Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

โรคหัวใจในเด็กเล็ก เรื่องสำคัญที่พ่อแม่ควรรู้

โรคหัวใจในเด็กเล็ก เรื่องสำคัญที่พ่อแม่ควรรู้

การเป็นคุณพ่อคุณแม่ที่ดีนั้น ควรมีความใส่ใจในการวางแผนครอบครัวกันให้ดี ตั้งแต่ลูกน้อยยังอยู่ในครรภ์ ดูแลในเรื่องสุขภาพของคุณแม่ให้ดี ดูแลเรื่องโภชนาการอาหารให้ครบถ้วน รวมถึงอะไรก็ตามที่จะส่งผลดีต่อลูกน้อยในครรภ์ให้มีการเจริญเติบโตที่ดี เตรียมความพร้อมทางด้านอารมณ์, ด้านร่างกาย และด้านจิตใจของคุณแม่ ให้มีครรภ์ที่สมดุลมากที่สุด เพื่อลูกน้อยมีพัฒนาการที่ดี และเติบโตได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด เพื่อเลี่ยงปัญหาโรคต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งวันนี้เราจะพาทุกคนมารู้จักกับโรคหัวใจในเด็กเล็ก ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ และยังไม่มีวิธีป้องกันได้แบบ 100% เรามาดูกันเพื่อที่เราจะได้มีความรู้เบื้องต้นในการดูแลลูกน้อย

ทำไมเด็กเล็กถึงมีโอกาสเป็นโรคหัวใจ

เป็นโรคหัวใจพิการตั้งแต่กำเนิด

เกิดจาก ความผิดปกติทางพันธุกรรม

หรือการถ่ายทอดยีนต่อจากคุณพ่อคุณแม่ หรือในกรณีที่เด็กมีภาวะดาวน์ซินโดรม มักจะมีภาวะหัวใจพิการเกิดขึ้นด้วย

การได้รับยา

หรือสารเคมีบางอย่างในช่วงก่อน หรือระหว่างตั้งครรภ์ เพราะยาบางชนิดมีผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์

แม่ป่วนระหว่างตั้งครรภ์

การที่คุณแม่อาจจะมีอาการเจ็บป่วยระหว่างตั้งครรภ์, การติดเชื้อหัดเยอรมันในช่วงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ หรือในกรณีที่คุณแม่มีภาวะเป็นเบาหวาน ก็จะส่งผลต่อลูกน้อยได้อีกด้วย

การที่คุณแม่ถูกรังสี X-Ray

ในช่วง 3เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ก็มีผลต่อลูกน้อยในครรภ์เช่นกัน

การสูดดมกลิ่นบุหรี่

โดยเฉพาะในช่วงตั้งครรภ์, การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการใช้สารเสพติดในขณะที่ตั้งครรภ์ ก็จะส่งผลต่อโรคหัวใจในเด็กเล็ก และอวัยวะอื่นๆของลูกน้อยในครรภ์ได้

ตั้งครรภ์เมื่ออายุเกิน 35 ปี

การที่คุณแม่มีการตั้งครรภ์ในช่วงอายุเกิน35ปีขึ้นไป อาจจะมีภาวะครรภ์ที่ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเจริญเติบโตของลูกน้อย ทำให้มีโอกาสเกิดโรคต่างๆได้

โรคหัวใจที่เกิดขึ้นภายหลังจาก สาเหตุอื่นๆ

  • โรคคาวาซากิ
  • โรคไข้รูมาติก
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
  • การเต้นของหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • โรคหัวใจจากการขาดวิตามินบี1 (เหน็บชา)

สัญญาณเตือนที่อาจจะบ่งบอกได้ว่า ลูกน้อยหัวใจผิดปกติ

  • สังเกตดูอาการ เมื่อลูกน้อยดูดนมได้ช้า ใช้เวลานาน แล้วเหนื่อยง่ายกว่าปกติ
  • ลูกน้อยมีอาการหายใจหอบ หรือหายใจเร็วกว่าปกติ
  • ลูกน้อยมีขนาดตัวเล็กกว่าเกณฑ์ น้ำหนักไม่ขึ้น และการพัฒนาการทางกล้ามเนื้อช้า
  • สังเกตดูที่ริมฝีปาก, ปลายมือ, ปลายเท้าของลูกน้อยมีภาวะเขียว หรือเล็บมีสีม่วงคล้ำ
  • เป็นลมบ่อย และมีเสียงหัวใจเต้นผิดปกติ ควรรีบเข้าพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อตรวจสอบ

เราควรดูแลลูกน้อยอย่างไรให้ไกลจากโรคหัวใจในเด็กเล็ก

ดูแลตั้งแต่อยู่ในครรภ์

เพื่อป้องกันลูกน้อยให้ห่างไกลจากโรคหัวใจในเด็กเล็กตั้งแต่ในครรภ์ เราควรดูแลช่วงอายุครรภ์ 1-3เดือนแรกให้ดี เลี่ยงสารเคมีทุกชนิด, ยารักษาโรคที่อาจจะส่งผลต่อลูกน้อย, ทานอาหารที่มีแร่ธาตุ วิตามิน และโปรตีนที่ครบถ้วน รวมถึงกรดโฟลิก ที่มีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์

หมั่นสังเกตลูกน้อยอยู่เสมอ

คุณพ่อคุณแม่ที่ใกล้ชิดลูกน้อย ควรสังเกตอาการของลูกอยู่เสมอ ว่ามีการหายใจเป็นอย่างไร, การเจริญเติบโตตรงตามเกณฑ์หรือไม่, สีของผิวพรรณลูกน้อยเป็นอย่างไร เพื่อที่เราจะได้รักษาลูกน้อยได้อย่างทันท่วงที

การดูแลรักษากับแพทย์เฉพาะทาง ตั้งแต่เนิ่นๆ

หากลูกน้อยมีลักษณะอาการที่ใกล้เคียงกับโรคหัวใจ เราควรรีบพาไปพบแพทย์ เพื่อที่แพทย์จะได้ดูแลรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะแพทย์มีวิธีรักษาตามอาการ บางคนก็รักษาด้วยยา, บางคนก็รักษาด้วยอุปกรณ์พิเศษ หรือ Balloon เพื่อปิดรูรั่วของหัวใจ และบางคนอาจจะต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด นอกจากนี้ยังมีการรักษาในรูปแบบใหม่ โดยไม่ต้องผ่าตัด ด้วยการรักษาปิดรูรั่วแบบ PDA (Patent Ductus Arteriosus) ที่เป็นขั้นตอนที่ค่อนข้างปลอดภัย และง่ายกว่าวิธีแบบเดิม

คงไม่มีใครอยากให้ลูกน้อยเกิดมามีปัญหาเรื่องสุขภาพหรือโรคหัวใจในเด็กเล็ก คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตอาการของลูกน้อยมากเป็นพิเศษ ตั้งแต่การออกกำลังกาย, การทานอาหาร, และป้องกันโรคภัยที่อาจจะเกิดขึ้นกับเค้า เพื่อไม่ให้เค้าติดเชื้อ เพราะจะส่งผลให้เค้านั้นมีปัญหาโรคเรื้อรังมากกว่าเด็กทั่วไป ทั้งนี้เพื่อให้ลูกน้อยมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มดูแลครรภ์ตั้งแต่ช่วง 3 เดือนแรก และตลอดระยะเวลาในการตั้งครรภ์ให้ดี เพื่อให้ลูกน้อยมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง มีการเจริญเติบโตที่ดีนั่นเอง