Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

หวัดลงกระเพาะ ลูกอาเจียน ทานไม่ได้ วิธีรับมือเบื้องต้น

เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 7 ขวบ (บางโรคอาจต้องรอถึง 9 ขวบ กว่าคุณหมอจะสามารถควบคุมอาการได้) นับว่ายังมีภูมิคุ้มกันร่างกายที่ยังไม่ค่อยแข็งแรงสมบูรณ์นัก ดังนั้น ร่างกายเค้าจะรับเชื้อโรคได้ง่าย และป่วยบ่อยมาก แต่หากลูกเป็นหวัดแล้ว เกิดหวัดนั้นลงกระเพาะล่ะ? คุณพ่อคุณแม่จะรู้ได้อย่างไร มีอาการอะไรบ้างที่ต้องสังเกต? หนักแค่ไหนถึงเรียกว่าต้องไปพาลูกพบคุณหมอ วันนี้เรามีข้อมูลจาก รศ.พญ. รวีรัตน์ สิชฌรังษีพร้อมการรับมือในเบื้องต้นมาฝากค่ะ ไปดูกันเลย

มาทำความรู้จัก หวัดลงกระเพาะ หรือ ไวรัสลงกระเพาะ

จากกรณีที่คุณหมอได้พบ มีเด็กหญิงคนหนึ่ง อายุ 3 ขวบ มาหาคุณหมอด้วยอาการที่มีไข้ต่ำๆ ปวดท้องอย่างรุนแรง คลื่นไส้อาเจียน ทานอะไรไม่ได้เลย ไอ และมีน้ำมูกนิดหน่อย คุณหมอจึงวินิจฉัยลงความเห็นเด็กคนนี้ว่าเป็นหวัดลงกระเพาะหรือไวรัสลงกระเพาะ
แต่หากก่อนหน้าที่ยังไม่มาพบคุณหมอ แล้วพ่อคุณแม่จะมีวิธีสังเกตอย่างไร? จะรู้ได้อย่างไร? ไปติดตามในรายละเอียดกันค่ะ

อาการของหวัดลงกระเพาะหรือไวรัสลงกระเพาะ

หากคุณพ่อคุณแม่เห็นว่าลูกไม่สบายและมีอาการต่างๆ ดังที่จะกล่าวต่อไปนี้ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยค่ะว่าอาจเป็นหวัดลงกระเพาะหรือไวรัสลงกระเพาะได้

  • มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง
  • คลื่นไส้
  • อาเจียนทานอะไรไม่ได้
  • มีไข้ต่ำๆ
  • ปวดหัวหรือ เวียนหัว
  • ไอเล็กน้อย มีน้ำมูกใส (ซึ่งอาจไม่ได้มีอาการนี้ในทุกครั้งที่เป็นหวัด)

คุณหมอจะวินิจฉัยได้อย่างไรว่าเป็นไวรัสลงกระเพาะ

  • ดูจากประวัติอาการที่ผ่านมา
  • ตรวจร่างกายโดยรวมและดูอาการที่เข้าได้กับโรค
  • ประวัติการระบาดของโรค
  • การสัมผัสหรือคลุกคลีกับผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้

แต่ทั้งนี้ คุณหมออาจมีการวินิจฉัยให้ละเอียดมากยิ่งขึ้นด้วยการ

  • นำอุจจาระผู้ป่วยไปตรวจด้วย rapid test เพื่อหาเชื้อ norovirusและ rotavirus แต่หากเป็นไวรัสตัวอื่น การตรวจจะมีความยุ่งยากมากกว่านี้
  • หรือ อาจส่งอุจจาระเพื่อไปตรวจหาเชื้อไวรัสตัวอื่น เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสีย ซึ่งอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย หรือ พยาธิบางชนิด

วิธีรักษาไวรัสลงกระเพาะ

ต้องบอกว่าโรคนี้ยังไม่มียาที่จะสามารถกำจัดเชื้อไวรัสซึ่งเป็นสาเหตุของโรคได้โดยตรง ดังนั้น การรักษาจึงต้องเป็น “การรักษาตามอาการ” และเน้นการป้องกันการขาดน้ำ หากทานได้ก็ควรดื่มน้ำเกลือแร่ในปริมาณที่เยอะหน่อย ทานอาหารอ่อน อาทิ ข้าวต้ม พักผ่อนให้มาก และทานยาตามที่คุณหมอสั่ง เช่น ยาลดอาการคลื่นไส้ เป็นต้น

เมื่อไหร่ที่ต้องพาลูกไปพบคุณหมอ

  • ดื่มน้ำหรือทานอาหารไม่ได้เลย
  • อาเจียนมาก หรืออาเจียนแล้วมีเลือดปน
  • มีอาการขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ตาโหล ไม่ปัสสาวะ หรือปัสสาวะน้อย มีอาการซึม อ่อนเพลีย เวียนหัว
  • มีไข้สูง โดยเฉพาะหากมากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส

ป้องกันอย่างไร

คุณพ่อคุณแม่คงพอรู้รายละเอียดเกี่ยวกับโรคนี้มาประมาณนึงแล้ว คงอยากรู้แล้วใช่มั้ยคะว่าเราจะมีวิธีป้องกันไม่ให้ลูกเป็นไวรัสลงกระเพาะได้หรือไม่ อย่างไร ไปดูกันค่ะ

  • พาลูกไปรับวัคซีนป้องกันเชื้อ rotavirus ตั้งแต่ยังเป็นทารก
  • สอนให้ลูกรู้จักดูแลสุขอนามัยของตนเอง เพื่อเป็นการป้องกันโรค โดย…
  • ล้างมือให้สะอาดและถูกวิธีทั้งก่อนและหลังทานอาหาร โดยเฉพาะหลังเข้าห้องน้ำ โดยใช้สบู่ล้างมือ ถูกให้ทั่วมือ รวมถึงซอกนิ้ว ควรล้างอย่างน้อย 20 วินาที
  • ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ ชาม ช้อน หรือผ้าเช็ดตัว เป็นต้น
  • พยายามอยู่ให้ห่างหรือไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย

ดูเผินแล้วอาการของหวัดลงกระเพาะหรือไวรัสลงกระเพาะดูจะไม่ค่อยต่างจากหวัดธรรมเท่าไหร่ แต่ความรุนแรงของไวรัสลงกระเพาะนี้จะเป็นเรื่องของการปวดท้องอย่างรุนแรง อาเจียน ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่ไม่แน่ใจว่าลูกเป็นหวัดธรรมดาหรือหวัดลงกระเพาะ แนะนำควรพาไปพบคุณหมอ เพื่อให้คุณหมอวินิจฉัย และรับการรักษาที่ถูกต้องดีกว่านะคะ เพราะหากปล่อยไว้จนลูกมีอาการซึม อ่อนเพลีย ปัสสาวะน้อย เสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดน้ำ หากเป็นมากอาจถึงขั้นช็อคหมดสติได้ค่ะ