Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

โรคฝีดาษลิงคืออะไร ป้องกันได้อย่างไร

โรคฝีดาษลิงคืออะไร ป้องกันได้อย่างไร

สาเหตุที่ต้องกล่าวถึงโรคฝีดาษลิง โรคติดต่อที่ทุกคนเกือบจะลืมไปแล้วซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากไวรัสที่อยู่ในตระกูลเดียวกันกับเชื้อไวรัสโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาหรือมีวัคซีนป้องกันแต่ก็ยังสามารถควบคุมการระบาดได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ ซึ่งสามารถช่วยป้องกันได้ 85% ก็จริงแต่ก็เป็นอันตรายต่อเด็กเล็กเพราะมีโอกาสที่จะเสียชีวิตได้ โดยฝีดาษลิงยังมีรายงานการเกิดเชื้อไวรัสโรคฝีดาษลิง 2 สายพันธุ์ด้วยกัน คือ

  • สายพันธุ์แอฟริกากลาง (โรคติดต่อจากคนสู่คน)
  • สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก

ทำความรู้จักกับโรคฝีดาษลิง หรือไข้ทรพิษ

โรคฝีดาษลิงเกิดจากการติดเชื้อ Monkeypox Virus มีการค้นพบครั้งแรกปี พ.ศ. 2501 (ค.ศ. 1958) โดยจะพบในสัตว์จำพวกลิงและยังมีรายงานเพิ่มเติมอีกด้วยว่าสามารถจะพบได้ในสัตว์ตระกูลฟันแทะต่าง ๆ เช่น กระรอก หนู กระต่าย เป็นต้น และเริ่มพบการระบาดในคนครั้งแรกในประเทศคองโก เมื่อปี พ.ศ. 2513 (ค.ศ. 1970)
ปัจจุบันโรคฝีดาษลิงยังไม่มีการรักษาเฉพาะโรค แต่เพราะเชื้อมีลักษณะใกล้เคียงกับไวรัสไข้ทรพิษ ทำให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษเพื่อเป็นการป้องกัน หรือเรียกว่า การปลูกฝี เป็นการควบคุมการแพร่ระบาดได้ ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2523 (ค.ศ. 1980) องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่าปราศจากโรคไข้ทรพิษแล้ว จึงยุติการฉีดวัคซีน ส่งผลให้เด็กที่เกิดช่วงหลังปี พ.ศ. 2523 (ค.ศ. 1980) จะไม่ได้รับวัคซีนไข้ทรพิษอีก

โรคฝีดาษลิง มีอาการเป็นอย่างไร

โรคฝีดาษลิง จะมีอาการที่สังเกตได้เบื้องต้นหลังจากที่ได้รับเชื้อมาแล้วโดยประมาณ 12 วัน โดยจะเป็นเชื้อไวรัส Othopoxvirus จะอยู่ในต่อมน้ำเหลืองและใช้เวลาฟักตัวอยู่ที่ 7-21 วัน จึงเริ่มแสดงอาการมีไข้จากนั้นจะเริ่มแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่น โดยระยะการแพร่ระบาดที่ถึงแม้จะยังไม่พบในไทยแต่ก็เป็นโรคติดต่อที่ควรจะต้องเฝ้าระวังไว้ด้วยเช่นกัน

ระยะก่อนออกผื่น (Invasion Phase)

  • หลังจากระยะฟักตัวแล้วผู้ป่วยจะเริ่มด้วยอาการมีไข้ ปวดหัว ปวดตัว ปวดหลัง อ่อนเพลีย และต่อมน้ำเหลืองโต
  • อาการต่อมน้ำเหลืองโต เป็นอาการจำเพาะของโรคฝีดาษลิง ซึ่งแตกต่างจากโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ (Smallpox) ชนิดอื่นที่มีตุ่มน้ำตามมา
  • อาจมีอาการทางระบบหายใจ เช่น ไอหรือเจ็บคอ หรือระบบทางเดินอาหาร เช่น มีอาการท้องเสีย อาเจียน เป็นต้น

ระยะออกผื่น (Skin Eruption Phase)

  • หลังจากมีไข้ประมาณ 3 วัน จะเริ่มมีผื่นขึ้นตามตัว หน้า ฝ่ามือ และฝ่าเท้า โดยผื่นจะมีขนาด 2 – 10 มิลลิเมตร และมักจะหนาแน่นที่บริเวณใบหน้า และแขนขามากกว่าตามตัว
  • ลักษณะตุ่มผื่นที่ขึ้นจะมีรูปแบบการเปลี่ยนแปลงพร้อมกัน โดยเริ่มจากรอยแดงเป็นตุ่มนูนแดง ตุ่มน้ำใส ตุ่มน้ำหนอง และจากนั้นจะแห้งออกหรือแตกออกแล้วหลุด
  • ระยะออกผื่นโรคฝีดาษลิง จะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ผื่นจะเริ่มกลายเป็นตุ่มหนองแตกจากนั้นจะแห้งและหลุดออกมา
  • ผู้ป่วยใหญ่สามารถหายจากโรคเองได้แต่หากผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำและมีโรคประจำตัว อาจมีภาวะแทรกซ้อนได้จนถึงขั้นเสียชีวิตได้

โรคฝีดาษลิงติดต่อยังไง

  • โรคฝีดาษลิงสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้จากการสัมผัสใกล้ชิด โดยผ่านการสัมผัสทางผิวหนังกับผู้ติดเชื้อโดยตรง หรือสัมผัสกับวัตถุต่าง ๆ ที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสชนิดนี้
  • ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงนี้สามารถจะเสียชีวิตได้ โดยมีอัตราการเสียชีวิตมากถึง 1-10% โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กเล็ก เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องเฝ้าระวัง
  • ไม่พบว่าติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ แต่เชื้อโรคก็สามารถจะติดต่อกันได้ผ่านการสัมผัสกับตุ่มตามผิวหนัง รวมไปถึงละอองจากทางเดินหายใจ

วิธีการป้องกันโรคฝีดาษลิง

  • ควรจะต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ป่วย สัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคฝีดาษลิงโดยเฉพาะลิง และสัตว์ฟันแทะต่าง ๆ
  • งดการเล่น หรือแหย่สัตว์จำพวกลิง หรือที่เป็นสัตว์ฟันแทะ เพราะการถูกขีดข่วนจากสัตว์ก็สามารถจะได้รับเชื้อจากโรคฝีดาษลิงได้
  • ควรต้องหมั่นล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์โดยเฉพาะหากมีการสัมผัสสัตว์ หรือสิ่งของสาธารณะต่าง ๆ ซึ่งอาจจะมีเชื้อไวรัสของโรคฝีดาษลิง
  • ควรจะต้องรับประทานอาหารที่ปรุงสุกเท่านั้น ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีเนื้อสัตว์ปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ เพราะจะเสี่ยงกับเชื้อโรคต่าง ๆ ได้
  • ควรจะต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสบาดแผล สารคัดหลั่ง ประเภทเลือด น้ำเหลืองของสัตว์ รวมไปถึงบุคคลที่มีแผล ตุ่มหนอง ด้วยเช่นกัน
  • หากจำเป็นที่จะต้องเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ หรือโรคระบาดจะต้องดูแลตัวเองให้มากกว่าปกติ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่ง แผล ตุ่มหนอง หรือตุ่มน้ำใส จากผู้มีประวัติเสี่ยง หรือสงสัยว่าติดเชื้อ กรณีที่สัมผัสเชื้อไปแล้ว ควรฉีดวัคซีนป้องกันในกรณีที่ยังไม่เกิน 14 วัน
  • การฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคฝีดาษลิงได้ แต่จะต้องฉีดในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงติดเชื้อเท่านั้น

ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีรายงานอย่างเป็นทางการว่าพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในไทย แต่ก็ต้องยอมรับว่าประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงของการเปิดประเทศเพื่อให้มีนักท่องเที่ยวได้เดินทางมาและเพื่อเป็นการสร้างเม็ดเงินให้กับเศรษฐกิจไทย จึงอาจจะมีความเสี่ยงจากนักท่องเที่ยวหรือผู้เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงจากการระบาดของโรคฝีดาษลิงในช่องทางการเข้าออกระหว่างประเทศ หรือผู้ที่เดินทางไปในจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญของไทย ดังนั้นหน้าที่ของเราคือการป้องกันตัวเองให้ดีที่สุด
ข้อมูลอ้างอิง : SIKARIN / Praram9 Hospital / naewna