Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ลูกไม่ยอมไปโรงเรียน อนุบาล พร้อม 7 วิธีรับมือ

ลูกไม่ยอมไปโรงเรียน อนุบาล พร้อม 7 วิธีรับมือ

เมื่อลูกน้อยอายุได้ประมาณ 3 – 4 ขวบ ซึ่งเป็นวัยที่ต้องเข้าเรียนในชั้นอนุบาล เด็กส่วนใหญ่ก็จะร้องไห้งอแงตั้งแต่วันแรก บางคนก็ร้องเอาวันที่ 3 บ้าง 4 บ้างก็มี เพราะเด็กในวัยนี้เค้าจะมีความกังวลเมื่อต้องแยกจากคุณพ่อคุณแม่ เพราะที่ผ่านมาเค้าอยู่กับคุณพ่อคุณแม่มาตลอด บางรายยอมไปโรงเรียนในช่วง 2 – 3 วันแรก พอวันต่อมาร้องไห้งอแงไม่อยากไปอีก เกิดเป็นภาวะไม่ยอมไปโรงเรียนได้

สาเหตุของภาวะไม่ยอมไปโรงเรียน

การที่ลูกร้องไห้ งอแง ไม่ยอมไปโรงเรียนนั้น สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

เกิดความกังวลว่าจะต้องห่างจากคนรัก

เพราะความที่ลูกน้อยไม่รู้ว่าที่โรงเรียน เขาจะต้องเจอกับอะไรบ้าง และต้องห่างจากคุณพ่อคุณแม่ จึงเป็นธรรมดาที่จะร้องไห้งอแงไม่อยากไปโรงเรียน ในเด็กบางรายมีพื้นฐานที่เป็นเด็กขี้วิตกกังวลอยู่แล้ว หรือได้รับการเลี้ยงดูมาแบบประคบประหงม ปกป้องมากเกินไป แบบนี้ก็จะมีแนวโน้มที่จะไม่อยากไปโรงเรียนได้ง่ายกว่าเด็กคนอื่น ๆ

มีปัญหาเกี่ยวกับการเรียน

ด้วยความที่เด็กแต่ละคนมีพื้นฐาน มีพัฒนาการที่ช้าเร็วต่างกัน เด็กบางคนอาจเรียนตามเพื่อนไม่ทัน จึงรู้สึกว่าไม่อยากไปโรงเรียนอีก

เข้ากับเพื่อนไม่ได้

อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญคือ การเข้ากับเพื่อนไม่ได้ มักชอบเล่นคนเดียว โดยมากมักจะเกิดจากการเลี้ยงดูที่ตามใจเกินไป อยากได้อะไรต้องได้ทันที ไม่รู้จักการแบ่งปัน ดังนั้น เวลาเล่นกับเพื่อนก็มักจะเอาของเล่นมาเล่นเองคนเดียวไม่แบ่งใคร

เคยถูกลงโทษอย่างรุนแรงที่โรงเรียน

ลูกมีประสบการณ์ที่ไม่ดีจากคุณครู ได้รับการลงโทษอย่างรุนแรง ทั้งที่ครูตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ จึงรู้สึกขยาดและหวาดกลัว ไม่อยากไปโรงเรียนได้เช่นเดียวกัน

ทำอย่างไรเมื่อลูกไม่อยากไปโรงเรียน

ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับเด็กเล็กที่จะรู้สึกกังวลใจหากต้องแยกจากคุณพ่อคุณแม่ เพื่อไปเข้าโรงเรียน และไม่ใช่เรื่องแปลกอีกเช่นกัน หากคุณพ่อคุณแม่จะมีความกังวล และห่วงลูกจนเก็บอาการไม่อยู่ เพราะฉะนั้น การที่จะโน้มน้าวให้ลูกยอมไปโรงเรียนแต่โดยดีไม่ร้องงอแง ต้องอาศัยปัจจัยหลาย ๆ ด้าน มีอะไรบ้างไปดูกันค่ะ

คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่แสดงความกังวลให้ลูกเห็น

แม่โน้ตเชื่อว่าเป็นกันทุกคนนะคะ เรื่องความกังวลของคุณพ่อคุณแม่เป็นวันแรกที่ลูกน้อยของเราต้องออกไปเรียนรู้สิ่งใหม่เข้าสังคมใหม่ และสิ่งแวดล้อมใหม่หมด ห่วงไปหมดค่ะว่าเค้าจะอยู่ได้ไหม? เข้ากับเพื่อนได้ไหม? จะช่วยเหลือตัวเองได้ไหม? ฯลฯ ห่วงได้ค่ะ แม่โน้ตก็ห่วงแต่เราต้องเก็บอาการ แล้วพูดให้ลูกฟังเสมอๆ ว่าที่โรงเรียนมีอะไรสนุกๆ ให้ทำบ้าง เช่น มีสนามเด็กเล่นที่กว้างขวาง มีของเล่นเยอะแยะ ได้คุย ได้เล่นกับเพื่อนๆ ในห้อง หรือหนูจะมีเพื่อนในวัยเดียวกันเยอะเลย เป็นต้น

อยู่ใกล้ลูกที่โรงเรียนในสัปดาห์แรก

ในสัปดาห์แรกคุณพ่อคุณแม่อาจจะอยู่ใกล้ลูกที่โรงเรียนก่อน โดยอยู่ข้างนอกห้องเรียนนะคะ ให้ลูกได้เห็นว่ายังมีคุณแม่นั่งอยู่ ไม่ว่าจะเวลาที่เค้าเล่นหรือเรียนก็ตามให้ลูกได้เลือกว่าเค้าจะวิ่งมาหาคุณแม่ดีหรือจะนั่งทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ ดี ซึ่งการทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ ดูจะน่าสนใจกว่า เพราะเป็นสิ่งใหม่ เป็นสิ่งที่ที่บ้านไม่เคยทำ (เพราะมีเพื่อนเยอะกว่าที่บ้าน)

ทั้งนี้ ทั้งนั้นข้อนี้คุณพ่อคุณแม่คงต้องถามคุณครูก่อนนะคะว่าทางโรงเรียนอนุญาตหรือไม่

รับ-ส่งลูกด้วยตัวเองในสัปดาห์แรก

ข้อนี้สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องทำงานนอกบ้านกันทั้งคู่ แต่เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูก ในสัปดาห์แรกคุณพ่อคุณแม่คงต้องเสียสละมารับลูกเองเพื่อให้ลูกได้มั่นใจว่า “คุณพ่อคุณแม่ไม่ได้ทิ้งลูกไปไหน

โดยก่อนที่จะให้ลูกเข้าห้องเรียน ให้คุณพ่อคุณแม่ล่ำลาลูกกันแบบสั้นๆ ไม่ต้องนานนะคะ บอกกับลูกว่า “ตอนเย็นแม่จะมารับ” เพราะยิ่งพูดนานลูกยิ่งใจเสีย ไม่อยากอยู่โรงเรียนถ้าลูกนึกได้เดี๋ยวร้องงอแงขึ้นมาอีกค่ะ

ไปรับลูกให้ตรงเวลา

เนื่องจากลูกก็มีความกังวล มีความกลัวเป็นทุนเดิม ดังนั้น เมื่อคุณพ่อคุณแม่บอกลูกแล้วว่าจะมารับกี่โมงก็ควรไปให้ตรงเวลาหรือไปรอก่อนเวลาได้ยิ่งดีค่ะ เพราะเลิกเรียนสิ่งแรกที่เค้าจะทำคือ นั่งชะเง้อคอมองหาหน้าคุณพ่อคุณแม่ กลับกัน…หากคุณพ่อคุณแม่ไปช้ากว่าที่สัญญากับเค้า เค้าจะเริ่มรู้ไม่มั่นใจ เริ่มรู้สึกเหมือนเค้าถูกทอดทิ้ง สุดท้ายเค้าจะไม่อยากไปโรงเรียน

พูดคุยกับลูกบ่อย ๆ

การพูดคุยกับลูกเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญค่ะ อาจถามลูกว่าวันนี้เป็นอย่างไรบ้างเรียนสนุกไหม? ได้เพื่อนใหม่หรือยัง? วันนี้เรียนอะไร? กลางวันทานอะไรทานข้าวหรือก๋วยเตี๋ยว? (ถามแบบกว้างๆ นะคะ เพราะบางครั้ง บางเมนู เด็กๆ ก็จะยังไม่รู้จัก ก็จะคุยต่อไม่ถูก)

ตัวอย่างที่แม่โน้ตถามน้องมิน :

วันนี้หนูได้นอนกลางวันหรือเปล่าคะ?

นอนค่ะ

ดีจังเลยลูก

น้องมินนอนลืมตา…

“………”

คือการพูดคุยกับลูก เป็นการบอกให้เค้าได้รู้ว่า คุณพ่อคุณแม่ใส่ใจเค้า ไม่ได้ทิ้งเค้าไปไหน และที่สำคัญ เป็นการฝึกทักษะการพูด การเรียบเรียงเรื่องราว และการถ่ายทอดเรื่องราวได้อย่างดีอีกด้วยนะคะ

ไม่สร้างการรับรู้ที่ไม่ดีให้ลูก

ไม่ว่าจะเป็นวัยก่อนเข้าเรียนหรือวัยเรียน คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรสร้างการรับรู้หรือสร้างทัศนคติที่ไม่ดีเกี่ยวกับคุณครูนะคะ เช่น ถ้าร้องไห้มากๆ เดี๋ยวครูตีเอานะ อย่างนี้เป็นต้น เมื่อพูดบ่อยๆ ภาพจำของเด็กที่มีต่อครูคือ ครูเป็นคนดุ ชอบตี ชอบลงโทษ จะทำให้เด็กไม่อยากไปโรงเรียน
ซึ่งในบางครั้งต้องเจอครูประจำชั้นที่อาจจะเสียงดัง แต่ไม่ใช่ครูที่ดุ เด็กก็จะกลัวไปก่อนแล้ว ทำให้เวลามีข้อสงสัยเรื่องการเรียนก็จะไม่กล้าเข้าหาครู

สร้างความมั่นใจให้ลูก

ย่างที่คุณพ่อคุณแม่หลายท่านทราบกันดีว่า เด็กเมื่ออยู่รวมกันหลายๆ คน มักจะชอบทำตามกัน หรือชอบเปรียบเทียบตัวเองกับเพื่อนคนอื่นๆ อย่างเช่น ในเรื่องของการช่วยเหลือตัวเอง
เด็กบางคนถูกเลี้ยงอย่างประคบประหงมไม่ค่อยได้ช่วยเหลือตัวเองเท่าไหร่ อย่างนี้เมื่อเข้าสังคมกับเพื่อนๆ ทำให้ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย เข้ากับกลุ่มเพื่อนไม่ได้ รู้สึกโดดเดี่ยว ก็จะคิดถึงคุณพ่อคุณแม่ขึ้นมาทันที สุดท้ายร้องไห้ ไม่อยากไปโรงเรียน
ดังนั้น เราควรเสริมสร้างความมั่นใจให้กับลูกด้วยการหัดให้เค้าช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุดนะคะ

ทั้งนี้ เด็กจะร้องไห้งอแงอย่างนี้อยู่ประมาณ 3 สัปดาห์ แต่หากเกินกว่านั้น คุณพ่อคุณแม่คงต้องปรึกษาคุณครูหรือคุณหมอ เพื่อหาทางแก้ไขด่วนนะคะ