Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

พัฒนาการของทารกในครรภ์และร่างกายของคุณแม่แต่ละสัปดาห์มีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง สัปดาห์ที่ 31-40

พัฒนาการของทารกในครรภ์และร่างกายของคุณแม่แต่ละสัปดาห์มีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง สัปดาห์ที่ 31-40

ในสัปดาห์ที่ใกล้คลอดอย่างนี้ พัฒนาการของทารกในครรภ์และร่างกายของคุณแม่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างนะ ไปดูกันค่ะ

พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 31

ดวงตาของลูกน้อยสามารถตรวจจับแสงสว่างได้ดีมากขึ้น รวมถึงเรื่องของการโฟกัสก็ทำได้ดีมากขึ้นเช่นกันค่ะ ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ทำงานได้ดี อวัยวะสำคัญต่าง ๆ ในร่างกายยังคงมีการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง ส่วนคุณแม่จะปัสสาวะบ่อย ในบางครั้งจู่ ๆ อาจมีอาการปวดหัวขึ้นมา เป็น ๆ หาย ๆ อาจมีอาการขี้ลืม เนื่องจากการหดตัวของเซลล์สมองแต่จะกลับมาเป็นปกติหลังจากคลอดลูกน้อยแล้วค่ะ

พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 32

ระบบประสาททำงานได้ดีขึ้น มีการพัฒนาที่เพียงพอต่อความสามารถที่จะควบคุมอุณหภูมิร่างกายได้เอง ระบบการย่อยอาหารก็พร้อมที่จะทำงานแล้วเช่นกัน กลับมาดูฝั่งคุณแม่กัน คุณแม่จะเริ่มมีอาการจุกแน่นกลางหน้าอก เนื่องจากถูกมดลูกดันขึ้นไปอยู่ใกล้กับกระบังลม ปวดหลังมากขึ้น ปวดอุ้งเชิงกราน เริ่มเจ็บหน้าอก ในบางครั้งอาจมีน้ำสีเหลืองซึมออกมาเล็กน้อย ซึ่งเป็นส่วนของหัวน้ำนม (Colostrum) ที่เป็นส่วนที่ดีที่สุดของน้ำนมแม่

พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 33

ลูกน้อยสามารถแยกได้แล้วค่ะ ระหว่างกลางวันและกลางคืนโดยสังเกตได้จากโพรงมดลูก รวมถึงสามรถกระพริบตาเมื่อเจอแสงได้แล้ว ช่วงนี้ทารกเริ่มฝันได้แล้วนะคะ ขณะที่คุณแม่จะเริ่มนอนไม่หลับมากขึ้น ไม่สบายตัว ปวดหัว วิงเวียนศีรษะบ่อย ๆ เหนื่อยง่าย หายใจถี่ขึ้น เป็นคนขี้ลืม จนบางครั้งก็ซุ่มซ่าม

พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 34

เล็บมือและเล็บเท้าลูกน้อยเริ่มงอกมากขึ้น ระบบประสาทส่วนกลางเริ่มทำงานได้ดี ปอดของลูกน้อยก็เริ่มพัฒนาใกล้จะสมบูรณ์เต็มที่ ส่วนคุณแม่ยังคงเหนื่อยล้าอย่างต่อเนื่อง ปัสสาวะเล็ดบ่อย บางครั้งรู้สึกได้ว่ายอดมดลูกมีอาการเกร็งและคลายเป็นช่วง ๆ

พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 35

ลูกน้อยจะดิ้นน้อยแต่แรงขึ้นเรื่อย ๆ อวัยวะภายในยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตับและไต เริ่มพร้อมที่จะกำจัดของเสียในร่างกายได้แล้ว มาดูคุณแม่บ้างค่ะ ช่วงนี้มดลูกของคุณแม่จะมีการขยายตัวมากขึ้นไปจนถึงซี่โครง มีเลือดออกตามไรฟัน มีผื่นคันตามตัว บางครั้งมดลูกมีการหดตัว หรือที่เราคุ้นกันดีว่า “เจ็บท้องหลอก

พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 36

ลูกน้อยเริ่มผลัดผมได้แล้วและมีการปรับตำแหน่งของตัวเองโดยเคลื่อนตัวไปยังอุ้งเชิงกรานของคุณแม่ ระบบการย่อยอาหารยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สำหรับคุณแม่ในช่วงนี้จะมีอาการปวดหน่วง ๆ มากขึ้น มีอาการท้องอืดและท้องผูกมากขึ้น บางรายอาจมีเลือดออกเล็กน้อยบริเวณช่องคลอด

พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 37

ตอนนี้ลูกน้อยกลับหัวมาอยู่ที่อุ้งเชิงกรานแล้วค่ะ อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายของทารกเตรียมพร้อมที่จะทำงานแล้วเช่นกัน ในขณะที่คุณแม่จะมีอาการตกขาวมากขึ้น อาจมีมูกเลือดออกมาบริเวณช่องคลอดแสดงว่าลูกน้อยอยากจะลืมตามาดูโลกแล้วค่ะ รวมถึงคุณแม่จะมีอาการเจ็บเตือนบ่อย ๆ

พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 38

สัปดาห์นี้ลูกน้อยจะมีความยาวโดยรวมประมาณ 18-20 นิ้ว อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายเริ่มพัฒนาได้ดีเตรียมพร้อมทำงานแล้ว ยกเว้นปอดที่ยังไม่ค่อยสมบูรณ์เท่าไหร่ เล็บของลูกน้อยงอกยาวเต็มที่แล้ว เซลล์ผิวหนังของลูกน้อยเริ่มหลุดออกมาปนในน้ำคร่ำ ส่วนคุณแม่…อาจมีอาการปวดหัวขั้นรุนแรง ตาพร่า คลื่นไส้ อาเจียน แต่นี้คือ อาการเริ่มต้นของครรภ์เป็นพิษ ควรพบคุณหมอด่วนค่ะ

พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 39

กะโหลกศีรษะของลูกน้อยเริ่มเข้ามาเกยที่กระดูกเชิงกรานแล้ว ใกล้คลอดเต็มที ในขณะที่คุณแม่ยังคงมีอาการเจ็บหลอกที่ถี่ขึ้น เพราะมดลูกจะบีบรัดตัวเป็นช่วง ๆ ทั้งนี้ ให้คุณแม่นับและจดบันทึกจำนวนครั้งและระยะเวลาที่เจ็บนี้ด้วยนะคะ ว่าแต่ละครั้งเจ็บนานกี่นาที เพื่อจะได้แจ้งคุณหมอค่ะ

พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 40

ลูกน้อยอยากออกมาเจอหน้าคุณพ่อคุณแม่เต็มที่แล้วค่ะ คุณพ่อคุณแม่ก็เช่นกันเนอะ ช่วงนี้สมองของลูกน้อยจะมีน้ำหนักประมาณ 340 กรัม ช่วงนี้ถ้าคุณแม่รู้สึกว่ามดลูกเปิดกว้างและเหมือนมีน้ำไหลออกออกมา แสดงว่าถุงน้ำคร่ำแตก ซึ่งเป็นสัญญาณบอกคุณแม่ว่าได้เวลาคลอดแล้วล่ะค่ะ

อุแว๊ ๆ” สิ้นสุดการรอคอย…หลังจากนี้คุณแม่ยิ่งต้องดูแลรักษาร่างกายและจิตใจให้ดีนะคะ เพราะยังมีอีกหนึ่งชีวิตน้อย ๆ ที่รอความรักและการดูแลจากคุณแม่ค่ะ