Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

เด็กจ้ำม่ำ เสี่ยงเป็นโรคไขมันพอกตับ และภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ

เด็กจ้ำม่ำ เสี่ยงเป็นโรคไขมันพอกตับ และภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ

ต้องบอกว่าหลายคนเวลาที่เห็นเด็กอ้วนจ้ำม่ำก็จะเกิดความเอ็นดูในความน่ารัก แต่…รู้หรือไม่คะว่า “ความจ้ำม่ำหรือความอ้วน” นั้น แท้จริงแล้วส่งผลเสียต่อสุขภาพ เสี่ยงเป็นโรคไขมันพอกตับ และโรคอื่น ๆ อีกมากมาย

เด็กจ้ำม่ำหรือเด็กอ้วนที่เพิ่มปริมาณมากขึ้น

ปัจจุบันเด็กตัวอ้วนมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น เนื่องมาจากการกินอาหารประเภททอด อาหารฟาสต์ฟู้ด ขนมขบเคี้ยว ของหวาน รวมไปถึงเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลมาก น้ำอัดลม แต่เผาผลาญออกไปได้น้อย จึงทำให้เกิดไขมันสะสมในร่างกาย โรคอ้วนจึงถามหา

โรคที่เกิดกับเด็กอ้วน

โรคที่สามารถเกิดได้ในเด็กอ้วน มีดังนี้

  • ความดันโลหิตสูง
  • โรคหลอดเลือดหัวใจ
  • โรคเบาหวาน
  • โรคไขมันในหลอดเลือดสูงอาจทำให้หยุดหายใจขณะหลับ และ
  • โรคไขมันพอกตับ โดยมีความเสี่ยงสูงถึง 22.5-44%

โรคไขมันพอกตับในเด็ก

  • เด็กที่อ้วนเมื่อเป็นโรคนี้จะส่งผลให้ตับมีโครงสร้างที่ผิดปกติ อาจถึงขั้นทำให้ตับอักเสบหรือตับแข็งได้ เพราะมีพังผืดในตับมากเกินไป
  • จากสถิติ เด็กที่อ้วนสามารถมีอาการตับแข็งได้ตั้งแต่อายุเพียง 8 เท่านั้น
  • เด็กที่อ้วน เมื่อถึงช่วงวัยรุ่นจะมีโอกาสเป็นไขมันพอกตับได้มากกว่าวัยรุ่นที่ไม่อ้วนได้ถึง 20 เท่า

อาการโรคไขมันพอกตับในเด็ก

ไม่แสดงออกอย่างเด่นชัดมากนัก อาจจะแค่มีอาการอ่อนเพลีย ปวดท้อง หากคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้ใส่ใจลูกมากนัก อาจไม่ได้คิดว่าลูกจะมีโอกาสเป็นโรคนี้

โรคไขมันพอกตับกับการตรวจวินิจฉัยของแพทย์

การตรวจวินิจฉัยที่ง่ายที่สุดคือ

  • การอัลตร้าซาวน์ตับ
  • การตรวจเลือด เพื่อดูค่าการทำงานของตับ
  • การตรวจด้วย Fibro Scan เป็นการตรวจวัดความแข็งของตับ ประเมินว่ามีพังผืดในตับมากผิดปกติหรือเปล่า ซึ่งสามารถตรวจได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ

การตรวจด้วยไฟโบรสแกน (Fibro Scan) เหมาะกับเด็กกลุ่มไหน

  • เด็กที่มีภาวะอ้วน ลงพุง หรือมีน้ำหนักเกิน
  • เด็กที่ตรวจเลือดแล้วพบว่ามีค่าการทำงานของตับ ALT มากกว่า 22เพราะมีโอกาสเป็นตับแข็ง
  • มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และ ซี
  • ทานยา หรือ ทานสมุนไพรติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ๆ

ข้อดีของการตรวจด้วย ไฟโบรสแกน (Fibro Scan)

  • ตรวจง่าย ได้ผลเร็ว
  • ลูกไม่ได้รับความเจ็บปวด
  • สามารถตรวจวินิจฉัยภาวะตับแข็งในระยะแรกเริ่มได้
  • สามารถติดตามผล และประเมินผลความรุนแรงของตับแข็ง เพื่อช่วยในการวางแผนการรักษาในขั้นต่อไปได้
  • สามารถใช้แทนการเจาะเนื้อตับในผู้ป่วยที่มีข้อห้าม หรือปฏิเสธการเจาะตับได้
  • สามารถตรวจปริมาณไขมันสะสมในตับสำหรับผู้ที่เป็นโรคไขมันเกาะตับได้ในคราวเดียว

การป้องกันการเกิดโรคไขมันพอกตับในเด็ก

การป้องกันที่ดีที่สุด เริ่มได้จากครอบครัวค่ะ คือ การปรับพฤติกรรมเด็ก โดย…

  1. การทานอาหารยังเน้นให้ทานใน 3 มื้อหลักอยู่ ไม่ต้องงด ไม่ต้องถึงขั้นอดอาหารลูกนะคะ เพียงแต่มื้อเย็น…ให้ทานในปริมาณที่น้อยลงกว่าปกติ
  2. งดเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลในปริมาณมาก อาทิ นมเปรี้ยว น้ำอัดลม น้ำผลไม้บรรจุกล่อง
  3. งดอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว เช่น ไขมันจากสัตว์ เนย กะทิ รวมไปถึงอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มและน้ำมันมะพร้าว
  4. งดขนมกรุบกรอบ ขนมขบเคี้ยว ระหว่างมื้ออาหาร ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจหาเป็นผลไม้แทน
  5. ชวนลูกทำกิจกรรมนอกบ้าน อาทิ เดินเล่นหรือวิ่งเล่นรอบบ้าน ชวนกันขุดดิน ลงดินปลูกต้นไม้ รดน้ำต้นไม้ เป็นต้น เพื่อเป็นการออกกำลังกาย เผาผลาญพลังงานจากอาหารที่ทานเข้าไป วันละ 30-60 นาที หรืออาจให้ลูกช่วยงานบ้านก็ได้ค่ะ เช่น กวาดบ้าน ถูบ้าน ล้างจาน แต่…หากยังเป็นเด็กเล็ก ๆ คุณพ่อคุณแม่ควรอยู่ใกล้ๆ เค้า เพื่อแนะนำเค้าด้วยนะคะ
  6. ลดและค่อยๆ เปลี่ยนพฤติกรรมของลูกโดยการไม่ให้เด็กนั่งอยู่กับที่นาน ๆ โดยไม่มีการเดินหรือวิ่ง หรือเคลื่อนย้ายไปไหนเลย เช่น การนั่งดูทีวี การนั่งเล่นเกม เป็นต้น โดยในหนึ่งวันคุณพ่อคุณแม่ควรอนุญาตให้ลูกนั่งทีวีหรือเล่นเกมได้ไม่เกิน 2 ชม. นะคะ

ปัจจัยที่ทำให้ลูกเป็นเด็กจ้ำม่ำ น้ำหนักเยอะ

คุณแม่เกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ ซึ่งมีผลต่อน้ำหนักตัวลูก

ซึ่งมีปัจจัยดังนี้

  • ภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์
  • เป็นเบาหวานประเภทที่ 2 (Type 2 Diabetes)
  • คุณแม่มีภาวะอ้วนขณะตั้งครรภ์
  • น้ำหนักตัวขณะตั้งครรภ์มากเกินเกณฑ์

นมแม่ช่วยลดความเสี่ยงของโรคเบาหวานได้ (ฝั่งคุณแม่)

โดยมีงานวิจัยระบุว่า การที่คุณแม่ให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียว จะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ของทางฝั่งคุณแม่ได้ด้วย

ลูกที่ไม่ได้กินนมแม่ เพิ่มโอกาสการเกิดโรคอ้วน

ทารกที่ดื่มนมจากขวดจะไม่สามารถควบคุมปริมาณนมที่ต้องการให้อยู่ในเกณฑ์พอดีได้ ด้วยเหตุผลดังนี้

  • ทารกไม่สามารถดูดเต้าเปล่าได้ (non – nutritive sucking) จากอกแม่ได้
  • นมไหลจากขวดเร็วกว่านมแม่ และใช้แรงดูดน้อยกว่านมแม่
  • นมจากขวดจะไหลออกมา ไม่ว่าจะมีแรงดูดหรือไม่ก็ตาม
  • ทารกจะกินนมไปเรื่อย ๆ จนกว่านมจะหมด แม้ว่าเขาจะอิ่มแล้วก็ตาม

ฝึกให้ลูกกินอย่างพอดี

เมื่อเข้าวัย 6 เดือน ซึ่งเป็นวัยที่ต้องให้อาหารเสริม คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มฝึกลูกให้กินอย่างถูกวิธี และกินอย่างพอดีได้ตั้งแต่วัยนี้ค่ะ ด้วยการ…

  • เป็นต้นแบบที่ดีให้ลูก โดยกินแต่อาหารที่มีประโยชน์
  • กินอาหารพร้อมหน้าพร้อมตากัน เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีในการกินข้าวร่วมกัน
  • เลือกโปรตีนที่ดีแต่ไม่อ้วน เช่น ไก่ ปลา เป็ด รวมถึงใส่ผักต่าง ๆ ลงไปด้วยเพื่อเป็นการเพิ่มสีสันและคุณค่าทางโภชนาการ

เรื่องการกินผัก กินผลไม้ หรือกินอาหารที่มีประโยชน์ ควรทำให้เป็นกิจวัตรเลยค่ะ เพราะลูกจะทำตามที่พ่อแม่ทำ มากกว่าคำที่พ่อแม่สอน

  • หลีกเลี่ยงหรืองดได้เลยยิ่งดี กับอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น น้ำอัดลม น้ำหวาน และลูกอม

หลายคนบอกชีวิตจริง บางครั้งก็ต่างกับทฤษฎี จริงค่ะ แม่โน้ตก็เชื่ออย่างนั้น ถามว่าเด็กก็มีบ้างอารมณ์แบบอยากกินขนมหวาน ๆ แม่โน้ตเองก็ให้กินค่ะ แต่จะบอกลูกก่อนว่า “กินเพื่อรู้” และต้องแปรงฟันหลังกินขนมหรือของหวานเสมอ เพราะเด็กยังไงก็คือเด็ก ถ้าเราห้ามเขาได้ ต่อหน้าเขาจะไม่ทำ แต่ลับหลัง เราก็ไม่อาจรู้ได้ โชคดีที่น้องมินไม่ชอบน้ำอัดลม และลูกอม เพราะแม่โน้ตไม่กินค่ะ

เริ่มเห็นภาพกันแล้วใช่ไหมคะ ว่าเด็กจ้ำม่ำหรือเด็กอ้วนนั้น แท้จริงแล้วไม่ใช่เรื่องดี เรามารักลูกให้ถูกทางกันเสียแต่วันนี้นะคะ เพื่อลูกจะได้มีสุขภาพที่แข็งแรง ร่าเริง แจ่มใส พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอค่ะ

อ้างอิง โรงพยาบาลสมิติเวช