Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

เอกสารที่ต้องเตรียมก่อนไปคลอด ใช้อะไรบ้าง เพื่อทำใบสูติบัตรให้ลูก

เอกสารที่ต้องเตรียมก่อนไปคลอด ใช้อะไรบ้าง เพื่อทำใบสูติบัตรให้ลูก

ระยะเวลากว่า 9 เดือนที่คุณพ่อคุณแม่ตั้งตารอคอยลูกน้อยที่จะออกมาได้เจอหน้ากัน เป็นรักที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยังไม่ได้เห็นหน้า แต่อย่ามัวแต่รอคอย หรือตื่นเต้นกับการมาของลูกจนลืมเตรียม “ของใช้เตรียมคลอด และการเตรียมตัวก่อนคลอด ฉบับแม่มือโปร” และเอกสารที่ต้องใช้ในวันคลอดนะคะ


ใกล้คลอดเข้าไปทุกทีแล้ว ของใช้เตรียมคลอดมีอะไรบ้าง? รวมการเตรียมของใช้ก่อนคลอด พร้อมการเตรียมตัวก่อนคลอด ฉบับคุณแม่มือโปรไว้ที่นี่แล้วค่ะ คลิกที่นี่

เอกสารที่ต้องเตรียมก่อนไปคลอด

เอกสารสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมไว้ให้พร้อมก่อนไปคลอด มีดังนี้ค่ะ

  • เอกสารที่ต้องใช้ภายในโรงพยาบาล : เช่น ใบนัดจากคุณหมอ บัตรโรงพยาบาล และที่สำคัญที่สุด คือ สมุดฝากครรภ์ เพราะในสมุดเล่มนี้จะระบุข้อมูลต่าง ๆ ของการตั้งครรภ์ตั้งแต่แรกเริ่ม และมีอะไรบ้างที่คุณหมอควรต้องระวังบ้างทั้งของคุณแม่และลูกน้อย
  • เอกสารส่วนตัว : อย่างบัตรประชาชนของคุณพ่อและคุณแม่ หรือจะถ่ายเป็นสำเนาเอาไว้เลยก็ดีค่ะ (**แต่ต้องนำไปทั้งตัวจริงและสำเนานะคะ)

การทำสูติบัตรลูก ต้องแจ้งเกิดภายในกี่วัน ใช้เอกสารอะไรบ้าง?

กรณีเกิดที่โรงพยาบาล สถานีอนามัย หรือสถานพยาบาล

  • ทางโรงพยาบาลหรือผู้ทำคลอด จะเป็นผู้ออกหนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.๑/๑) ให้ไว้เป็นหลักฐานเพื่อประกอบการแจ้งเกิด คุณพ่อคุณแม่ของทารกต้องนำไปยื่นแจ้งเกิดที่เทศบาลหรืออำเภอ
  • คุณพ่อ/คุณแม่ ต้องแจ้งเกิดภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ลูกเกิด
  • หลักฐานการแจ้งเกิดอื่น ๆ ที่ต้องเตรียมไปด้วย คือ บัตรประชาชนของผู้ที่ไปแจ้ง หนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.๑/๑) ที่ทางโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลออกให้ และสำเนาทะเบียนบ้าน ของเจ้าบ้านที่จะเพิ่มชื่อลูกเข้าไป

กรณีเกิดที่บ้านหรือนอกโรงพยาบาล

  • กรณีที่เกิดในบ้าน เช่น บ้านคุณพ่อคุณแม่เอง หรือบ้านญาติ ผู้ที่ต้องไปแจ้งคือ คนที่มีชื่อเป็นเจ้าบ้านที่ทารกเกิด
  • ต้องไปแจ้งเกิดภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ลูกเกิด โดยมีขั้นตอน ดังนี้
    • ถ้าบ้านที่ลูกเกิดอยู่ในเขตท้องที่ของที่ว่าการอำเภอ ให้เดินทางไปแจ้งเกิด ณ ที่ว่าการอำเภอโดยตรง หรือในกรณีที่เดินทางไม่สะดวก ให้แจ้งกับผู้ใหญ่บ้านประจำหมู่บ้าน โดยผู้ใหญ่บ้านจะทำการรับแจ้งการเกิด (ท.ร ๑ ตอนหน้า) ให้ผู้แจ้งไว้เป็นหลักฐาน และให้คุณพ่อหรือคุณแม่ของทารกนั้น นำหลักฐานมาแจ้งต่อหน้านายอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภออีกครั้งเพื่อให้เจ้าหน้าที่ออกใบสูติบัตรให้
    • ถ้าบ้านที่ลูกเกิดอยู่ในเขตท้องที่ของเทศบาล ให้ไปแจ้งเกิดได้ที่งานทะเบียนในเขตเทศบาลที่ลูกเกิด

เอกสารที่ต้องเตรียมไป

บัตรประชาชนของผู้ที่ไปแจ้งเกิด ใบรับรองการเกิด (ท.ร. ๑/๑) ที่ผู้ใหญ่บ้านออกให้ (ถ้ามี) สำเนาทะเบียนบ้านของเจ้าบ้านที่จะทำการเพิ่มชื่อลูกเข้าไป พร้อมทั้งพยานบุคคลที่รู้เห็นการเกิดของลูก เช่น หมอตำแย นางพยาบาลที่ทำคลอด หรือเพื่อนบ้าน เป็นต้น

กรณีที่เกิดนอกบ้าน เช่น บนรถโดยสาร บนรถแท็กซี่ ศาลาริมทาง ฯลฯ

  • ผู้ที่ต้องแจ้งการเกิด คือ คุณพ่อหรือคุณแม่ โดยต้องแจ้งเกิดภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ลูกเกิด แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นทำให้ยังไม่สามารถไปแจ้งเกิดได้ตามกำหนด สามารถเลื่อนการแจ้งเกิดออกไปได้ แต่ไม่เกิน 30 วัน นับจากวันที่ลูกเกิด
  • วิธีการแจ้งเกิดและเอกสารหลักฐานที่ต้องเตรียมไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ ทำเช่นเดียวกันกับกรณีที่ลูกเกิดภายในบ้าน

กรณีที่ทารกถูกทิ้ง

หากมีผู้พบเห็นเด็กทารก หรือเด็กเล็กที่อายุไม่เกิน 7 ปี ถูกทอดทิ้ง ผู้พบเห็นต้องรีบแจ้งการพบเด็กพร้อมกับนำเด็กไปส่งต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง (เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือปลัดอำเภอ) เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือเจ้าหน้าที่ประชาสงเคราะห์ เพื่อทำหลักฐานการรับตัวเด็ก และดำเนินการแจ้งเกิดตามกฎหมายต่อไป

กรณีทารกเกิดในต่างประเทศ

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่เป็นคนไทย แต่ให้กำเนิดลูกในต่างประเทศ ให้คุณพ่อหรือคุณแม่ไปแจ้งเกิดลูกได้ที่สถานทูตไทย หรือสถานกงสุลไทยที่ประจำอยู่ในประเทศนั้น ๆ ได้เลย

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับการแจ้งเกิด

  1. หนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.๑/๑) ที่ทางโรงพยาบาลออกหรือใบรับรองการเกิด (ท.ร.๑/๑ ส่วนหน้า) ที่ผู้ใหญ่บ้านออกให้นั้น ไม่ใช่สูติบัตรหรือใบเกิดแต่อย่างใด
  2. เด็กที่เกิดในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นลูกของคนไทยหรือคนต่างด้าว สามารถแจ้งเกิดและมีสิทธิ์ได้รับหลักฐานการเกิดเช่นกัน
  3. การแจ้งเกิดหรือรับการการแจ้งเกิด ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใด ๆ
  4. การไม่แจ้งเกิด หรือแจ้งเกิดล่าช้าต่อนายทะเบียนเกินกว่า 15 วัน นับตั้งแต่ทารกเกิด ถือเป็นความผิดทางกฎหมาย มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ ได้รู้อย่างนี้แล้ว อย่าลืมเตรียมเอกสารก่อนคลอดกันไปให้ครบนะคะ