Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

โรคดึงผม ลูกชอบดึงผมตัวเอง สะท้อนผลกระทบที่สั่งสมมาจากจิตใจ

โรคดึงผม ลูกชอบดึงผมตัวเอง สะท้อนผลกระทบที่สั่งสมมาจากจิตใจ

พฤติกรรมแปลก ๆ ที่คนเราแสดงออกนั้นส่วนใหญ่แล้วมีผลมาจากจิตใจ “การดึงผม” ก็เช่นกัน การดึงผมสามารถเกิดได้แบบทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ดูเผิน ๆ อาจเป็นพฤติกรรมที่ปกติ แต่ความจริงแล้วสิ่งนื้คือความผิดปกติที่เรียกว่า “โรคดึงผม” ห๊ะ…เรียกว่าเป็นโรคเลยหรอ จะใช่หรือจะมั่ว วันนี้แม่โน้ตมีข้อมูลจากคุณหมอมาฝากค่ะ

โรคดึงผม (Trichotillomania) คืออะไร?

โรคดึงผม หรือ Trichotillomania เป็นภาวะที่ผู้ป่วยมักจะมีพฤติกรรมถอนผมหรือขนของตัวเองแบบซ้ำ ๆ จนทำให้ผมแหว่งหรือหัวล้านเป็นหย่อม ๆ โรคนี้มักพบได้ในเด็กผู้หญิงมากกว่าเด็กผู้ชาย เพียงแต่การดึงผมนี้ไม่ได้หมายความว่านั่งดึงทั้งวันนะคะ เพียงแต่ว่างเมื่อไหร่ก็จะดึง ทั้งที่แบบรู้ตัวและไม่รู้ตัว ทำเป็นพัก ๆ แต่ทำเรื่อย ๆ

ลักษณะการดึงผม

ลักษณะการดึงผม แบ่งออกได้เป็น 2 ข้อ

ดึงผมโดยไม่รู้ตัว

กรณีนี้จะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ แบบไม่ได้ตั้งใจ แต่เรียกว่าถ้ามือว่างเมื่อไหร่ เผลอ ๆ ก็จะดึงทุกที

ดึงขณะที่รู้ตัว

สำหรับกรณีนี้คือ ผู้ป่วยตั้งใจดึงแบบเอาจริงเอาจัง ใจจดใจจ่อกับการดึงผมตัวเองเป็นอย่างมาก ซึ่งขณะที่ดึงนั้นก็จะรู้สึกว่าตัวเองมีความสุข ผ่อนคลาย เพลิดเพลิน และหายเครียด

โรคดึงผมในเด็ก

โรคดึงผมสามารถเกิดได้ทั้งกับผู้ใหญ่และเด็ก ซึ่งถ้าผู้ใหญ่ หากดึงผมตัวเองจนกระทั่งหัวล้านเป็นหย่อม ๆ จะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ อาจเกิดอาการซึมเศร้าหรืออาการหัวล้านส่งผลให้ผู้ป่วยเครียดกว่าเดิม

โรคดึงผมในเด็กมักพบมากในวัยที่กำลังก้าวเข้าสู่วัยรุ่น หรือช่วงวัยรุ่น ซึ่งถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี อาการนี้ก็จะยังเป็นอยู่ต่อไป ก็จะดึงผมตัวเองอยู่เรื่อย ๆ ทั้งนี้จากการตรวจสอบ โรคดึงผมจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ ข้อ คือ ความเครียด ความวิตกกังวล รวมไปถึงช่วงที่มีประจำเดือน เป็นต้น
นอกจากนี้ สมาคมจิตแพทย์ ได้ระบุว่า พฤติกรรมที่เด็กดึงผมของตัวเองนั้น ถือเป็นพฤติกรรมที่มีปัญหาด้านอารมณ์แอบแฝงอยู่ เด็กที่มีอาการหรือพฤติกรรมเช่นนี้ โดยมากแล้วจะเป็นเด็กที่…

  • พูดน้อย ไม่ค่อยพูด
  • มีความอดทน
  • ไม่ค่อยแสดงออกเท่าไหร่
  • แก้ปัญหาเองไม่ได้ เมื่อต้องเผชิญกับปัญหา

และอีกหนึ่งส่วนที่เรียกได้ว่าเป็นหัวใจหรือเป็นบ่อเกิดในการเกิดโรคดึงผมเลยก็คือ “ความเครียด และความวิตกกังวลใจที่มีอยู่ในจิตใจของลูก” ข้อนี้คุณพ่อคุณแม่ควรหาสาเหตุให้เจอโดยเร็ว พร้อมกับควรยอมรับในการเลี้ยงดูของเรานะคะ ทบทวนดูว่าที่ผ่านมาเราได้กดดันอะไรลูกไปหรือเปล่า ไม่ได้ให้ลูกมีส่วนร่วมหรือตัดสินใจอะไรหรือเปล่า (เอาเรื่องเล็กที่เป็นเรื่องของเขาเองก็ได้ค่ะ) ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นอะไรหรือไม่ และอีกหลาย ๆ เรื่อง ลองค่อย ๆ ทบทวนกันดูนะคะ เพราะยิ่งคุณพ่อคุณแม่รู้สาเหตุได้เร็ว ก็จะแก้ไขได้เร็ว และลูกก็จะกลับมาเป็นเด็กที่ร่าเริงสดใสอย่างที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการให้เป็นค่ะ

วิธีปรับพฤติกรรมลูกชอบดึงผม

พฤติกรรมลูกชอบดึงผม สามารถแก้ไขและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ ดังนี้

  • ชวนลูกทำกิจกรรมค่ะ เช่น วาดภาพระบายสี เล่นน้ำในอ่างยางที่บ้าน ทำสวน ปลูกต้นไม้ ฯลฯ
  • ไม่ปล่อยให้ลูกอยู่คนเดียว ชวนลูกเล่นเกมหรือของเล่น หรือจะออกไปเดินห้างใกล้ ๆ บ้านก็ได้ค่ะ
  • ชักชวนลูกให้พูดคุยกัน และเปลี่ยนความคิดเห็น รับฟัง และให้คำปรึกษาในด้านต่าง ๆ
  • พยายามเลี้ยงลูกเชิงบวก สะท้อนพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่ด้วยการที่ไม่ดุด่า ตำหนิ หรือว่ากล่าวลูก หากลูกกระทำผิด ควรอธิบายให้ลูกฟังว่าที่ทำผิดคือจุดไหน และควรทำอย่างไรถึงจะถูกต้อง

ทั้งนี้ทั้งนั้น ให้คุณพ่อคุณแม่หมั่นสังเกตพฤติกรรมของลูกอยู่เสมอนะคะ ว่าเขามีพฤติกรรมที่ดึงผมหรือไม่ ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ซึ่งถ้าลูกมีอาการมาก แนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อขอคำแนะนำทันทีนะคะ
ข้อมูลอ้างอิง อ.พญ.กิติกานต์ ธนะอุดม ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล