Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

เฝ้าระวังลูกน้อยจาก 5 โรค ฮิตที่มากับหน้าฝน

แม้ว่าประเทศไทยในช่วงนี้จะยังไม่ถึงหน้าฝน แต่ฝนฟ้าก็ตกชุกกันมาตลอดทั้งปี จึงทำให้โรคภัยที่เคยระบาดแต่หน้าฝน เกิดขึ้นได้ตลอด ซึ่งมีหลายโรคที่คุณแม่คุณแม่ควรเฝ้าระวัง เพราะเป็นโรคที่มักเกิดกับเด็ก ดังนี้ค่ะ

ไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่พบได้ในทุกเพศทุกวัย และพบได้ทั้งปี แต่จะพบมากในช่วงฤดูฝน ซึ่งไข้หวัดใหญ่ แตกต่างจากไข้หวัดธรรมดาตรงที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ อาการหลักๆ ที่เห็นได้ชัดคือ เด็กจะมีไข้สูง ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว ไอ หรือเข็บคอ เด็กอายุน้อยกว่า 5 ขวบ ผู้สูงวัย หรือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง มีโอกาสเสี่ยงที่จะรุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่น

ปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งสามารถฉีดได้ในเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป และควรฉีดล่วงหน้า 1-2 เดือน ก่อนฤดูกาลระบาดของโรค แต่การป้องกันที่ดีที่สุดที่คุณพ่อคุณแม่จะดูแลลูกน้อยได้ก็คือ หากมีคนป่วย พยายามอย่าให้เชื้อแพร่กระจายสู่ผู้อื่น และใส่หน้ากากอนามัย รวมไปถึงการดูแลสุขอนามัยให้ลูก ล้างมือให้สะอาด รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ จะเป็นการป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้เป็นอย่างดี

มือเท้าปาก

โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส (Enterovirus 71, Coxsackie) พบได้ตลอดทั้งปี แต่จะพบมากในฤดูฝน เด็กที่เป็นโรคนี้ จะมีไข้ และมีตุ่มน้ำใสตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า เป็นแผลในปาก บางรายอาจมีผื่นที่ขา และก้นร่วมด้วย พบมากในเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 3 ปี ถ้าเป็นแล้ว เด็กบางคนจะรับประทานอาหารและน้ำไม่ค่อยได้ เพราะเจ็บแผลที่ปาก ซึ่งแม้แต่น้ำลายก็ไม่ยอมกลืน ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ โดยปกติ อาการมักหายได้เองภายใน 3-10 วัน แต่คุณพ่อคุณแม่ควรเฝ้าระวัง อย่าให้ลูกมีไข้สูงจนเกินไป เพราะอาจทำให้ชักได้ และบางรายอาจภาวะแทรกซ้อนตามมา โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เช่น สมองอักเสบ เยื้อหุ้มสมองอักเสบ

โรคนี้ติดต่อทางการไอจาม น้ำลาย หรืออุจจาระ ดังนั้นเพื่อเป็นการป้งอกัน ผู้ปกครองจึงควรดูแลลูกในเรื่องอาหาร น้ำดื่ม ให้ลูกใช้แก้วน้ำ หรือกระติกน้ำส่วนตัวเมื่อไปโรงเรียน และถ้าไม่จำเป็นไม่ควรให้ลูกไปอยู่ในสถานที่แออัด

โรคไข้เลือดออก

ไข้เลือดออกเป็นอีกโรคที่ควรระวัง เพราะมี “ยุงลาย” เป็นพาหะนำโรค มีโอกาสเป็นได้ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ ถ้าได้รับเชื้อแล้ว จะมีไข้สูงเกิน 3 วันขึ้นไป ตา และหน้าจะเริ่มแดง มีความรู้สึกอ่อนเพลีย และปวดท้อง ซึ่งโรคนี้ระบาดได้ทั้งปี โดยเฉพาะในหน้าฝน เพราะมีโอกาสที่จะเกิดน้ำขัง และยุงเพาะพันธุ์ได้มาก

โรคนี้ส่งผลให้เกิดภาวะตับอักเสบ ทำให้คนไข้มีอาการปวดท้อง โดยเฉพาะตรงบริเวณชายโครงด้านขวา ซึ่งเป็นตำแหน่งของตับ มีการอาเจียน และมีภาวะขาดน้ำ ซึ่งอาการเหล่านี้ ถ้ามาพบแพทย์ได้ทัน จะคาดการณ์ได้ว่า ลูกคุณมีกลุ่มอาการตรงกับไข้เลือดออก และแพทย์จะทำการตรวจสอบต่อไป

การป้องกันที่ดีที่สุกสำหรับโรคนี้ คือ อย่าให้ยุงกัด และอย่าให้ยุงเกิด ด้วยการจำกัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายให้หมดสิ้น และอย่ารอให้เกิดอาการที่รุนแรงก่อนแล้วจึงมาพบแพทย์ เช่น เป็นไข้สูงเกินไป ช็อก หรือมีปัญหาเลือดออกง่าย ต้องรีบพาลูกมาพบแพทย์ทันทีเลยนะคะ

โรคท้องเสีย (จากไวรัสโรต้า)

ไวรัสโรต้า เป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคอุจจาระร่วงในเด็กทารก และเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ปี โดยจากสถิติทั่วโลก และในประเทศไทยพบว่า ไวรัสโรต้าเป็นสาเหตุหลักทำให้เด็กป่วย และเสียชีวิตด้วยโรคอุจจาระร่วงถึงปีละประมาณ 6 แสนคน อาการส่วนใหญ่ จะพบว่ามีอาการท่วงเสีย อาเจียน บางรายจะมีไข้สูง กินได้น้อย งอแง ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ ดังนั้นเด็กทารกควรให้กินนมแม่จะช่วยได้ระดับหนึ่ง และดูแลสุขลักษณะการกิน การเล่นให้เหมาะสม ต้องสะอาด และปลอดภัย และไม่ควรพาเด็กเข้าเนอสเซอรี่เร็วเกินไป เพราะเด็กที่อยู่ด้วยกันเยอะๆ การแพร่กระจายของเชื้อจะมีได้ง่าย

การป้องกันคือ คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลเรื่องสุขอนามัยให้กับลูก ไม่ว่าจะเป็น ของเล่น อาหาร หรือของใช้ใกล้ตัวเด็กที่ไม่สะอาด โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มักนำของเล่น หรือของใช้ที่มีเชื้อนี้เข้าปากโดยไม่รู้ตัว จากนั้นจะถูกขับออกทางอุจจาระ และเกิดการแพร่ระบาดได้ง่าย มีการศึกษาวิจัยพบว่า ในเด็กแรกเกิดถึงอายุ 5 ขวบแทบทุกคนจะเคยติดเชื้อนี้มาแล้ว แต่ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันที่มีประสิทธิภาพ และปลอดภัย ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดรับประทาน (หยอด) สามารถเริ่มให้กับทารกอายุตั้งแต่ประมาณ 6-12 สัปดาห์

โรคไอพีดี (IPD) และปอดบวม

โรคไอพีดี หรือที่เรียกว่า Invasive Pneumococcal Disease คือโรคติดเชื้อชนิดรุนแรงที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ “นิวโมคอคคัส” ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดและที่เยื้อหุ้มสมอง ซึ่งมีความรุนแรง และอาจทำให้เด็กพิการ หรือเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี

ถ้าติดเชื้อที่ระบบประสาท เช่น เยื้อหุ้มสมองอักเสบ เด็กจะมีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาจเจียน คอแข็ง เด็กเล็กจะมีอาการงอแง ซึม และชักได้ ส่วนการติดเชื้อในกระแสเลือด เด็กจะมีไข้สูง งอแง ถ้ารุนแรงอาจทำให้ช็อก และเสียชีวิตได้ ดังนั้นถ้าพบว่าลูกมีอาการดังกล่าว ควรรีบพามาพบแพทย์ทันที

ปัจจุบันมีวัคซีนฉีดให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง ส่วนในเด็กทารกควรเริ่มฉีดเมื่ออายุได้ 2 เดือนขึ้นไป สำหรับการป้องกัน ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และสร้างสุขอนามัยที่ดีกับลูก เป็นตัวช่วยที่สำคัญที่สุด

ที่มา : https://www.bangkokhospital.com