Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

แค่เห็นต่างกัน ไม่ต้องทะเลาะกันได้ไหม

กระจกวิเศษ บอกข้าที ใครงามเลิศในปฐพี
พวกเราคงจะคุ้นกับคำพูดนี้จากนิทานเรื่องสโนว์ไวท์กับคนแคระทั้ง 7 ราชินีที่เป็นแม่เลี้ยงใจร้าย บังคับให้สโนว์ไวท์แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าอันเก่าและก็ให้ไปเป็นสาวใช้
ด้วยความอิจฉาริษยาที่ไม่อาจจะยอมให้ใครสวยกว่าตนได้เรื่องที่จะเขียนนี้ไม่ได้เกี่ยวกับเนื้อหาของนิทานเรื่องนี้สักเท่าไร
เพียงแต่จะเอ่ยว่า ถ้าเราอยากรู้ว่าเราเป็นพ่อแม่แบบไหน

ให้เราดูลูกเราเถิด นั่นแหละกระจกโดยแท้

ด้วยความเป็นพ่อแม่เรามักคิดว่าลูกควรจะต้องทำตามในสิ่งที่เราพร่ำบอกเสมอ
ในนามของความหวังดี ความปรารถนาดี ทั้งหลายที่เราคิดจะส่งมอบให้กับลูกของเรา
เมื่อใดก็ตามที่เราบอกแล้วลูกไม่ทำตาม ความเป็นนางฟ้าในตัวเราก็จะแปรเปลี่ยน
นางมารร้ายจะเริ่มเข้ามาแทนที่ ยิ่งถ้าการสนทนาหาที่สุดไม่ได้ ลูกยังดื้อ ยังเถียง ไม่ฟังเหตุผลใดๆ
ยิ่งกระตุ้นให้อารมณ์แม่พุ่งพร่าน และสุดท้ายจะเป็นยังไง ใครเดาได้บ้างคะ?

แน่นอนว่า ทางออกที่คุณแม่เลือกใช้อาจจะเป็น ความโมโห โต้เถียงกันด้วยเสียงดัง การทำโทษ จนถึงขั้นทุบตีกันเลยทีเดียว
เชื่อว่าไม่มีแม่คนไหนอยากตี หรือทำโทษลูกนะคะ เพราะมันสะเทือนใจ เหมือนสุภาษิตไทยว่า “หยิกเล็บเจ็บเนื้อ

แต่เรามีทางออกที่ดีกว่านี้หรือไม่?

ทุกครั้งที่เราใช้ความรุนแรง คุณคิดว่าลูกได้คิดไหม ลูกคิดอะไร และเขาจะแก้ปัญหาชีวิตเขาอย่างไรในอนาคต
ในชีวิตประจำวันคุณแม่คงจะต้องพูดคุยกับลูกๆ และก็อาจจะเคยมีการโต้เถียงกันใช่ไหมคะ ตัวอย่างเช่น

แม่ : วางเกมกันก่อนเลย ไปอาบน้ำแปรงฟัน แม่จะพาไปใส่บาตรค่ะ
ลูก : หนูไม่ไป หนูไม่อยากไป
แม่ : เอามือคว้าไม้ แม่พูดดีดีไม่ฟัง จะให้แม่ตีใช่ไหม
ลูก : ย่า…แม่บังคับหนู หนูไม่อยากไป (ร้องไห้)
แม่ : ไม่พูดอะไรต่อ เตรียมของแล้วออกไปใส่บาตร ในใจโกรธ และขุ่นมัวที่ลูกไม่เชื่อฟัง >> แม่ไปไม่ทันพระ >> เดินถือถาดกลับบ้าน
ลูก : อิอิ ใส่บาตรไม่ทัน
แม่ : (ไม่พูดอะไร อารมณ์คุกรุ่นๆ โดนเยาะเย้ย)

ถ้าคุณแม่ต้องเผชิญปัญหาที่น่าปวดหัว เคลียกับลูกไม่ลงตัว ลองหาวิธีปรับเปลี่ยนสถานการณ์ดูนะคะ

ทำเป็นเรื่องขำๆ

จากเรื่องที่ดูจะตึงเครียดอยู่ เราลองเปลี่ยนเป็นเรื่องตลกๆ ขำๆ ไปบ้าง เพื่อสร้างบรรยากาศดีๆ ให้กลับคืนมา ดึงอารมณ์เบิกบานให้กลับมา แล้วรอจังหวะใหม่ๆ ที่เราจะสามารถบอกสอนเขาได้ สอนโดยไม่ใช่การพร่ำบ่นจะได้ประสิทธิภาพมากกว่านะคะ

ปล่อย

ถ้าหากพยายามแล้ว ยังไม่มีอะไรดีขึ้น คุณแม่ก็ต้องรักษาจิตใจของตัวเองเช่นกัน ควรละทิ้งจากสิ่งนั้นๆ ไปก่อน ออกจากสถานการณ์ไปก่อน เมื่อไหร่ก็ตามที่เราโมโห หรือหงุดหงิดอย่าเพิ่งคุยกับลูกจะดีกว่านะคะ

ตัวอย่างสำคัญกว่าคำพูด

พ่อแม่คือคนที่ลูกจะไว้ใจได้มากที่สุด และถือเป็นแบบอย่างพฤติกรรม
ไม่ว่าพ่อแม่จะพูดอะไร จะกระทำสิ่งใด รับประกันได้เลยว่า ลูกๆ จะเลียนแบบได้ทั้งหมด
และความจำเด็กดีมาก ช่างสังเกตมาก ซึ่งเวลาที่เขาจะหาเหตุผลมาโต้เถียงกับเรา
บางทีเราแทบหาทางแก้ไม่ได้เลยด้วยซ้ำ “ระวังคำพูด และการกระทำของคุณนะคะ

สมัยที่ลูกชายของดิฉัน 3 ขวบ เรามีเรื่องที่ต้องโต้เถียงกัน ลูกถามดิฉันขึ้นมาว่า

ลูก : แม่ครับ หนูอยู่ในท้องแม่มานานแค่ไหน
แม่ : (แม่ดีใจเหมือนลูกจะพยายามเข้าใจในความรักของแม่และทำตามที่แม่บอก รีบอธิบาย)
แม่อุ้มท้องลูกมาตั้ง 9 เดือน หนูนอนอยู่ในท้องแม่อย่างสบาย เวลาหิว ก็ทานพร้อมกับแม่เลย จนถึงเวลา ลูกก็ต้องคลอดออกมาดูโลกภายนอก
ลูก : ก็นั่นนะสิครับแม่ แม่อุ้มท้องหนูมาตั้ง 9 เดือน แล้วแม่ไม่รักหนูหรือ แม่ถึงจะตีหนู
แม่ : #!!#@%&!!###** พูดอะไรต่อไม่ถูกค่ะ จบ

ใช้คำในลักษณะเป็นคำถามหรือการเชิญชวน ดีกว่าคำสั่ง คำบอก

เลือกใช้คำถามเพื่อเปิดศักยภาพของลูก เพื่อให้เขาได้มีทางเลือก ได้คิด ได้ตัดสินใจเอง เพื่อไม่ให้เขารู้สึกถูกบีบบังคับ
สันติสุขในบ้านเริ่มได้ที่ตัวคุณอยู่ในใจเรานี่เอง เปลี่ยนตัวเราเพื่อสร้างรอบข้างให้ร่มเย็น
การเป็นแม่ต้องสตรองแค่ไหนถึงจะเพียงพอ คำถามมากมายในหัวเราเมื่อเกิดปัญหาที่เราแก้ไม่ตกและเชื่อว่าคุณแม่ทุกคนต้องผ่านช่วงที่ลูกรั้นและเอาแต่ใจ

ทำไมเด็กต้องเถียงคะ ทั้งๆที่เราหวังดี?
สร้างเงื่อนไขยังไงไม่ให้เด็กต่อต้าน?
พูดอย่างไรให้เด็กเชื่อฟัง?

ถ้าเป็นคุณจะจัดการกับสถานการณ์อย่างไร

ทำอย่างไรเราจะทำให้ความต้องการทั้งของลูกและของเรามาเจอกันตรงกลาง เพราะเด็กแต่ละคนมีลักษณะเฉพาะตน
อย่าพยายามให้ลูกเหมือนใคร หรือเอากรอบความคิดของพ่อแม่ไปตีกรอบให้กับลูก โดยไม่สนใจว่าตัวลูกเองต้องการเช่นนั้นหรือไม่

ชมดีกว่าต่อว่า

โฟกัสที่จุดดี เรื่องดีๆของลูกต้องขยายเยอะๆค่ะ คุณพ่อคุณแม่เป็นผู้สังเกตการณ์เพื่อผลักดันให้ลูกไปถึงฝั่งฝัน
ลูกของเราก็คือเด็กคนหนึ่ง อย่าเร่งให้เขาต้องเข้าใจเหตุผลอะไรมากมาย
ให้เวลา ให้โอกาส ให้ความรัก ให้ความสุข

อะไรคือตัวตนของลูก ค่อยๆ ค้นหาความชอบ ความสนใจของลูก
อะไรที่เขาชอบจริงๆ แล้วสนับสนุนเขา
สนุกกับการเรียนรู้ไปด้วยกันนะคะ