คุณแม่ลูกอ่อน

ตั้งครรภ์ และ อาหารบำรุงครรภ์ สัปดาห์ที่ 34 ถึง สัปดาห์ที่ 36

คุณแม่ที่ตั้งครรภ์เข้าไตรมาสสุดท้าย ท้องก็ยังคงใหญ่ขึ้น ทำให้ร่างกายของคุณแม่เคลื่อนไหวลำบาก อาจจะมีการเจ็บกระบังลมบ้างในบางจังหวะ คุณแม่ควรทำอย่างไร หรือจะเตรียมข้างของเพื่อไปคลอดตอนไหนดี ไปดูกันเลยค่ะ

อายุครรภ์ 34 สัปดาห์

การเปลี่ยนแปลงของแม่ตั้งครรภ์ 34 สัปดาห์

ช่วงสัปดาห์ที่ 34-36 จะเป็นช่วงที่มีปริมาณน้ำคร่ำมากที่สุด ทารกก็ยังเติบโตต่อไปทำให้ท้องของคุณแม่โตมาก เริ่มมีการเจ็บเตือนเป็นระยะ คุณแม่ควรแยกให้ออกระหว่างเจ็บเตือนและเจ็บจริง ดังนี้ค่ะ

อาการเจ็บเตือน

  • เกิดขึ้นไม่สม่ำเสมอ
  • ระยะห่างเท่าเดิม
  • ความแรงยังคงเหมือนเดิม
  • บรรเทาได้ด้วยยาแก้ปวด
  • ปากมดลูกไม่เปิด

อาการเจ็บจริง

  • เกิดขึ้นสม่ำเสมอ
  • ระยะห่างถี่ขึ้นเรื่อย ๆ
  • ความแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
  • ปวดหลังและท้อง
  • ไม่สามารถบรรเทาได้ด้วยยาแก้ปวด
  • ปากมดลูกเปิดขยาย

พัฒนาการทารกในครรภ์ 34 สัปดาห์

  • สัปดาห์นี้มดลูกของคุณแม่เริ่มลอยมากขึ้นจนเหนือสะดือ จนบางรายสะดือจะจุ่นออกมาอย่างเห็นได้ชัด แต่ท้องจะยังคงขยายมากขึ้นจนถึงอายุครรภ์ 37 สัปดาห์
  • ความยาวของทารกจะอยู่ที่ 45 ซม. หนักประมาณ 2,146 กรัม
  • ปอดและสมองพัฒนาได้เกือบสมบูรณ์
  • มีไขปกคลุมผิวหนังทารกเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาอุณหภูมิในร่างกายให้อบอุ่น
  • หากจำเป็นต้องคลอดก่อนกำหนด โอกาสรอดชีวิตสูง แต่สารเคลือบปอดยังสร้างได้ไม่สมบูรณ์ ทำให้การแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนยังทำได้ไม่ดีนัก ยังต้องใช้กระบวนการออกซิเจนบำบัดอยู่

อาหารบำรุงครรภ์ 34 สัปดาห์

ลูกน้อยเตรียมตัวคลอดแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเขายังอยู่ในท้องการดึงแคลเซียมของคุณแม่ก็ยังจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาหารที่แนะนำในช่วงนี้จึงเน้นไปในเรื่องของแคลเซียมค่ะ อาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม ได้แก่ ดอกขจร คะน้า ใบละพลู และงาทุกสี

อายุครรภ์ 35 สัปดาห์

การเปลี่ยนแปลงของแม่ตั้งครรภ์ 35 สัปดาห์

  • เมื่อเข้าสัปดาห์ที่ 35 คุณแม่อาจพบว่าลูกดิ้นน้อยลง ซึ่ง “การดิ้น” ของลูกเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้แม่รู้ว่าลูกยังมีชีวิตอยู่
  • การนับลูกดิ้น คุณแม่ต้องจับให้ได้ในทุก ๆ 2 ชั่วโมง ลูกควรดิ้น 10 ครั้ง หากลูกดิ้นน้อยกว่า 10 ครั้ง ให้นับต่อในชั่วโมงที่ 3 แต่หากยังดิ้นไม่ถึง 10 ครั้ง คุณแม่ควรไปปรึกษาคุณหมอทันทีนะคะ เพื่อให้คุณหมอได้ตรวจวินิจฉัยว่าลูกยังมีชีวิตอยู่หรือไม่
  • คุณแม่ยังควรกินอาหารน้อย แต่บ่อยอยู่นะคะ เพราะหากกินมากเกินไปในแต่ละมื้อ อาจทำให้คุณแม่อึดอัด และท้องอืดได้

พัฒนาการทารกในครรภ์ 35 สัปดาห์

  • สัปดาห์นี้หรือในช่วง 35 สัปดาห์ขึ้นไป คุณหมอจะมีการนัดถี่ขึ้น เพราะคุณแม่มีโอกาสคลอดได้ทุกเมื่อ โดยความยาวของทารกจะอยู่ที่ 46.2 ซม. หนักประมาณ 2,383 กรัม
  • อวัยวะต่าง ๆ พัฒนาจนเกือบสมบูรณ์มากขึ้น
  • ตับก็พัฒนาได้เต็มที่เช่นกัน ร่างกายทารกเริ่มขับของเสียออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ทารกสามารถหลับตา ลืมตาได้ ดิ้นมากขึ้นโดยเฉพาะช่วงหลังอาหารในทุกมื้อ

อาหารบำรุงครรภ์ 35 สัปดาห์

ควรเน้นอาหารย่อยง่าย จำพวกปลา นมถั่วเหลือง เมนูผักและผลไม้ที่ย่อยง่าย แต่ควรงดอาหารที่ทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอย่างกล้วยหอม ฝรั่ง (ถ้ากินในปริมาณมาก ๆ) หอมแดง และหอมหัวใหญ่ เป็นต้น

อายุครรภ์ 36 สัปดาห์

การเปลี่ยนแปลงของแม่ตั้งครรภ์ 36 สัปดาห์

  • คุณแม่อาจมีอาการแน่นหน้าอก เพราะทารกมีขนาดที่โตขึ้น ทำให้เบียดกระบังลมของคุณแม่
  • ไม่ควรเดินทางไกล หรือหากจำเป็นควรพกสมุดฝากครรภ์ไปด้วย
  • ผิวหนังแห้งตึง โดยเฉพาะผนังหน้าท้อง งดอาบน้ำอุ่น เน้นทาโลชั่นหรือน้ำมันมะพร้าวก็จะช่วยลดความแห้งตึงได้
  • พยายามพักผ่อนให้มาก ไม่ควรเครียดหรือกังวล เพราะความเครียดจะทำให้มดลูกบีบตัว อาจคลอดก่อนกำหนดได้ค่ะ

พัฒนาการทารกในครรภ์ 36 สัปดาห์

  • สัปดาห์นี้เป็นไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ คุณแม่ควรเริ่มเตรียมข้าวของเครื่องใช้เพื่อเตรียมคลอดลูกน้อยให้พร้อมนะคะ
  • ใบหน้าทารก กลมโต แก้มป่อง เนื่องจากกล้ามเนื้อของทารกมีการพัฒนาไปได้อย่างสมบูรณ์สมวัย
  • เส้นผมของทารกในสัปดาห์นี้จะขึ้นมาทั่วศีรษะแล้ว รวมทั้งขนอ่อนทั่วร่างกาย
  • ทั้งนี้ ในสัปดาห์นี้ความยาวของลูกจะอยู่ที่ 47.4 ซม. หนักประมาณ 2,622 กรัม มีการเติบโตของอวัยวะต่าง ๆ ที่ชัดเจน ดังนี้ค่ะ
    • มีไขมันสะสมที่ผิวหนัง เพื่อรักษาอุณหภูมิในร่างกาย
    • ไขที่เคลือบอยู่ที่ผิวหนังนั้น จะเริ่มลดลงและมีมากน้อยต่างกันไปในแต่ละคน
    • ทารกอาจมีการถ่ายขี้เทา ซึ่งอาจเป็นอุจจาระที่มีสีเขียวขี้ม้าเนื่องจากการกลืนน้ำคร่ำเข้าไป
    • ปอดและหัวใจทำงานได้ดีมากขึ้น โดยมีอัตราการเต้นของหัวใจอยู่ที่ 110-140 ครั้ง/นาที เมื่อใช้เครื่องมือทางการแพทย์วัด

อาหารบำรุงครรภ์ 36 สัปดาห์

ถึงแม้ว่าหลาย ๆ อวัยวะ และระบบประสาทในหลาย ๆ ส่วนเริ่มมีการพัฒนาได้อย่างรวดเร็วแล้ว แต่แผ่นกะโหลกศีรษะก็ยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ดังนั้น อาหารที่แนะนำในช่วงนี้ ได้แก่ อาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม วิตามินดี วิตามินซี และโอเมก้า 3 นอกจากนี้ ยังมีจำพวกนม คะน้า ไข่ และอโวคาโดอีกด้วยค่ะ เหล่านี้จะช่วยให้กะโหลกศีรษะพัฒนาได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงแม่ตั้งครรภ์ แต่ละสัปดาห์

[random_posts2 limit=10]

บทความที่เกี่ยวข้อง