Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

โควิด19 : ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (1/2)

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019

ณ ปัจจุบันนี้ (มี.ค. 2563) การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกยังคงสูงขึ้น มีข้อมูลและคำถามมากมายในหลายด้าน วันนี้โน้ตนำคำถามพร้อมข้อเท็จจริงจากโรงพยาบาล จากคุณหมอเฉพาะด้านมารวบรวมเอาไว้แล้วค่ะ

Q : เกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 มีความเป็นมาอย่างไร?

A : ในช่วงแรกของการระบาด เชื่อว่าเป็นแค่การระบาดจากสัตว์ไปสู่คน เพราะเราเคยมีประสบการณ์มาจากโรคทางเดินหายใจร้ายแรงที่เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรน่าแล้ว ได้แก่ โรคซาร์ (SARS) ที่ระบาดช่วง ค.ศ. 2002-2003 สาเหตุมาจากไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ SARS-CoV ต่อมาในปี ค.ศ. 2012-2014 ก็มีการระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่อีก ชื่อ MERS-CoV

Q : จริงหรือไม่ที่ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่นี้ติดมาจากค้างคาว?

A : จากข้อมูลที่มีอยู่บ่งชี้ว่า ไวรัสตัวนี้น่าจะได้มาจากค้างคาว เนื่องจากมีพันธุกรรมที่คล้ายคลึงกับโคโรน่าไวรัสในค้างคาวถึง 96%

Q : เชื้อโรคชนิดนี้แพร่กระจายได้ด้วยวิธีใด?

A : โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและเราจะติดได้นั้นจะต้องมีการแพร่กระจายไปในอากาศ (airborne) โดยสามารถแพร่กระจายได้ 2 แบบ คือ…

  1. ผู้ป่วยไอ หรือไอมีเสมหะ โดยจะมีละอองกระเด็นออกมาทั้งละอองขนาดใหญ่และละอองขนาดเล็ก (เล็กกว่า 5 ไมครอน) ซึ่งถ้าใครอยู่ใกล้กับผู้ป่วยในระยะ 1 เมตรก็จะสูดดมเอาละอองขนาดใหญ่เข้าไป แต่หากใครอยู่ใกล้ผู้ป่วยในระยะ 2 เมตรก็จะสูดดมเอาละอองขนาดเล็กเข้าไป
  2. การสัมผัสผู้ป่วยโดยตรง เช่น การจับมือกัน หรือมือจับในสถานที่สาธารณะที่ใช้ร่วมกัน แล้วเอามาแคะจมูก หรือแคะตาตัวเองแล้วติดเชื้อนั้น จะพบได้น้อยมาก

Q : ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 สามารถติดจากสัตว์เลี้ยงได้หรือไม่?

A : สัตว์ติดจากคนได้ แต่สัตว์ไม่สามารถส่งต่อกลับให้คนได้

Q : เชื้อนี้สามารถแพร่กระจายจากอุจจาระของผู้ที่ติดเชื้อได้หรือไม่?

A : มีความเป็นไปได้ เพราะเชื้อมีออกมาทางอุจจาระได้ แต่การติดเชื้อด้วยวิธีนี้ จะต้องมีการทำให้น้ำล้างอุจจาระกระเด็นเป็นละอองออกมา และมีการสูดดมเข้าไปในหลอดลมเราถึงจะติดเชื้อนี้ได้

Q : เราสามารถติดเชื้อนี้จากอาหารได้หรือไม่?

A : จากข้อมูลยังไม่มีระบุว่าติดจากอาหาร เพียงแค่พยายามทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ล้างมือให้สะอาด (ทั้งผู้ปรุงอาหาร และผู้ที่รับประทานอาหาร) และไม่ทานอาหารแปลก หรือเนื้อสัตว์ที่หายาก

Q : เมื่อใดที่เรียกว่า “รักษาหายแล้ว” ?

A : เมื่ออาการในระบบทางเดินหายใจหายไป เช่น อาการไอ ไม่มีไข้ และตรวจไม่พบเชื้อไวรัสชนิดนี้จากโพรงจมูกและหลอดลม

Q : การป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019?

A :

  • สวมหน้ากากอนามัย ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ
  • ปิดปาก จมูก ขณะไอ หรือจาม ด้วยกระดาษทิชชู่หรือต้นแขนด้านใน
  • หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำ และสบู่ หรือแอลกอฮอล์ล้างมือ (ต้องมีเปอร์เซ็นต์ของแอลกอฮอล์มากกว่าหรือเทียบเท่า 70%)
  • ไม่เอามือมาสัมผัสตา จมูก ปาก หรือใบหน้าโดยไม่จำเป็น
  • ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
  • ทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ กินร้อน ช้อนตัวเอง
  • หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังสถานที่ชุมชน
  • ดื่มน้ำมากๆ พักผ่อนให้เพียงพอ

Q : การป้องกันการแพร่ระบาด?

A :

  1. ไม่เดินทางไปยังสถานที่ที่มีคนชุมนมเยอะ
  2. ให้อยู่ในที่พักอาศัย จะออกนอกบ้านเฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
  3. หากใครที่เดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ขอให้กักตัวเองที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน หากระหว่างนี้เริ่มมีอาการไข้ และไอ ให้รีบพบแพทย์ทันที โดยใส่หน้ากากอนามัยตลอดการเดินทาง
  4. หากจำเป็นต้องออกนอกบ้านไปทำธุระ ควรยืนห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร

สำหรับข้อมูลด้านบนเป็นข้อมูลในส่วนแรกเท่านั้นนะคะ ยังมีอีก 1 ตอนให้ได้ติดตามกับคำถามอีกมากมายที่หลายคนต้องการคำตอบ อย่าลืมติดตามกันอีกในบทความถัดไปนะคะ

อ้างอิง
คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
www.hfocus.org ธีระ วรธนารัตน์
ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์อมร ลีลารัศมี
CNN