Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

โรคภูมิแพ้ในเด็ก โรคนี้ไม่เด็กอย่างที่คิด

คนไทยป่วยด้วย โรคภูมิแพ้ เพิ่มขึ้นจาก 10 ปีที่ผ่านมาสูงขึ้น 3 – 4 เท่าตัว!! โดยพบโรคภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจ เพิ่มขึ้นถึง 25 – 30% เนื่องจากสภาพอากาศในปัจจุบัน ล้วนเต็มไปด้วยสารก่อภูมิแพ้ ไม่เว้นแม้กระทั่งในบ้านหรือในห้องนอน!!” เปิดเผยโดยสมาคมโรคภูมิแพ้และอิมมูโนวิทยาแห่งประเทศไทย

จากข้อมูลด้านบนทำให้เราหลายคนรู้สึกว่า “โรคภูมิแพ้” กลายเป็นโรคเบสิกๆ ไปแล้วสำหรับสังคมปัจจุบัน แต่..มันจะไม่ธรรมดาเลยหากเกิดกับลูกเราโดยเฉพาะหากเกิดกับเด็กเล็ก เพราะมันเป็นภัยที่ใกล้ตัวมากอยู่ที่บ้านเราเอง ไม่ว่าจะเป็นจากขนสัตว์เลี้ยงในบ้าน เกสรดอกไม้ หรือไรฝุ่นที่เกาะอยู่บนเฟอร์นิเจอร์หรือในเครื่องปรับอากาศ แต่…ยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่ค่อยทราบว่า “โรคภูมิแพ้” ที่แท้จริงมีอะไรยังงัยบ้าง วันนี้ผู้เขียนมีข้อมูลมาฝากจากโรงพยาบาลเด็กสมิตเวชค่ะ ไปดูกัน

โรคภูมิแพ้ คืออะไร?

โรคนี้เกิดจากการที่ร่างกายของเรามีปฏิกิริยาตอบโต้ต่อสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ขนของสัตว์เลี้ยง ไรฝุ่น แมลงสาบ เกสรดอกไม้ ฯลฯ ทำให้เกิดอาการอักเสบเรื้อรังที่บริเวณเยื่อบุอวัยวะ อาทิ ผิวหนัง โพรงจมูก ทางเดินอาหาร เป็นต้น

โรคภูมิแพ้เกิดจากอะไร?

โรคภูมิแพ้เกิดได้จาก 2 ปัจจัย ดังนี้ค่ะ

พันธุกรรม

a.หากคุณพ่อหรือคุณแม่เป็นโรคภูมิแพ้อยู่ก่อน ลูกจะมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ได้ร้อยละ 30-50
b.ถ้าทั้งคุณพ่อและคุณแม่เป็นโรคภูมิแพ้ ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการที่ลูกจะเป็นโรคนี้ได้ถึงร้อยละ 50-70
c.ถ้าคุณพ่อและคุณแม่ไม่มีใครเป็นโรคภูมิแพ้เลย โอกาสที่ลูกจะเป็นโรคนี้ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น

สิ่งแวดล้อม

นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะกระตุ้นให้เกิดโรคภูมิแพ้ เรียกได้ว่าในปัจจุบันสิ่งแวดล้อมรอบตัวล้วนเต็มไปด้วยสารก่อให้เกิดภูมิแพ้ ทั้งในอาหารและอากาศ หากบังเอิญเราได้ไปสัมผัส หายใจ หรือทานเข้าไป สารเหล่านี้จึงเข้าไปกระตุ้นให้เกิดอาการโรคภูมิแพ้ตามระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น มีผื่นที่ผิวหนัง ไอ หรือท้องเสีย เป็นต้น

โรคภูมิแพ้ จะแสดงอาการในส่วนไหนของร่างกาย

ระบบทางเดินหายใจ

จะมีอาการน้ำมูกไหล จาม คันจมูก คัดจมูก หรืออาจเรียกอาการเหล่านี้ว่า “แพ้อากาศ” แต่บางครั้งหากมีอาการรุนแรงมากขึ้น เช่น ไอ แน่นหน้าอก หอบเหนื่อย ซึ่งเป็นอาการของโรคหืด ซึ่งสาเหตุของโรคภูมิแพ้ของระบบทางเดินหายใจ เกิดจากสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ ขน และรังแคของสัตว์เลี้ยง เกสรพืช และเชื้อรา
ส่วนในเด็กเล็กอาจเป็นผลมาจากอาการข้างเคียงของการแพ้อาหาร เช่น ไข่ นมวัวบางครั้งอาจแสดงอาการออกมาอย่างการหายใจครืดคราด เป็นต้น

ผิวหนัง

เช่น ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ลมพิษ หรือผื่นแพ้จากการสัมผัส ซึ่งสาเหตุหลักของลมพิษมักเกิดจากการแพ้อาหารและยา อาจมาจากการดื่มนมวัว หรือทานไข่ ซึ่งจะทำให้เกิดผื่นบริเวณแก้มในเด็กเล็ก และผื่นตามข้อพับในเด็กโต
ส่วนผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง มักจะเกิดขึ้นกับเด็กที่มีคนในครอบครัวเป็นภูมิแพ้

ระบบทางเดินอาหาร

ส่วนใหญ่จะมาจากการแพ้อาหาร โดยจะแสดงอาการปวดท้อง อาเจียน หรือถ่ายออกมามีมูกเลือดปน เป็นต้น

หลายระบบพร้อมกัน

ในบางรายอาจแสดงอาการแพ้ออกมาในหลายๆ ระบบพร้อมกัน เช่น หอบ ลมพิษ หรือช็อก หรือบางรายหนักกว่านั้น โดยอาจถึงขั้นเสียชีวิตหลังทานอาหาร เช่น กุ้ง ถั่วลิสง หรือหลังได้รับยา เพนนิซิลลิน เป็นต้น

ถ้าลูกเป็นภูมิแพ้ มีวิธีดูแลอย่างไร

หากคุณพ่อคุณแม่คิดว่าลูกมีแนวโน้มว่าจะเป็นภูมิแพ้ ลองพาลูกไปพบคุณหมอและทำการวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการ เพื่อที่จะหาสาเหตุที่แท้จริงและจะได้แก้ไขหรือป้องกันได้อย่างถูกจุดนะคะ โดยคุณหมอจะทำการ…
การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Skin Prick Test)เป็นการทดสอบว่าลูกจะแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดใด ซึ่งสำหรับเด็กเล็กสามารถทำเทสนี้ได้ต้องมีอายุ 2 ขวบขึ้นไป โดยคุณหมอจะหยดน้ำยาที่เป็นสารสกัดบนท้องแขนหรือหลัง แล้วใช้เข็มสะกิดเบาๆ รอราว 15-20 นาที ก็จะสามารถทราบผลได้
**ทั้งนี้ เพื่อความแม่นยำ ผู้รับการทดสอบต้องงดยาหรือสารต่างๆ ตามที่คุณหมอสั่งเป็นระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์

เมื่อรู้แน่ชัดแล้วว่าลูกแพ้อะไร คุณหมอจะแนะนำให้รักษาตามอาการ ดังนี้

หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้

โดยหมั่นทำความสะอาดบ้านอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการสะสมของไรฝุ่นและเชื้อโรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นขนสัตว์ ไรฝุ่น เกสรดอกไม้ เชื้อราในอากาศ ซักที่นอน หมอน ผ้าห่ม พรม ด้วยน้ำที่มีอุณหภูมิมากกว่า 60 องศาเซลเซียส อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง

ให้ยาเฉพาะโรค

เป็นการควบคุมอาการ และลดการอักเสบ เพื่อที่จะควบคุมโรคได้ง่ายขึ้น

ฉีดวัคซีนภูมิแพ้

โรถภูมิแพ้ในบางจุดของร่างกายอาจไม่สามารถหลีกเลี่ยงสารก่อให้เกิดภูมิแพ้ที่ลอยฟุ้งในอากาศได้ อย่างโรคภูมิแพ้ทางระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคแพ้อากาศ โรคหืด หากรักษาตามขั้นตอนแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น คุณหมออาจใช้วิธีเสริมภูมิคุ้มกัน ด้วยการฉีดสารสกัดที่แพ้เข้าร่างกายทีละน้อย ค่อยๆ เพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ จนควบคุมอาการได้ ซึ่งอาจใช้เวลานาน 3-6 ปี กว่าอาการแพ้จะลดลง

แต่…คุณแม่สามารถป้องกันโรคภูมิแพ้ที่จะเกิดกับลูกในเบื้อต้นได้ด้วยการ “ให้ลูกทานนมแม่เป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน” และให้อาหารเสริมเมื่อลูกพร้อม โดยเริ่มจากอาหารที่มีความเสี่ยงแพ้ละน้อย เช่น ข้าว ผักใบเขียว ไก่ หรือหมู เป็นต้น

อ้างอิง theasianparent.com