แม่ต้องกลับไปทำงาน เตรียมอะไรให้ลูกบ้าง

แม่แชร์ประสบการณ์
JESSIE MUM

ประสบการณ์จากแม่ไก่

ไก่มีลูกชายคนแรกเมื่อปี 2554 ปีนั้นเป็นปีที่น้ำท่วมกรุงเทพฯ ครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในชีวิตตั้งแต่เติบโตมาไม่เคยเจอน้ำท่วมหนักขนาดนั้น บ้านที่อาศัยอยู่โดนน้ำท่วม ตอนนั้นลูกชายอายุ 6 เดือน ถือเป็นช่วงที่ยากลำบากมากช่วงหนึ่ง เป็นเหตุผลเดียวที่ตัดสินใจได้ไม่ยากเลย ว่าเราต้องอพยพออกจากบ้าน เพราะเราจินตนาการไม่ออกเลยว่าถ้าเรายังคงอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมแล้วลูกเราจะเป็นอย่างไร เพราะเราต้องการอาหาร น้ำสะอาด และสภาพที่ห่างไกลจากการทำให้ลูกป่วย เราจึงย้ายไปอยู่บ้านญาติที่ต่างจังหวัดตลอด 3 เดือนที่น้ำยังคงท่วมอยู่ไก่ว่าความเป็นแม่ ความอดทน การเสียสละต้องมาก่อนเลย ก็เรารักเขานี่นา

การเลี้ยงลูกช่วงลาคลอด

“ปรับตัวในการเลี้ยงลูกช่วงแรกอย่างไร?”

เราไม่เคยรู้ซึ้งเลยว่าแม่ของเราเหนื่อยมากแค่ไหน กว่าจะเลี้ยงเรามาจนเติบโตได้ จนถึงวันที่เราได้เป็นแม่เอง ชีวิตการเป็น “แม่” หลังจากที่เราอุ้มท้องลูกน้อยมา 40 วีค จนถึงวันที่ลูกน้อยลืมตาดูโลก เสียงร้องแรกของลูก ลมหายใจแรกของลูก ท่ามกลางคุณหมอในห้องคลอด คุณจำได้ไหม น้ำตาแห่งความปีติยินดีนั้นมันไหลออกมาเป็นอัตโนมัติ ใจเรามันบอกเลยว่าดีใจเหลือเกิน ยินดีต้อนรับสมาชิกใหม่และพร้อมที่จะดูแลสิ่งมีชีวิตน้อยๆ นี้อย่างดีที่สุดเท่าที่แม่คนหนึ่งจะทำได้ แต่การปรับตัวในช่วงแรกก็ไม่ง่ายเลยสำหรับแม่มือใหม่…

การดูแลตัวเอง

  1. รักษาแผลผ่าตัดไม่ให้โดนน้ำ ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
  2. ไม่ทานของที่จะแสลงกับโรค เช่น ของหมักดอง
  3. รับประทานของที่ดีมีประโยชน์ เพื่อบำรุงร่างกายเพื่อสร้างน้ำนมให้ลูกน้อย

ด้วยการที่เราผ่าคลอดลูกคนแรก ซึ่งแผลจากการผ่าตัดต้องอาศัยเวลาในการพักฟื้นค่อนข้างนานกว่าการคลอดตามธรรมชาติ ช่วงประมาณ 1 เดือนหลังจากผ่าคลอด จำเป็นมากที่ต้องมีคนช่วยเลี้ยงช่วยดูแลลูก และช่วยดูแลตัวเราเองด้วย เพราะช่วง 1 สัปดาห์หลังคลอด คุณแม่หลังคลอดอาจจะยังเคลื่อนไหวได้ลำบากเนื่องจากแผลผ่าตัดยังไม่หายดี ยังเจ็บยังระบมที่แผลอยู่มาก แต่ถึงจะเจ็บอย่างไรก็ต้องพยายามเคลื่อนไหวเพราะต้องดูแลลูกน้อยของเรา ไก่โชคดีที่แม่สามีมาช่วยดูแลลูกด้วยกัน เรียกตามหลานว่า “คุณย่า” คุณย่าจะคอยช่วยช่วงกลางวัน โดยจะคอยช่วยดูแลหากับข้าวกับปลาให้เรา ช่วงแรกคุณย่าต้มน้ำผสมสมุนไพรให้เราอาบจำได้ว่ามี ใบมะขามอ่อน ตะไคร้ หัวหอมแดง บอกว่าให้ใช้อาบน้ำ จะช่วยให้ไม่หนาว เราก็อาบไปคิดว่านี่เหมือนเครื่องต้มยำเลยนะ แต่อาบแล้วช่วยให้โล่งจมูกดี นอกจากนี้ คุณย่ายังช่วยเตรียมเครื่องใช้ของลูก ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมล้างเครื่องใช้ต่างๆ การซักผ้าอ้อม และอีกจิปาถะ ต้องกราบขอบพระคุณคุณย่าของหลาน (คุณแม่สามี) ที่ช่วยเลี้ยงหลานและดูแลเรา ไม่อย่างนั้นเราคงจะผ่านช่วงนั้นมาได้ยาก

การดูแลลูก

  1. การเรียนรู้หาข้อมูลในการเลี้ยงดู
    ไก่จะมีหนังสือคู่ใจอยู่ 1 เล่ม จะอ่านแนวทางการเลี้ยงดูลูกไว้ก่อนว่าเด็กในช่วงตั้งแต่แรกเกิดถึงสามเดือนเขาเป็นอย่างไร มีพัฒนาการอย่างไร เวลาหิวเขาจะแสดงออกแบบไหนได้บ้าง เวลาปวดท้องจะถ่ายหรือฉี่จะเป็นแบบไหน อารมณ์ของลูกเป็นอย่างไร ความสามารถของลูกจะพัฒนาไปได้อย่างไรบ้าง
  2. การสังเกตพฤติกรรมของลูก: การกิน การนอน การขับถ่าย
    เริ่มแรกเลยคือการบันทึกเวลา ตั้งแต่ลูกตื่น ตื่นแล้วทำอะไร ตื่นเพราะความหิว หรือมีอะไรรบกวนให้ตื่น อยากอึ อยากฉี่รึเปล่า หรือปวดท้อง วันหนึ่งๆ กินนมกี่รอบ ทุกๆ กี่ชัวโมง อึกี่รอบ ฉี่กี่รอบ เสียงร้องแสดงความต้องการจะแตกต่างกันไปต้องพยายามจับสังเกตดู นาฬิกาชีวิตลูกกำหนดชีวิตแม่ ลูกจะต้องกินนมทุกๆ 2-3 ชม.
  3. ปรึกษาผู้รู้
    ถ้าเกิดเหตุอะไรที่แก้ไขไม่ได้ให้ไปพบแพทย์ เช่น ลูกร้องไม่หยุดโดยหาสาเหตุไม่ได้ ร้องด้วยความเจ็บปวด อาจจะเป็นเกี่ยวกับช่องท้อง ให้พาไปหาหมอเพื่อตรวจวินิจฉัยดีกว่าเพราะลูกยังเล็กให้ใกล้หมอไว้อุ่นใจกว่า

“ทำไมช่วง 0-3 เดือนแรกต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะอะไร?”

ช่วง 0-3 เดือน เป็นช่วงที่เรียกว่าประคบประหงมมาก เพราะว่าไม่อยากให้เขาเจ็บป่วยเลย เพราะลูกยังบอกอะไรไม่ได้ สื่อสารด้วยการร้องได้อย่างเดียว ถ้าเจ็บป่วยขึ้นมาจะลำบาก

วางแผนเรื่องน้ำนมก่อนกลับไปทำงาน

“น้ำนมจะพอสำหรับลูกน้อยไหม?”

เริ่มแรกตั้งใจว่าจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ต้องให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียว พยายามหาวิธีเพิ่มให้มีน้ำนมเยอะๆ กินยาประสะน้ำนม ตรา “แม่เลื่อน” เขาว่าช่วยได้ก็หามากิน กินขิง กินแกงเลียง กินของดีมีประโยชน์ เพื่อให้ลูกได้มีน้ำนมกินเยอะๆ หมอบอกว่าให้ลูกดูดนมจากเต้าจะช่วยกระตุ้นให้การผลิตน้ำนมเยอะขึ้นตามความต้องการของลูกเอง ให้ดูดให้เกลี้ยงเต้าทีละรอบสลับกันทีละข้าง

“เพราะอะไรจึงต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่?”

นมแม่คืออาหารสุดวิเศษสำหรับลูกน้อย อุดมไปด้วยสารอาหารที่ทารกต้องการมีทั้งภูมิต้านทานโรค และที่สำคัญผลิตได้เองจากเต้าจึงสดใหม่เสมอ เราอยากมีสต๊อกนมหลังจากช่วงที่ลาคลอด 3 เดือนแต่ว่าเราเป็นคนน้ำนมน้อย ผลิตอยู่แค่ 3 เดือนแรก พอกลับไปทำงานน้ำนมก็ค่อยๆ หดหาย ด้วยสถานที่ทำงานไม่เอื้อกับการต้องคอยมาปั๊มนมทุกๆ 3 ชม. ถ้าสถานที่ทำงานไหนที่เปิดกว้างให้คุณแม่มีเวลาได้ปั๊มนมถือว่าโชคดีมากๆ เมื่อเราไม่ได้ปั๊มอย่างสม่ำเสมอก็ทำให้น้ำนมหดหายไปตามกาลเวลา

ช่วงเวลาการปั๊มนม

“เราจะปั๊มนมเวลาไหนบ้าง?”

อย่างแรกเลย อยากให้กำลังใจกับคุณแม่ที่ต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทุกๆ คน ต้องอดทน และมีวินัยให้มากๆ ถ้าน้ำนมมาได้ที่อยู่ตัวแล้ว คุณต้องรักษาช่วงเวลาการปั๊มให้เหมาะสม ให้ปั๊มเหมือนเวลาที่ต้องให้ลูกกินนม คือ ทุกๆ 2-3 ชั่วโมง และต้องปั๊มให้เกลี้ยงเต้า

“เพราะอะไร?”

เพราะการรักษาวินัย เวลาในการปั๊ม และความอดทน จะทำให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของคุณประสบความสำเร็จอย่างงดงาม

เทคนิคการรักษาปริมาณน้ำนม

“ทำอย่างไรให้ปริมาณน้ำนมเพียงพอ?”

เมื่อเริ่มทำสต๊อกน้ำนม ควรเขียนวันที่ไว้ที่ถุงเก็บทุกถุง และเวลานำน้ำนมออกมาใช้ก็ให้ใช้ถุงแรกเรียงลำดับไปเรื่อยๆ ระหว่างวันจิบน้ำอุ่นบ่อยๆ จิบเป็นประจำทั้งวัน หรือจะชงเป็นน้ำขิงอุ่นๆ ก็ได้ ทานอาหารที่ดีมีประโยชน์เพื่อให้ลูกได้สารอาหารครบถ้วน ได้น้ำนมคุณภาพดี หาเวลาพักผ่อนให้ตัวเองด้วย ที่สำคัญอย่าเครียด เพราะความเครียดจะยับยั้งการผลิตน้ำนม ทำตัวให้ผ่อนคลายอยู่เสมอ (แม้จะยากบ้าง แต่ต้องทำนะคะ เพื่อตัวคุณเองและลูกน้อย)

การเตรียมตัวก่อนกลับไปทำงาน คุณแม่ต้องเตรียมทุกอย่างให้พร้อมสำหรับลูกน้อย หาตัวแทนที่จะฝากดูแลลูกเราเมื่อเราต้องห่างไปทำงาน ถ้ามีญาติผู้ใหญ่ก็พอจะอุ่นใจ หรือถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไรค่ะ ด้วยสัญชาตญาณความเป็นแม่ต้องหาที่และคนที่ดูแลลูกของเราได้เป็นอย่างดี ถ้าทำสต๊อกนมพร้อมก็รันการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไปได้เรื่อยๆ แต่ตอนไปทำงานก็พยายามหาเวลาปั๊มนมให้ได้ตามเวลาที่กำหนดด้วยนะ จะได้ผลิตได้อย่างต่อเนื่อง ขอให้โชคดี เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สมดังตั้งใจ

Featured post

โพสต์ที่อยากให้คุณแม่อ่าน

  1. 346 ชื่อจีนความหมายดี ๆ มีให้ลูกสาวและลูกชาย

  2. วิธีสต๊อก นมแม่ และการจัดเรียงให้ประหยัดเนื้อที่ในตู้เย็น

  3. 10 อาหารว่างคนท้อง และลูกน้อยในครรภ์

  4. หน้า 7 หลัง 7 คืออะไร? นับยังไง ไม่ท้องจริงหรือ

  5. 12 กลุ่มดาวจักรราศี มีอะไรบ้าง พร้อมเลขมงคลปี 2564

  6. 10 นิทานอีสป กับ 10 หนังสือนิทาน 2 ภาษา ปลูกฝังเรื่องราวดี ๆ สอนใจเด็ก ๆ

  7. ความฉลาด 11 ด้าน หรือ 11Q (11 Quotients) ที่เด็กยุคใหม่ควรมี

  8. 14 นิทานพื้นบ้านของไทย สอนใจเด็กได้ดี

หมวดหมู่โพสต์

บทความล่าสุด

  1. เช็คลิสต์ “ของเตรียมคลอด” “ของใช้เด็ก” “ของใช้หลังคลอด” เพื่อใช้หลังคลอดที่จำเป็น

  2. 8 อาหารที่แม่ให้นมห้ามทาน

  3. แนะวิธีเพิ่มปริมาณน้ำนมแม่อย่างถูกวิธี

  4. รีวิว นมกล่อง UHT สำหรับเด็ก 10 ยี่ห้อ เปรียบเทียบกันตัวต่อตัว ยี่ห้อไหนดี พร้อมแนะวิธีการเลือกนมกล่องให้ลูก

  5. White Noise เสียงคลื่นความถี่ที่กล่อมลูกให้หลับฝันดี เพิ่มสมาธิได้อีกด้วย

รีวิวผลิตภัณฑ์แม่และเด็ก

  1. รีวิว นมกล่อง UHT สำหรับเด็ก 10 ยี่ห้อ เปรียบเทียบกันตัวต่อตัว ยี่ห้อไหนดี พร้อมแนะวิธีการเลือกนมกล่องให้ลูก

  2. เปรียบเทียบนมผงสูตร 1 ในท้องตลาด สารอาหารที่น่าสนใจ

  3. 4 แปรงสีฟันเด็กยุคใหม่ แบรนด์ไหนใช้ดี เทียบแบรนด์ต่อแบรนด์

  4. รีวิวเปรียบเทียบชัดๆ ล้างจมูกให้ลูกด้วย Hashi Plus VS ไซริงค์

  5. รีวิว แชมพูสบู่เหลว Head to toe 5 แบรนด์ เทียบกันแบรนด์ต่อแบรนด์

  6. รีวิว นมผง สำหรับลูกน้อย 11 ยี่ห้อ ละเอียดยิบ ปี 2566 พร้อมหลักการเลือกซื้อนมผงให้ลูกน้อย

  7. 12 คาร์ซีท ยี่ห้อไหนดี 2023 ปลอดภัย คุ้มค่า คุ้มราคา

  8. 10 แป้งเด็ก ยี่ห้อไหนดี 2023 ปกป้อง อ่อนโยนต่อผิวลูก

  9. 10 เครื่องปั๊มนม ยี่ห้อไหนดี ปี 2023 ใช้งานง่าย ปั๊มเกลี้ยงเต้า

  10. 10 เบบี้โลชั่น ยี่ห้อไหนใช้ดี 2023 เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวลูกได้ดั่งใจแม่

ท่องเที่ยวกับครอบครัว

  1. 5 ที่เที่ยวปีใหม่ใกล้กรุงเทพ 2566 อิน ไม่มีเอ้าท์

  2. 5 พิกัดเช็คอิน ที่เที่ยวโคราช เมืองย่าโม

  3. 6 ที่เที่ยวเชียงใหม่ สำหรับครอบครัว ลูกแฮปปี้ พ่อแม่ดี๊ด๊า

  4. 5 พิกัด พาลูกเที่ยวญี่ปุ่น เปิดประสบการณ์การเรียนรู้

  5. 8 ที่เที่ยวครอบครัว หน้าหนาว ที่ไม่ควรพลาด

  6. 6 สถานที่พาลูกเที่ยว เรียนรู้ธรรมชาติ เสริมสร้างพัฒนาการ

TOP