Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

แม่ต้องกลับไปทำงาน เตรียมอะไรให้ลูกบ้าง

ประสบการณ์จากแม่ไก่

ประสบการณ์จากแม่ไก่

ไก่มีลูกชายคนแรกเมื่อปี 2554 ปีนั้นเป็นปีที่น้ำท่วมกรุงเทพฯ ครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในชีวิตตั้งแต่เติบโตมาไม่เคยเจอน้ำท่วมหนักขนาดนั้น บ้านที่อาศัยอยู่โดนน้ำท่วม ตอนนั้นลูกชายอายุ 6 เดือน ถือเป็นช่วงที่ยากลำบากมากช่วงหนึ่ง เป็นเหตุผลเดียวที่ตัดสินใจได้ไม่ยากเลย ว่าเราต้องอพยพออกจากบ้าน เพราะเราจินตนาการไม่ออกเลยว่าถ้าเรายังคงอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมแล้วลูกเราจะเป็นอย่างไร เพราะเราต้องการอาหาร น้ำสะอาด และสภาพที่ห่างไกลจากการทำให้ลูกป่วย เราจึงย้ายไปอยู่บ้านญาติที่ต่างจังหวัดตลอด 3 เดือนที่น้ำยังคงท่วมอยู่ไก่ว่าความเป็นแม่ ความอดทน การเสียสละต้องมาก่อนเลย ก็เรารักเขานี่นา

การเลี้ยงลูกช่วงลาคลอด

“ปรับตัวในการเลี้ยงลูกช่วงแรกอย่างไร?”

เราไม่เคยรู้ซึ้งเลยว่าแม่ของเราเหนื่อยมากแค่ไหน กว่าจะเลี้ยงเรามาจนเติบโตได้ จนถึงวันที่เราได้เป็นแม่เอง ชีวิตการเป็น “แม่” หลังจากที่เราอุ้มท้องลูกน้อยมา 40 วีค จนถึงวันที่ลูกน้อยลืมตาดูโลก เสียงร้องแรกของลูก ลมหายใจแรกของลูก ท่ามกลางคุณหมอในห้องคลอด คุณจำได้ไหม น้ำตาแห่งความปีติยินดีนั้นมันไหลออกมาเป็นอัตโนมัติ ใจเรามันบอกเลยว่าดีใจเหลือเกิน ยินดีต้อนรับสมาชิกใหม่และพร้อมที่จะดูแลสิ่งมีชีวิตน้อยๆ นี้อย่างดีที่สุดเท่าที่แม่คนหนึ่งจะทำได้ แต่การปรับตัวในช่วงแรกก็ไม่ง่ายเลยสำหรับแม่มือใหม่…

การดูแลตัวเอง

  1. รักษาแผลผ่าตัดไม่ให้โดนน้ำ ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
  2. ไม่ทานของที่จะแสลงกับโรค เช่น ของหมักดอง
  3. รับประทานของที่ดีมีประโยชน์ เพื่อบำรุงร่างกายเพื่อสร้างน้ำนมให้ลูกน้อย

ด้วยการที่เราผ่าคลอดลูกคนแรก ซึ่งแผลจากการผ่าตัดต้องอาศัยเวลาในการพักฟื้นค่อนข้างนานกว่าการคลอดตามธรรมชาติ ช่วงประมาณ 1 เดือนหลังจากผ่าคลอด จำเป็นมากที่ต้องมีคนช่วยเลี้ยงช่วยดูแลลูก และช่วยดูแลตัวเราเองด้วย เพราะช่วง 1 สัปดาห์หลังคลอด คุณแม่หลังคลอดอาจจะยังเคลื่อนไหวได้ลำบากเนื่องจากแผลผ่าตัดยังไม่หายดี ยังเจ็บยังระบมที่แผลอยู่มาก แต่ถึงจะเจ็บอย่างไรก็ต้องพยายามเคลื่อนไหวเพราะต้องดูแลลูกน้อยของเรา ไก่โชคดีที่แม่สามีมาช่วยดูแลลูกด้วยกัน เรียกตามหลานว่า “คุณย่า” คุณย่าจะคอยช่วยช่วงกลางวัน โดยจะคอยช่วยดูแลหากับข้าวกับปลาให้เรา ช่วงแรกคุณย่าต้มน้ำผสมสมุนไพรให้เราอาบจำได้ว่ามี ใบมะขามอ่อน ตะไคร้ หัวหอมแดง บอกว่าให้ใช้อาบน้ำ จะช่วยให้ไม่หนาว เราก็อาบไปคิดว่านี่เหมือนเครื่องต้มยำเลยนะ แต่อาบแล้วช่วยให้โล่งจมูกดี นอกจากนี้ คุณย่ายังช่วยเตรียมเครื่องใช้ของลูก ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมล้างเครื่องใช้ต่างๆ การซักผ้าอ้อม และอีกจิปาถะ ต้องกราบขอบพระคุณคุณย่าของหลาน (คุณแม่สามี) ที่ช่วยเลี้ยงหลานและดูแลเรา ไม่อย่างนั้นเราคงจะผ่านช่วงนั้นมาได้ยาก

การดูแลลูก

  1. การเรียนรู้หาข้อมูลในการเลี้ยงดู
    ไก่จะมีหนังสือคู่ใจอยู่ 1 เล่ม จะอ่านแนวทางการเลี้ยงดูลูกไว้ก่อนว่าเด็กในช่วงตั้งแต่แรกเกิดถึงสามเดือนเขาเป็นอย่างไร มีพัฒนาการอย่างไร เวลาหิวเขาจะแสดงออกแบบไหนได้บ้าง เวลาปวดท้องจะถ่ายหรือฉี่จะเป็นแบบไหน อารมณ์ของลูกเป็นอย่างไร ความสามารถของลูกจะพัฒนาไปได้อย่างไรบ้าง
  2. การสังเกตพฤติกรรมของลูก: การกิน การนอน การขับถ่าย
    เริ่มแรกเลยคือการบันทึกเวลา ตั้งแต่ลูกตื่น ตื่นแล้วทำอะไร ตื่นเพราะความหิว หรือมีอะไรรบกวนให้ตื่น อยากอึ อยากฉี่รึเปล่า หรือปวดท้อง วันหนึ่งๆ กินนมกี่รอบ ทุกๆ กี่ชัวโมง อึกี่รอบ ฉี่กี่รอบ เสียงร้องแสดงความต้องการจะแตกต่างกันไปต้องพยายามจับสังเกตดู นาฬิกาชีวิตลูกกำหนดชีวิตแม่ ลูกจะต้องกินนมทุกๆ 2-3 ชม.
  3. ปรึกษาผู้รู้
    ถ้าเกิดเหตุอะไรที่แก้ไขไม่ได้ให้ไปพบแพทย์ เช่น ลูกร้องไม่หยุดโดยหาสาเหตุไม่ได้ ร้องด้วยความเจ็บปวด อาจจะเป็นเกี่ยวกับช่องท้อง ให้พาไปหาหมอเพื่อตรวจวินิจฉัยดีกว่าเพราะลูกยังเล็กให้ใกล้หมอไว้อุ่นใจกว่า

“ทำไมช่วง 0-3 เดือนแรกต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะอะไร?”

ช่วง 0-3 เดือน เป็นช่วงที่เรียกว่าประคบประหงมมาก เพราะว่าไม่อยากให้เขาเจ็บป่วยเลย เพราะลูกยังบอกอะไรไม่ได้ สื่อสารด้วยการร้องได้อย่างเดียว ถ้าเจ็บป่วยขึ้นมาจะลำบาก

วางแผนเรื่องน้ำนมก่อนกลับไปทำงาน

“น้ำนมจะพอสำหรับลูกน้อยไหม?”

เริ่มแรกตั้งใจว่าจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ต้องให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียว พยายามหาวิธีเพิ่มให้มีน้ำนมเยอะๆ กินยาประสะน้ำนม ตรา “แม่เลื่อน” เขาว่าช่วยได้ก็หามากิน กินขิง กินแกงเลียง กินของดีมีประโยชน์ เพื่อให้ลูกได้มีน้ำนมกินเยอะๆ หมอบอกว่าให้ลูกดูดนมจากเต้าจะช่วยกระตุ้นให้การผลิตน้ำนมเยอะขึ้นตามความต้องการของลูกเอง ให้ดูดให้เกลี้ยงเต้าทีละรอบสลับกันทีละข้าง

“เพราะอะไรจึงต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่?”

นมแม่คืออาหารสุดวิเศษสำหรับลูกน้อย อุดมไปด้วยสารอาหารที่ทารกต้องการมีทั้งภูมิต้านทานโรค และที่สำคัญผลิตได้เองจากเต้าจึงสดใหม่เสมอ เราอยากมีสต๊อกนมหลังจากช่วงที่ลาคลอด 3 เดือนแต่ว่าเราเป็นคนน้ำนมน้อย ผลิตอยู่แค่ 3 เดือนแรก พอกลับไปทำงานน้ำนมก็ค่อยๆ หดหาย ด้วยสถานที่ทำงานไม่เอื้อกับการต้องคอยมาปั๊มนมทุกๆ 3 ชม. ถ้าสถานที่ทำงานไหนที่เปิดกว้างให้คุณแม่มีเวลาได้ปั๊มนมถือว่าโชคดีมากๆ เมื่อเราไม่ได้ปั๊มอย่างสม่ำเสมอก็ทำให้น้ำนมหดหายไปตามกาลเวลา

ช่วงเวลาการปั๊มนม

“เราจะปั๊มนมเวลาไหนบ้าง?”

อย่างแรกเลย อยากให้กำลังใจกับคุณแม่ที่ต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทุกๆ คน ต้องอดทน และมีวินัยให้มากๆ ถ้าน้ำนมมาได้ที่อยู่ตัวแล้ว คุณต้องรักษาช่วงเวลาการปั๊มให้เหมาะสม ให้ปั๊มเหมือนเวลาที่ต้องให้ลูกกินนม คือ ทุกๆ 2-3 ชั่วโมง และต้องปั๊มให้เกลี้ยงเต้า

“เพราะอะไร?”

เพราะการรักษาวินัย เวลาในการปั๊ม และความอดทน จะทำให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของคุณประสบความสำเร็จอย่างงดงาม

เทคนิคการรักษาปริมาณน้ำนม

“ทำอย่างไรให้ปริมาณน้ำนมเพียงพอ?”

เมื่อเริ่มทำสต๊อกน้ำนม ควรเขียนวันที่ไว้ที่ถุงเก็บทุกถุง และเวลานำน้ำนมออกมาใช้ก็ให้ใช้ถุงแรกเรียงลำดับไปเรื่อยๆ ระหว่างวันจิบน้ำอุ่นบ่อยๆ จิบเป็นประจำทั้งวัน หรือจะชงเป็นน้ำขิงอุ่นๆ ก็ได้ ทานอาหารที่ดีมีประโยชน์เพื่อให้ลูกได้สารอาหารครบถ้วน ได้น้ำนมคุณภาพดี หาเวลาพักผ่อนให้ตัวเองด้วย ที่สำคัญอย่าเครียด เพราะความเครียดจะยับยั้งการผลิตน้ำนม ทำตัวให้ผ่อนคลายอยู่เสมอ (แม้จะยากบ้าง แต่ต้องทำนะคะ เพื่อตัวคุณเองและลูกน้อย)

การเตรียมตัวก่อนกลับไปทำงาน คุณแม่ต้องเตรียมทุกอย่างให้พร้อมสำหรับลูกน้อย หาตัวแทนที่จะฝากดูแลลูกเราเมื่อเราต้องห่างไปทำงาน ถ้ามีญาติผู้ใหญ่ก็พอจะอุ่นใจ หรือถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไรค่ะ ด้วยสัญชาตญาณความเป็นแม่ต้องหาที่และคนที่ดูแลลูกของเราได้เป็นอย่างดี ถ้าทำสต๊อกนมพร้อมก็รันการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไปได้เรื่อยๆ แต่ตอนไปทำงานก็พยายามหาเวลาปั๊มนมให้ได้ตามเวลาที่กำหนดด้วยนะ จะได้ผลิตได้อย่างต่อเนื่อง ขอให้โชคดี เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สมดังตั้งใจ