Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

สถานการณ์ไข้เลือดออก 2561 ตาย 18 คน เป็นทารก 1 คน

ปกติแล้วโรคไข้เลือดออกมักจะพบมากในหน้าฝน แต่ล่าสุดกองควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมากล่าวแสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับสถานการณ์ล่าสุดของโรคไข้เลือดออกนี้ พบว่าแม้ช่วงนี้ยังไม่ใช่หน้าฝนและมีจำนวนผู้ป่วยใกล้เคียงกันทุกปี แต่พบว่าขณะนี้มีอัตราผู้ป่วยเสียชีวิตมากขึ้น โดยเฉพาะ “ภาคกลาง” และ “ภาคใต้” ที่พบว่ามีอัตราการป่วยตายมากกว่าปกติถึง 2 เท่า หากคุณพ่อคุณแม่ไม่แน่ใจว่าลูกน้อยจะเป็นไข้เลือดออกหรือไม่ สามารถพาไปพบคุณหมอก่อนได้นะคะ เพื่อความมั่นใจ และกลุ่มที่ต้องใส่ใจเรื่องการดูแลเป็นพิเศษคือ “กลุ่มผู้มีโรคประจำตัวหรือภาวะเสี่ยง” ซึ่งปีนี้พบผู้เสียชีวิตจากกลุ่มนี้มากถึง 3 ใน 4 ของผู้เสียงชีวิตทั้งหมด

สถิติผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก ปี 2561

เมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา นายแพทย์ สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากรายงานของสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง พบว่า ในปี 2561 นี้ พบว่ามีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้ว 6,565 ราย ซึ่งก็เป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกับทุกปีในช่วงเวลาเดียวกัน และได้รับรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตแล้ว 18 ราย โดยผู้เสียชีวิตมีโรคประจำตัวหรือมีภาวะเสี่ยง 14 ราย (3 ใน 4 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด) ได้แก่ ภาวะอ้วน 4 ราย เบาหวานและความดันสูง 2 ราย โรคเลือด 2 ราย ลมชักและบกพร่องทางสติปัญญา 2 ราย ติดสุรา 1 ราย ลิ้นหัวใจรั่ว 1 ราย ทารก 1 ราย และอยู่ระหว่างการมีประจำเดือน 1 ราย

จังหวัดที่พบผู้ป่วยไข้เลือดออก

จังหวัดที่พบว่ามีอัตราผู้ป่วยสูงสุด 10 อันดับแรกในช่วง 4 สัปดาห์ล่าสุด ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี ระนอง ระยอง นครศรีธรรมราช และพิจิตร ตามลำดับ

ทั้งนี้ สถานการณ์โดยรวมของโรคไข้เลือดออกในภาพรวมของประเทศไทยนี้ยังคงมีแนวโน้มว่าจะระบาดรุนแรง จากข้อมูลพบว่ามีอัตราป่วยตายสูงขึ้นจากปกติ โดยเฉพาะภาคกลางและภาคใต้ที่มีอัตราการป่วยตายร้อยละ 0.25 และ 0.26 ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าปกติประมาณ 2 เท่า (อัตราป่วยตายปกติ 0.1)

มาตรการป้องกันโรคไข้เลือดออก จาก กองควบคุมโรค

แม้ว่าช่วงนี้ยังไม่ใช่หน้าฝนก็ตาม แต่เนื่องจากสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย ร้อนสลับฝน จึงอาจทำให้เกิดน้ำขังเป็นช่วงๆ ในบริเวณต่างๆ ได้ ซึ่งอาจทำให้กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายได้ กองควบคุมโรคจึงขอความร่วมมือประชาชนให้ใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ

  1. เก็บบ้านให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง
  2. เก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
  3. เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิด หรือปล่อยปลากินลูกน้ำ ป้องกันยุงลายไปวางไข่

…เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลายค่ะ

อาการที่สงสัยว่าจะเป็นไข้เลือดออก

นอกจากนี้ กองควบคุมโรคได้สั่งการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 เขต และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมืองให้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนทั้งในส่วนของมาตรการและการป้องกันโรค

หากประชาชนหรือคนในครอบครัว โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวหรือภาวะเสี่ยงมีอาการดังนี้

  1. มีไข้สูงมากโดยเฉียบพลัน และไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน
  2. ปวดเมื่อยตามตัว
  3. หน้าตาแดง
  4. อาจมีผื่นขึ้นตามแขน ขา หรือข้อพับ

…ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าอาจเป็นไข้เลือดออก ควรรีบพาไปพบคุณหมอทันที เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงทีนะคะ หรือหากยังมีข้อสงสัย สามารถโทรไปสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 ได้

กรณีไหนที่ต้องส่งโรงพยาบาลโดยด่วน

สำหรับบางคนอาจมีอาการอาเจียน อ่อนเพลียร่วมด้วย แต่ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก แต่มีกรณีไหนบ้างที่ต้องนำส่งโรงพยาบาลเป็นการด่วน

  1. ผู้ป่วยมีอาการซึมมากขึ้น
  2. ทานอาหารหรือดื่มน้ำได้น้อยลง
  3. มีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียนตลอดเวลา
  4. เลือดออกมากผิดปกติ เช่น เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำมีเลือดปน
  5. ปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ปัสสาวะเลยในช่วง 4-6 ชั่วโมง
  6. ตัวเย็น เหงื่ออก สีผิวล้ำลง อาจเกิดอาการช็อคได้

คุณพ่อคุณแม่ได้ทราบข้อมูลกันอย่างนี้แล้ว อย่าลืมดูแลใส่ใจลูกน้อย และคนที่คุณรักกันนะคะ