Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

เมื่อโรคซึมเศร้าถามหา…คุณแม่จะรับมือกับโรคนี้อย่างไรบ้าง

อยู่ดีๆ ก็อยากร้องไห้…ไม่รู้ว่าเป็นอะไร?” เพลงของตอง ภัครมัย สมัยยุค 90s ลอยมาเชียว หากคุณแม่ท่านไหนที่กำลังประสบปัญหา ไม่รู้ว่าอาการที่ตัวเองเป็นอยู่นั้นก่อให้เกิดความรำคาญใจ ไม่มีความสุขแบบหาสาเหตุไม่ได้ ลองมาทำความรู้จักกับ “โรคซึมเศร้า” ดูนะคะว่าเราเข้าข่ายที่จะเป็นหรือไม่ และถ้าเป็นแล้วจะมีวิธีรับมือหรือรักษาโรคนี้กันได้อย่างไรบ้างค่ะ

โรคซึมเศร้าเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ในช่วงระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอด ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย จนคนรอบข้างเห็นการเปลี่ยนไปของบุคลิกคุณแม่ได้ชัด บางครั้งก็ละเลยความรู้สึกของคุณแม่ไป (โดยเฉพาะคุณสามีว่าที่คุณพ่อทั้งหลาย) ไม่เข้าใจภาวะโรคนี้อย่างแท้จริง จนเป็นปัญหาครอบครัวเรื้อรังตามมา

อาการที่เข้าข่ายว่าจะเป็นโรคซึมเศร้าได้แก่

  • บ่อน้ำตาตื้น อะไรนิดอะไรหน่อยก็ร้องไห้
  • รู้สึกไม่มีความสุขกับสิ่งที่เป็นอยู่ (ทั้งที่ก็เคยอยู่แบบนี้มาได้ตั้งนาน)
  • ขี้เหวี่ยง หงุดหงิด โมโหง่าย
  • สับสนกระวนกระวาย
  • ขาดสมาธิในการที่จะทำอะไรแต่ละอย่าง
  • นอนไม่ค่อยหลับ หรือนอนเยอะจนเกินปกติ
  • เหนื่อยง่าย ทั้งๆ ที่ไม่ค่อยได้ทำอะไร
  • เบื่ออาหาร หรือกินเยอะจนเกินพอดี
  • พูดจาเวิ่นเว้อไม่เข้าเรื่อง
  • อารมณ์แปรปรวน คนรอบข้างเดาใจยาก
  • คิดลบ อคติกับเรื่องปกติอยู่บ่อยๆ
  • ไม่อยากมีชีวิตอยู่

สำหรับข้อสุดท้ายที่กล่าวไป ถือว่าเป็นภาวะซึมเศร้าในขั้นรุนแรง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการคิดฆ่าตัวตายได้ เพราะผู้ป่วยจะไม่เห็นความสำคัญของการมีชีวิตอยู่ เหน็ดเหนื่อย ท้อแท้ จนหาทางออกไม่ได้ โรคนี้จะว่าไปก็ทรมานมากค่ะเพราะต้องต่อสู้กับความคิดของตัวเองที่อยู่ในหัว

ผลกระทบของโรคซึมเศร้าระหว่างตั้งครรภ์ ได้แก่ น้ำหนักตัวลดลง ร่างกายไม่ได้รับสารอาหารเต็มที่หรือเพียงพอต่อคุณแม่ท้องและลูกน้อยในครรภ์, ความเครียดและความเศร้าอาจทำให้คุณแม่อาจหาทางออกด้วยการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า หรือซื้อยามารับประทานเอง, เกิดความเครียด ความวิตกกังวลมากขึ้น ส่งผลให้มีอารมณ์เศร้าหลังคลอดตามมาด้วย อาจคลอดก่อนกำหนด ลูกมีน้ำหนักตัวน้อย หรือมีพัฒนาการผิดปกติร่างกายไม่แข็งแรง และอาจส่งผลต่อพัฒนาการด้านอารมณ์ของลูกอีกด้วยค่ะ

ในคุณแม่บางท่านอาจจะมีความผิดปกติในการกินอาหารอยู่แล้ว คือมีอาการแพ้ท้องในช่วงไตรมาสแรกที่มีอาการมากทำให้กินอาหารได้น้อย แต่พอหายแพ้ท้องก็จะเริ่มกินได้มากขึ้น แต่ข้อแตกต่างของคุณแม่ที่มีภาวะซึมเศร้าคือจะกินอาหารมากโดยไม่สัมพันธ์กับการตั้งครรภ์ เวลาเครียดจะรู้สึกอยากกิน ถ้าไม่ได้กินจะหงุดหงิด โมโหง่าย ต้องกินให้ได้ทำให้เกิดโรคอ้วนได้ง่าย เนื่องจากภาวะซึมเศร้าจะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนไปกระตุ้นความหิวทำให้อยากกินอาหารมากกว่าปกติ ส่งผลให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น หากปล่อยไว้ และคิดว่าหลังคลอดน้ำหนักคงจะลดได้เอง ไม่ควบคุมตัวเองขณะตั้งครรภ์ คุณแม่อาจกลายเป็นโรคอ้วนและมีโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้

แต่ไม่ต้องเครียดไปนะคะ ยังไงบทความนี้ก็ขอเป็นกำลังใจให้คุณแม่ก้าวผ่านปัญหานี้ไปให้ได้ค่ะ โดยวิธีการรับมือกับเจ้าโรคซึมเศร้านี้แบบหลักการง่ายๆ (แต่ในใจคุณแม่บางท่านอาจจะไม่ง่ายเลย) ดังนี้ค่ะ

ใช้หลักธรรมอริยสัจ 4 เข้าช่วย

เดี๋ยวก่อนนะคะ ไม่ได้จะให้ไปบวชชีถือศีลฟังธรรมจริงจังอะไรขนาดนั้นหรอกค่ะ เพียงแค่จะบอกว่าหลักธรรมของศาสนาพุทธนี้ ได้อธิบายถึงหลักเหตุผลของทุกข์ทางแก้ไว้ให้ นั่นก็คือให้หาต้นเหตุของปัญหาแล้วจัดการมันเสีย ถ้าเครียดหรือทุกข์ใจเรื่องอะไร ก็จงระบายออกมา ถ้าแก้ไม่ได้ก็แค่ทำใจให้สบายปล่อยให้เวลาช่วยแก้ไขนะคะ หรือถ้าเป็นไปได้ การสวดมนต์ศึกษาธรรมะเบื้องต้นจะทำให้คุณแม่มีสมาธิมากขึ้น ไม่จดจ่อกับเรื่องที่ทำให้เศร้าได้เช่นกันค่ะ

งดเล่นโซเชียลในช่วงนั้นไปก่อน

วันๆ นั่งรูดแต่มือถือ ดูข่าวดราม่านั่นนี่ มีแต่จะพาให้จิตใจยิ่งตกต่ำเข้าไปอีกนะคะ ถึงแม้จะไม่ใช่เรื่องของเราก็ตาม เพราะเราจะอินมากกว่าปกติจนคิดว่าเป็นปัญหาตัวเองก็เป็นได้ นอกจากนี้ยังทำให้เสียเวลาในชีวิตไปอีกหลายอย่างเช่นกันนะคะ ลองเปลี่ยนเป็นเข้าแอพพลิเคชั่นสำหรับคุณแม่โดยเฉพาะ จะทำให้คุณแม่อยากสนใจข้อมูลในระหว่างตั้งครรภ์มากกว่า หรือทำงานบ้านเบาๆ ไปเรื่อย

ฟังเพลงผ่อนคลายได้ แต่ห้ามฟังเพลงเศร้านะ

การฟังเพลงจะช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับทำนองเพลงด้วยนะคะ พยายามเลือกฟังเพลงที่มีทำนองเบิกบานจิตใจจะดีกว่าค่ะ ถ้าไปเลือกฟังเพลงที่มีเนื้อหาเศร้า อกหัก เพื่อชีวิต เพราะเดี๋ยวจะยิ่งคิดตามเพลงแล้วไปกันใหญ่

ออกกำลังกายสิจ๊ะ ร่างกายจะได้รู้สึกดี

การออกกำลังกายจะช่วยให้ร่างกายหลั่งสารเอนโดฟิน ซึ่งเป็นสารที่มีความสุขออกมา คุณแม่ควรเลือกออกกำลังกายเบาๆ พร้อมฝึกการหายใจไปด้วย ก็จะช่วยให้เกิดสมาธิ จิตใจไม่ฟุ้งซ่านค่ะ

ชวนคุณพ่อไปพักร้อนเปลี่ยนบรรยากาศบ้าง

การอยู่ที่เดิมนานๆ อาจทำให้จิตใจหดหู่ได้ ควรหาเวลาว่างของครอบครัวแล้วออกไปเปิดหูเปิดตาบ้าง เชื่อว่าการเที่ยวจะช่วยเยียวยาจิตใจให้ไม่ต้องคิดอะไรเดิมๆ ได้บ้างค่ะ

เข้าพบคุณหมอและพูดคุยกับนักจิตวิทยา

สุดท้ายหากโรคซึมเศร้ารบกวนชีวิตคุณแม่มากจนไม่เป็นอันทำอะไร ควรเข้าพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี ไม่ต้องกลัวจะมีใครหาว่าเราบ้านะคะ เรายังใช้ชีวิตปกติได้ เพียงแต่ความสุขมันน้อยลงไปหน่อยเท่านั้นเอง หรือถ้าใครยังไม่สะดวกไปพบจิตแพทย์ละก็ ลองโทรไปที่เบอร์ 1323 สายด่วนสุขภาพจิต จะมีคนคอยรับฟังทุกปัญหาของคุณอยู่นะคะ