Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ไวรัสRSV ดูคล้ายหวัด แต่อันตรายกว่า

ไวรัสRSV ดูคล้ายหวัด แต่อันตรายกว่า

ไวรัสRSV หรือมีชื่อเต็มว่า Respiratory Syncytial Virus เป็นหนึ่งในหลายๆ โรคที่มักเกิดในช่วงฤดูฝนหรือปลายฝนต้นหนาว มักเกิดในเด็กเล็กดูเผินๆ อาการจะคล้ายหวัดทั่วไป แต่จริงๆ แล้ว RSV มีความรุนแรงมากกว่าและเป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ ทำให้ร่างกายผลิตสารคัดหลั่งออกมาเป็นจำนวนมาก เช่น น้ำมูก น้ำลาย และเสมหะ เป็นต้น หากเด็กไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เด็กเป็นโรคหอบหืดได้ลูกของผู้เขียนเองก็เป็นโรคนี้ตอนเค้าอายุได้เพียงขวบเดียว และผู้เขียนก็ได้รับเชื้อไวรัสRSV ต่อ แต่อาการเบากว่าลูกมาก
วันนี้ผู้เขียนชวนคุณพ่อคุณแม่มาทำความรู้จักไวรัส RSV ให้มากขึ้น เพื่อที่จะได้สังเกตอาการลูกและ…

Youtube : ไวรัสRSV ดูคล้ายหวัด แต่อันตรายกว่า

อาการหลังการติดเชื้อไวรัส RSV

หลังจากที่ได้สัมผัสกับเชื้อไวรัส RSV แล้ว ผู้ป่วยจะแสดงอาการภายใน 4-6 วัน โรคนี้เป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ อาการทั่วไปดูคล้ายหวัด เช่น มีไข้ต่ำ คัดจมูก จาม มีน้ำมูก ปวดศีรษะ ไอแห้ง เจ็บคอ เป็นต้น แต่ทั้งนี้ก็ยังพอมีอาการให้คุณพ่อคุณแม่ได้สังเกตและแยกแยะค่ะว่าลูกจะติดเชื้อไวรัสRSV หรือไม่

  • หอบเหนื่อย
  • หายใจเร็ว หายใจแรง
  • หายใจครืดคราด
  • ตัวเขียว
  • มีเสียงหวีดในปอด(เป็นเพราะเยื่อบุทางเดินหายใจบวม อักเสบ และหลอดลมหดตัว)
  • ไอแบบมีเสมหะมาก

ควรหาคุณหมอทันที หากมีอาการเหล่านี้

  • ภาวะขาดน้ำ สังเกตได้จากเวลาที่ลูกร้องไห้จะไม่มีน้ำตามออกมา
  • ไอและมีเสมหะเป็นสีเทา สีเขียว หรือสีเหลือง
  • หายใจลำบาก หายใจเร็วกว่าปกติ หรือมีอาการหอบเหนื่อย
  • มีน้ำมูกข้น เหนียว ทำให้หายใจลำบาก
  • ปลายนิ้วหรือปากเริ่มมีสีเขียวคล้ำ เนื่องจากภาวะขาดออกซิเจน
  • มีไข้มากกว่า 38 องศาเซลเซียส
  • ทานอาหารได้น้อย หรือเบื่ออาหาร
  • มีผื่นขึ้น

ช่องทางติดเชื้อไวรัสRSV

ไวรัส RSV สามารถติดได้จาก…

  • การสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วยเข้าสู่ร่างกายผ่านตา จมูก ปาก หรือสัมผัสเชื้อโดยตรงจากมือ
  • สัมผัสละอองน้ำลายของผู้ป่วยจากการไอหรือจาม

ไวรัสชนิดนี้จะสามารถมีชีวิตอยู่ภายนอกร่างกายได้เป็นเวลาหลายชั่วโมง โดยอาศัยอยู่ตามวัตถุต่างๆ

การรักษา

ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคนี้โดยเฉพาะ ต้องรักษาตามอาการ ดูแลเรื่องระบบหายใจให้ดีขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ต้องอาศัยการดูแลใกล้ชิดที่โรงพยาบาล ซึ่งในเบื้องต้นคุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลลูกได้ที่บ้านก่อน ดังนี้ค่ะ

  • ให้ลูกนั่งหรือนอนในท่าที่จะทำให้หายใจได้สะดวก (อาจนอนแบบเอนเบาะขึ้นมานิดหน่อยก็ได้ค่ะ) แต่หมอนต้องไม่นุ่มหรือแข็งจนเกินไป
  • ดื่มน้ำมากๆ เพราะน้ำจะช่วยให้สารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก หรือเสมหะไม่ข้นเหนียวจนเกินไป ทำให้ไม่ขวางการทำงานของระบบทางเดินหายใจ
  • ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือสะอาด วันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน เพื่อให้ลูกหายใจได้สะดวกขึ้น
  • ทานยาในกลุ่มอะเซตามิโนเฟน(Acetaminophen) เพื่อช่วยลดไข้

แต่หากลูกเริ่มมีอาการที่รุนแรงขึ้น จำเป็นอย่างมากที่คุณพ่อคุณแม่ต้องให้ลูกได้รับการดูแลรักษาจากโรงพยาบาล ซึ่งคุณหมอจะใช้วิธีการรักษาในแนวทางอื่นร่วมด้วย ดังนี้

  • ทานยาปฏิชีวนะ ในกรณีที่ลูกมีอาการแทรกซ้อนจากแบคทีเรีย
  • ใช้ยาพ่นขยายหลอดลม เพื่อบรรเทาอาการหายใจที่มีเสียงหวีด
  • ดูดเสมหะ หากมีเสมหะที่ข้นเหนียวจำนวนมาก เพื่อช่วยให้ทางหายใจโล่งขึ้น
  • คุณหมออาจใช้ยาเอพิเนฟริน (Epinephrine)เพื่อลดอาการบวมของทางเดินหายใจ
  • อาจมีการให้ออกซิเจน หรือใส่อุปกรณ์ช่วยหายใจ ในกรณีที่พบว่าลูกมีภาวะออกซิเจนต่ำหรือระบบหายใจล้มเหลว

ภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อไวรัสRSV

สำหรับผู้ป่วยที่เป็นทารกหรือเด็กเล็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย หรือมีปัญหาเกี่ยวกับปอดและหัวใจ กลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่า ซึ่งจะส่งผลดังนี้

  • โรคปอดบวมหรือโรคหลอดลมฝอยอักเสบ เพราะไวรัสจะเคลื่อนตัวจากระบบทางเดินหายใจด้านบน เช่น จมูก ปาก ลงไประบบหายใจช่วงล่าง ทำให้เกิดการอักเสบที่ปอดและทางเดินหายใจ
  • โรคหอบหืด

การป้องกัน

  • ล้างมือให้สะอาดก่อนมื้ออาหารทุกครั้ง
  • ทำความสะอาดบ้านอยู่เสมอ เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส
  • ไม่ควรใช้ของร่วมกับผู้ป่วย
  • ควรทำความสะอาดของเล่นที่ผู้ป่วยเล่นทุกครั้ง

ไวรัสRSV นี้ ถึงแม้เป็นแล้วแต่ก็สามารถเป็นได้อีกนะคะ เพียงแต่ความรุนแรงจะไม่เท่าครั้งแรก

เมื่อคุณพ่อคุณแม่รู้กันอย่างนี้แล้ว เมื่อลูกเป็นหวัด ลองสังเกตอาการลูกนะคะ ว่าเข้าข่าย RSV หรือไม่ เพื่อให้ลูกได้รับการรักษาอย่างถูกทางแต่เนิ่นๆ ค่ะ