Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

พิธีแต่งงานอิสลาม มีขั้นตอนอย่างไร? ละเอียด แต่เข้าใจง่าย

พิธีแต่งงานอิสลาม มีขั้นตอนอย่างไร? ละเอียด แต่เข้าใจง่าย

ในประเทศไทยเรามีผู้คนต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก หนึ่งในหลาย ๆ ศาสนาที่ว่านี้ก็คือ ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามนั่นเองค่ะ ดังนั้น จึงไม่แปลกหากคู่รักที่ต้องการใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน พิธีแต่งงานอิสลามจึงเกิดขึ้น ซึ่งจะมีรายละเอียดอย่างไร และมีขั้นตอนอย่างไร เราไปติดตามกันเลยค่ะ

พิธีแต่งงานอิสลาม คือ อะไร?

การแต่งงานในศาสนาอิสลาม เราเรียกกันว่า “นิกะห์” ซึ่งหลักใหญ่ใจความของพิธีแต่งงานอิสลามคือ ความเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ดังนั้น ขั้นตอนในพิธีแต่งงานจึงไม่มีความซับซ้อนเช่นกันค่ะ แต่อาจจะมีความเคร่งครัดมากกว่า เช่น หากการแต่งงานถูกกำหนดไว้ให้แต่งในช่วงของพิธีฮัจญ์ ก็ต้องเลื่อนออกไปก่อน หรือหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม ก็ต้องให้คน ๆ นั้นเข้าเป็นอิสลามก่อน เป็นต้น

ขั้นตอน พิธีแต่งงานอิสลาม

เนื่องจากศาสนาอิสลามจะเน้นเรื่องความเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ดังนั้น ขั้นตอนการแต่งงานจึงไม่ซับซ้อนเช่นกัน โดยเริ่มจาก…

การสู่ขอ

ในสมัยก่อนการไปสู่ขอฝ่ายหญิงจะให้ญาติผู้ใหญ่ที่เป็นหญิงล้วนของฝ่ายชายเป็นผู้เดินทางไปสู่ขอที่บ้านเจ้าสาว กับพ่อแม่ของฝ่ายหญิง และถ้าหากพ่อแม่ของฝ่ายหญิงยินยอมก็จะกำหนดวันหมั้นเลย โดยที่ไม่ต้องขอความคิดเห็นจากฝ่ายหญิง

แต่ในปัจจุบันการสู่ขอปรับเปลี่ยนไป โดยจะให้พ่อแม่ของฝ่ายชายเป็นผู้เดินทางไปสู่ขอกับพ่อแม่ของฝ่ายหญิง โดยการเดินทางไปนี้ฝ่ายชายต้องมีขนมหรือผลไม้ติดไม้ติดมือไปฝากพ่อแม่ของฝ่ายหญิงด้วย

พ่อแม่ของฝ่ายชายเริ่มการพูดคุยว่า “มีธุระ จะขอปรึกษาด้วย” และสอบถามต่อว่า “ฝ่ายหญิงมีคู่หรือยัง” ถ้าฝ่ายหญิงตอบว่ายังไม่มี พ่อแม่ของฝ่ายชายต้องกล่าวต่อว่า ที่มาวันนี้ก็เพื่อต้องการส่ขอให้ใคร แต่…ฝ่ายหญิงจะไม่ได้ตอบรับหรือตอบปฏิเสธทันทีในเวลานั้น ต้องรอให้ผ่านไป 7 วัน ซึ่งถ้าฝ่ายหญิงตกลงก็จะส่งคนไปบอกที่บ้านของฝ่ายชาย แต่ถ้าปฏิเสธก็ไม่ต้องทำอะไรปล่อยเลยผ่านไป เป็นอันรู้กัน

พิธีหมั้น

เมื่อถึงวันหมั้น ฝ่ายชายจะจัดเตรียมเถ้าแก่ และขบวนขันหมาก เดินทางไปยังบ้านของฝ่ายหญิง โดยฤกษ์แห่ขันหมากจะเป็นในช่วงเย็น ประมาณ 16:00-17:00 น. โดยในขันหมาก ประกอบไปด้วย พาน 3 พาน คือ พานหมากพลู, พานข้าวเหนียวเหลือง และพานขนม หากบางรายมีฐานะดีหน่อยก็สามารถเพิ่มพานขนมได้ โดยใต้พานหมากพลูจะมีเงินสอดไว้ ซึ่งเงินจำนวนนี้ เรียกว่า “ลาเปะซีเฆะ หรือ เงินรองพลู” ส่วนพานขนมก็จะประกอบไปด้วย “ขนมก้อ หรือ ดูปงปูตู, ข้าวพอง และขนมก้อน้ำตาล หรือ ดูปงฮะลูวอคีแม” ทั้งหมดนี้จะถูกห่อด้วยผ้าสีสันสวยงาม

เมื่อฝ่ายชายไปถึงบ้านฝ่ายหญิง เถ้าแก่ของฝ่ายชายจะต้องมอบของหมั้นทั้งหมดให้เถ้าแก่ฝ่ายหญิง พร้อมกับเถ้าแก่ฝ่ายชายจะถามเถ้าแก่ฝ่ายหญิงทันทีว่า “เงินหัวขันหมากนั้นเป็นจำนวนเท่าใด” ซึ่งเถ้าแก่ฝ่ายหญิงต้องตอบ จากนั้นก็เป็นการปรึกษาหารือเกี่ยวกับการกำหนดวันแต่งงาน และการจัดเลี้ยง โดยก่อนที่ฝ่ายชายจะกลับนั้น ฝ่ายหญิงต้องนำผ้าโสร่งชาย (กาเฮงแปลก๊ะ) หรือ ผ้าดอกปล่อยชาย (กาเฮงปาเต๊ะลือป๊ะ) อย่างใดอย่างหนึ่งมาให้กับฝ่ายชายเช่นกัน โดยให้วางบนพานหมากพลูที่เถ้าแก่ฝ่ายชายให้มา

การหมั้น สามารถทำได้ใน 2 ลักษณะ ดังนี้

การหมั้นก่อนแต่ง

คือ ทำพิธีนิกะห์ก่อน ซึ่งเป็นการทำที่ถูกต้องตามหลักศาสนา ซึ่งเป็นผลดี แต่ก็จะมีรายละเอียดที่ต่างออกไป คือ เจ้าบ่าวจะถูกเนื้อต้องตัวเจ้าสาวไม่ได้

การหมั้นหลังแต่ง

หรือการหมั้นหลังพิธีนิกะห์ เจ้าบ่าวจะสามารถถูกเนื้อต้องตัวเจ้าวสาวได้ จึงสามารถสวมของหมั้นให้เจ้าสาวได้ นอกจากนี้ ยังสามารถจัดพิธีนั่งบัลลังก์ เพื่อให้ญาติของทั้ง 2 ฝ่าย ได้ร่วมแสดงความยินดีอย่างสมเกียรติอีกด้วย

พิธีแต่งงาน

การกำหนดวันแต่งงานนั้น โดยทั่วไปแล้วจะกำหนดให้จัดขึ้นหลังวันหมั้นไม่เกิน 2 สัปดาห์ โดยถือฤกษ์ที่ 16:00-17:00 น. โดยในพิธีแต่งงานจะมีรายละเอียด ดังนี้

  • ขบวนขันหมากของเจ้าบ่าว จะประกอบไปด้วย เจ้าบ่าว, เพื่อนเจ้าบ่าว และญาติผู้ใหญ่ประมาณ 5-6 คน ให้เจ้าบ่าวถือกล้วยหอมพันธุ์ดี 2-3 หวี
  • ในขณะที่บ้านเจ้าสาวต้องเตรียมการต้อนรับอย่างดี โดยเชิญโต๊ะอิหม่าม, คอเต็ม และผุ้ทรงคุณวุฒิอีก 1 ท่าน มาเป็นสักขีพยาน
  • เมื่อเจ้าบ่าวเดินทางถึงบ้านเจ้าสาว เจ้าบ่าวมอบเงินหัวขันหมาก (โดยมากจำนวนจะลงท้ายด้วยเลขคี่) ให้กับโต๊ะอิหม่ามนับและคุมเงินจำนวนนี้ไว้ ทุกคนรับประทานอาหารร่วมกัน
  • เจ้าสาวจะต้องเก็บตัวที่ห้อง เมื่อช่วงเวลาที่ทานอาหารจบแล้ว เจ้าบ่าวจะนั่งขัดสมาธิที่เบื้องหน้าโต๊ะอิหม่าม และให้พ่อเจ้าสาวถามเจ้าสาวว่ายินยอมหรือไม่ หากไม่ยินยอมก็จะต้องส่งผู้ใหญ่ที่เจ้าสาวนับถือไปเกลี้ยกล่อม
  • จากนั้นให้โต๊ะอิหม่ามอ่านศาสนบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการแต่งงาน ที่เรียกว่า “บาจอกุฐตีเบาะห์”
  • เมื่ออ่านจลโต๊ะอิหม่ามจะเอื้อมมือไปจับปลายนิ้วของเจ้าบ่าวนิ้วใดนิ้วหนึ่ง พร้อมกับกล่าวว่า “ยา…อับดุลเลาะห์ อากูนิกะห์ อากันดีเกา บาร์วอเกล์วอ ลีปาเปาะญอ อากันดากู คืออันฮาลีเมาะ เป็นดีมูฮัมมัด อีซีกะห์ เบ็นซะบาเญาะญอ สะราดฆอปู และดีโยโก๊ะดูนา” ในขณะที่เจ้าบ่าวต้องตอบรับว่า “อากูตรีมอ นิกะห์ญอ คืองันอีซึกะห์ เว็ซะบาเญาะ ตีรึซีโมะอึดู” ซึ่งแปลว่า ได้รับการยอมรับการแต่งงาน ตามจำนวนเงินหัวขันหมากดังกล่าว

พิธีแต่งงานอิสลามนั้นอย่างที่ได้กล่าวมาค่ะว่าจะเน้นความเรียบง่าย และไม่เน้นในเรื่องการหาฤกษ์วันแต่งงาน เนื่องจากศาสนาอิสลามไม่ได้มีความเชื่อเรื่องโชคลางนั่นเองค่ะ