เรามาต่อกันเลยดีกว่าค่ะคุณแม่ กับพัฒนาการของทารกในครรภ์และการเปลี่ยนแปลงของร่างกายของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 11-20
สารบัญ
- พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 11
- พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 12
- พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 13
- พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 14
- พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 15
- พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 16
- พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 17
- พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 18
- พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 19
- พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 20
พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 11
เพราะลูกน้อยในครรภ์เริ่มมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ สัปดาห์นี้ลูกน้อยในครรภ์จะมีความยาวเพิ่มขึ้นโดยรวมแล้วประมาณ 2 นิ้ว โดยที่ส่วนใหญ่แล้วน้ำหนักและความยาวจะเป็นส่วนของศีรษะของลูกน้อย นอกจากนี้จะเริ่มมองเห็นโครงสร้างของใบหน้าที่เด่นชัดขึ้น สมบูรณ์ยิ่งขึ้น คุณแม่จะสามารถรับการเคลื่อนไหวของลูกน้อยได้จากอาการสะอึกผ่านการอัลตร้าซาวน์นะคะ
พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 12
มาถึงสัปดาห์สุดท้ายของไตรมาสแรกกันแล้วค่ะ ช่วงนี้ลูกน้อยจะมีความยาวโดยรวมประมาณ 3 นิ้ว และจะเริ่มมีพัฒนาการในด้านอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น ได้แก่ ด้านการขับถ่ายของเสียจากไต เสียง รวมถึงต่อมรับรส ที่สำคัญลูกน้อยเริ่มมีการขยับนิ้วมือ กำมือ และแบมือได้แล้วค่ะ
พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 13
สัปดาห์แรกของไตรมาสที่ 2 ช่วงนี้โอกาสที่คุณแม่จะเสี่ยงแท้งนั้นก็ลดน้อยลงแล้วล่ะค่ะ เหลือเพียง 1-5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณแม่ไม่ต้องเครียดหรือกังวลมากไปนะคะ ลูกน้อยในครรภ์ก็จะเริ่มได้ยินเสียงของคุณแม่แล้วค่ะ ส่วนคุณแม่เองมดลูกก็เริ่มขยายใหญ่ขึ้น อาจทำให้คุณแม่รู้สึกอึดอัด บางรายอาจเจ็บที่ชายโครงบ้างบางครั้ง
พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 14
ลูกน้อยในครรภ์เริ่มควบคุมกล้ามเนื้อบนใบหน้าได้บ้างแล้ว เริ่มมีการแสดงออกทางสีหน้า ไม่ว่าจะเป็นการยิ้มหรือการขมวดคิ้ว รวมถึงการขยับ แขน ขา การดูดนิ้วมือ และการขยับเท้า ในขณะที่ผมก็เริ่มงอกออกมาให้เห็น คุณแม่เองก็จะเริ่มกินเก่งขึ้น อาการแพ้ท้องน้อยลง ช่วงนี้หากต้องการออกกำลังกายก็สามารถทำได้นะคะ แต่เบา ๆ อย่างโยคะหรือพิลาทิสนะคะ
พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 15
ลูกน้อยสะอึกได้แล้วนะคะคุณแม่ ซึ่งอาการสะอึกนี้จะเกิดขึ้นในครรภ์ก่อนการที่ลูกจะหายใจได้เสียอีกค่ะ ร่างกายโดยรวมของลูกน้อยเริ่มชัดเจนและสมบูรณ์มากขึ้นอย่างต่อเนื่องค่ะ แต่คุณแม่อาจเป็นหวัดได้ง่าย เพราะภูมิคุ้มกันลดลง ต้องดูแลสุขภาพดี ๆ นะคะ
พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 16
มาสัปดาห์นี้ลูกน้อยในครรภ์จะมีความยาวโดยรวมประมาณ 4-5 นิ้ว กระดูกในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายยังคงมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะกระดูกชิ้นเล็กชิ้นน้อย เปลือกตาและดวงตาของลูกสามารถจับแสงได้แล้วค่ะ เพราะฉะนั้นหากคุณพ่อคุณแม่ต้องการกระตุ้นพัฒนาการด้านการมองเห็นของลูกน้อยสามารถใช้ไฟจากไฟฉาย ส่องผ่านแบบปิด-เปิด ผ่านผนังหน้าท้องคุณแม่ได้แล้วนะคะ
พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 17
ความยาวของลูกน้อยในครรภ์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ค่ะ โดยรวมประมาณ 5 นิ้วครึ่ง เยื่อไมอีลินที่มีลักษณะเหมือนเปลือกหุ้มเส้นใยประสาทจะถูกสร้างขึ้น เป็นส่วนสำคัญมากสำหรับระบบประสาทของทารก คุณแม่คนไหนที่ยังสวมส้นสูงอยู่ วางพักไว้ก่อนค่ะ เปลี่ยนมาใส่ส้นแบนแทนนะคะ
พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 18
พัฒนาการทางด้านร่างกายของลูกน้อยยังคงมีเพิ่มขึ้นอย่างเรื่อย ๆ โดยเฉพาะหู ลูกน้อยจะได้ยินเสียงที่ชัดเจนมากขึ้น ดวงตาก็จะสามารถตรวจจับแสงได้ดียิ่งเช่นกัน คุณแม่ก็จะสามารถรับรู้ว่าลูกน้อยกำลังดิ้นก็ช่วงนี้แหละค่ะ นอกจากนี้ ความบวมก็เริ่มถามหา แต่ก็เป็นเรื่องปกตินะคะ
พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 19
ไขทารกแรกเกิด (vernix caseosa) จะเริ่มมาปกคลุมร่างกาย เพื่อเป็นเกราะป้องกันรอยขีดข่วนให้กับทารก ที่สำคัญ พัฒนาการด้านการได้ยินของลูกน้อยจะยิ่งชัดมากขึ้นไปอีก ดังนั้น คุณพ่อคุณอย่าเผลอดุหรือเผลอสบถออกมานะคะ ลูกได้ยินนะจ๊ะ
พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 20
ช่วงนี้ลูกน้อยเริ่มมีขี้เทา (mecomium) แล้วค่ะ โดยขี้เทานี้เกิดจากการกลืนน้ำคร่ำ ลงไปรวมกับน้ำย่อยและน้ำดี จึงเกิดเป็นก้อนเหนียวข้นสีดำ สัปดาห์นี้ทารกบางคนลืมตาได้แล้วนะคะ ส่วนคุณแม่ช่วงนี้จะเริ่มหลับไม่ค่อยสนิท เพราะยอดมดลูกเคลื่อนมาอยู่ที่ระดับเหนือสะดือจึงทำให้คุณแม่อึดอัดอยู่สักหน่อย
ผ่านไปครึ่งทางแล้วค่ะ เหลืออีกครึ่งทาง เรายังมีข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการของทารกในครรภ์ และการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของคุณมาแชร์กันต่อค่ะ อย่าลืมติดตามกันในตอนต่อไปนะคะ กับพัฒนาการของทารกในครรภ์และร่างกายของคุณแม่แต่ละสัปดาห์มีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง สัปดาห์ที่ 21-30