึกของลูกในครรภ์ เพราะเมื่อเวลาที่คุณพ่อคุณแม่ลูบหน้าท้องอย่างช้า ๆ นั้น ผิวของทารกบางส่วนที่สัมผัสกับผนังด้านในหน้าท้องคุณแม่จึงทำให้เค้ารับรู้ได้ ในบางครั้งลูกอาจมีปฏิกิริยาตอบสนองกลับตามมือคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังลูบหน้าท้องอยู่ เหมือนกับว่าเค้ากำลังเล่นกับเราอยู่

วิธีการลูบท้องนั้น ให้คุณพ่อคุณแม่ค่อยๆ ลูบเป็นวงกลมจากบนลงล่างสลับกับล่างขึ้นบน ระหว่างลูบท้องนั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถชวนลูกพูดคุยไปด้วยก็ได้นะคะ (จริง ๆ จะดีมากเลย)

โน้ตจะคุยกับลูกบ่อยค่ะ เช่น เวลาจะไปกินข้างก็จะบอกลูกว่า “เดี๋ยวเราไปกินข้าวกันนะคะ” หรือเวลาจะทำอะไรก็จะชวนลูก จะบอกลูกเสมอ บางครั้งเค้าก็ดิ้นเพื่อบอกเราว่าเค้าฟังอยู่ก็มี

เปิดเพลงให้ลูกฟังเบาๆ

การเปิดเพลงหรือการฮัมเพลงเบา ๆ เป็นการกระตุ้นพัฒนาการด้านการได้ยินที่ดีอีกอย่างหนึ่ง คุณแม่สามารถเอาหูฟังแบบ Headphone มาใกล้ๆ กับผนังหน้าท้องโดยให้ห่างจากผนังท้อง 1 ฟุต หรือคุณแม่จะฟังเองแล้วฮัมตามก็ได้ค่ะ ทำสลับกันไป

เพลงที่เปิดไม่จำเป็นต้องถึงขึ้น Classic แบบ Mozart (ยกเว้นถ้าคุณแม่ชื่นชอบ) เน้นเป็นเพลงที่คุณแม่ชื่นชอบฟังสบายๆ บางครั้งคุณแม่ก็จะรับรู้ได้ว่าลูกดิ้นอีกด้วยนะคะ

ข้อนี้คุณแม่ต้องเอาหูฟังไปแนบที่ท้องคุณแม่นะคะ ลูกในท้องถึงจะได้ยิน แต่ถ้าคุณแม่เอาใส่หูของคุณแม่เอง ลูกจะไม่ได้ยินเสียงเพลง แต่จะรับรู้ได้ถึงความสุขที่คุณแม่ได้ฟังเพลงแทนค่ะ

อ่านหนังสือนิทานให้ฟัง

การอ่านนิทานนอกจากจะเป็นการกระตุ้นเรื่องพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์แล้ว เมื่อเค้าคลอดออกมา การอ่านนิทานยังเป็นการช่วยเสริมสร้างจินตนาการของเค้าได้อย่างดีเยี่ยมทีเดียวค่ะ ในระหว่างที่คุณพ่อคุณแม่อ่านนั้น อาจทำท่าทาง ทำเสียงโดยผ่านผนังหน้าท้อง เพื่อให้เค้าได้รับรู้ถึงเรื่องราวของนิทานได้มากขึ้น

การทำเสียงพากย์ของตัวละครที่ต่างกันจะทำให้ลูกรู้สึกสนุกและตื่นเต้น ที่สำคัญ เป็นการช่วยกระตุ้นระบบประสาทการแยกเสียงของลูกน้อยอีกด้วยค่ะ

ถ้าคุณแม่พากย์เสียงตามตัวละครต่าง ๆ ได้จะเยี่ยมมากเลยค่ะ เพราะลูกน้อยจะชอบฟังเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ แอบกระซิบ…เดี๋ยวนี้เค้ามีหนังสือนิทานเสียงที่ต้องใช้คู่กับปากกา MIS แบบนี้ก็เพิ่มอรรถรสในการเล่าได้ดีทีเดียวนะคะ เพราะมีทั้งเสียงเอฟเฟกต์และเสียงอ่าน เลือกได้หลายแบบเลย

ปิด-เปิดไฟฉายส่องลูกน้อยผ่านผนังท้อง

เมื่อถึงอายุครรภ์ที่ลูกเริ่มดิ้น การเล่นปิด-เปิดไฟฉายใส่ท้อง จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการลูกด้านการมองเห็น ไฟฉายที่คุณแม่ใช้ไม่จำเป็นต้องมีกำลังไฟสูงนะคะ เอาเพียงแค่ส่องให้ลูกได้เห็นถึงความแตกต่างได้ก็พอ

โดยการส่องนั้น คุณแม่เปิดไฟแล้วค่อยๆ เคลื่อนไปจุดอื่น ๆ รอบ ๆ ท้อง หากลูกมีการแตะ หรือดิ้น แสดงว่าลูกรับรู้ว่ามีแสงส่องผ่าน

พัฒนาการที่ดีของลูก คุณพ่อคุณแม่สามารถสร้างให้ลูกได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เพียงแต่อาจจะต้องดูว่าช่วงไหนควรกระตุ้นอย่างไร เท่านี้ก็จะทำให้เด็กมีความฉลาดทั้งปัญญาและอารมณ์แล้วล่ะค่ะ