Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

การแต่งงานแบบจีนโบราณ มีขั้นตอนอย่างไร?

การแต่งงานแบบจีนโบราณ มีขั้นตอนอย่างไร?

การแต่งงานคือ การที่คนสองคนตกลงปลงใจที่จะชีวิตร่วมกัน ร่วมทุกข์ ร่วมสุขกัน ซึ่งประเพณีการแต่งงานของแต่ละแบบก็จะมีเสน่ห์ที่แตกต่างกัน มีความหมายที่และมีที่มาที่ไปต่างกัน ซึ่งวันนี้เราจะมาพูดถึงการแต่งงานแบบจีนโบราณกันค่ะ มาดูกันว่า การแต่งงานแบบนี้ต้องใช้อะไรบ้าง? และมีขั้นตอนอย่างไร?

รากศัพท์คำว่า แต่งงาน ในภาษาจีน

ในภาษาจีนโบราณ คำว่า “แต่งงาน” มาจากคำว่า “婚姻 (ฮุนอิน)” แต่ต่อมาได้เพี้ยนไปเป็น “ฮุนหลี่” โดยคำว่า “ฮุน” เป็นการผสมกันระหว่างตัวอักษร 2 ตัวได้แก่ 昏 แปลว่า ค่ำคืน และ 女 แปลว่า สตรี สุดท้ายคือ คำว่า “อิน” ซึ่งแปลว่า ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าในสมัยโบราณการแต่งงานของชาวจีนจะนิยมจัดขึ้นในช่วงกลางคืน ซึ่งถือว่าเป็นฤกษ์มงคลนั่นเอง

เอกสารที่ใช้ในการแต่งงานแบบจีนโบราณ

ในการแต่งงานแบบจีนโบราณจะใช้เอกสารอยู่ 3 ส่วนด้วยกันหรือที่เรียกว่า “3 หนังสือ” ดังนี้

หนังสือหมั้นหมาย

เป็นหนังสือที่ระบุความตั้งใจในการแต่งงาน และการให้คำสัญญาของคู่บ่าวสาว

หนังสือแสดงสินสอด

หนังสือที่ระบุประเภทรายการ และจำนวนของขวัญในวันแต่งงาน

หนังสือรับตัวเจ้าสาว

เป็นหนังสือที่เจ้าบ่าวมอบให้ผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวในวันแต่งงาน เป็นเหมือนเครื่องยืนยันว่าฝ่ายเจ้าบ่าวได้รับเจ้าสาวเข้าตระกูลของเจ้าบ่าวอย่างเป็นทางการแล้ว

ขั้นตอนการแต่งงานแบบจีนโบราณ

ในส่วนของพิธีการแต่งงานนั้น จะมีอยู่ด้วยกัน 6 ขั้นตอนดังนี้ค่ะ

การสู่ขอ

ผู้ใหญ่ฝ่ายชายและแม่สื่อเดินทางไปสู่ขอว่าที่เจ้าสาวกับพ่อแม่ของฝ่ายหญิง พร้อมมอบของขวัญเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มีความหมายให้กับครอบครัวของฝ่ายหญิง ในขณะที่ว่าที่เจ้าสาวก็จะถือโอกาสนี้สอบถามเรื่องราวหรือข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับครอบครัวของฝ่ายชาย

ขอวันเดือนปีเกิด

หลังจากเสร็จขั้นตอนการพูดคุย การสู่ขอแล้ว พ่อแม่ของฝ่ายหญิงก็จะมอบวันเดือนปีเกิดของลุกสาวให้กับครอบครัวของฝ่ายชาย เพื่อทำพิธีเสี่ยงทายต่อไป

การเสี่ยงทาย

หลังจากที่ครอบครัวของฝ่ายชายได้รับกระดาษที่เขียนวันเดือนปีเกิดของฝ่ายหญิงไว้แล้ว ก็จะนำแผ่นกระดาษนี้ไปวางไว้ด้านหน้าองค์เทพเจ้าหรือวางไว้บนโต๊ะของบรรพบุรุษ เพื่อให้ท่านได้ชี้แนะว่าการแต่งงานในครั้งนี้เป็นมงคลหรือไม่ บ่าวสาวคู่นี้ดวงชงกันหรือไม่? หากไม่มีสัญญาณที่บ่งบอกถึงความไม่เป็นมงคล การแต่งงานครั้งนี้ก็สามารถจัดขึ้นได้

การมอบสินสอดของรับไหว้

ฝ่ายชายจะส่งมอบหนังสือหมั้นหมาย และหนังสือแสดงสินสอดไปที่บ้านฝ่ายหญิงก่อนวันสมรส 1 เดือน – 2 สัปดาห์ ครอบครัวฝ่ายชายจะเชิญญาติประมาณ 2-4 คน และต้องเป็นผู้หญิงที่มีความสุขพร้อม รวมทั้งเชิญแม่สื่อไปที่บ้านฝ่ายชาย และมอบสินสอดให้ฝ่ายหญิง และครอบครัวของฝ่ายหญิงก็จะมอบของขวัญตอบเป็นของรับไหว้ประเภทอาหาร ขนมหวาน และของมงคลต่าง ๆ ตามประเพณีของบ้านฝ่ายชาย พร้อมกับมอบหนังสืออีกฉบับที่เป็นบันทึกของรับไหว้ต่าง ๆ คู่กันไปกับของรับไหว้ และปิดท้ายด้วยการที่เจ้าบ่าวไปส่งเจ้าสาวที่บ้าน

ขอฤกษ์

ด้วยความเชื่อที่ว่าหากได้ฤกษ์แต่งงานที่ดีก็จะนำแต่เรื่องราวและสิ่งที่เป็นมงคลมาให้แก่ครอบครัวของทั้งคู่ อยู่ด้วยกันอย่างราบรื่นจนแก่จนเฒ่า โดยการหาฤกษ์นี้จะเป็นหน้าที่ของฝ่ายชาย ซึ่งหลังจากได้ฤกษ์ที่ดีแล้วก็จะนำฤกษ์นั้นมาขอความคิดเห็นกับฝ่ายหญิง

การรับเจ้าสาว

ในวันแต่งงาน เจ้าบ่าวจะสวมชุดพิธีการเต็มรูปแบบ พร้อมด้วยแม่สื่อ ญาติสนิท และเพื่อนสนิท ร่วมกันเดินทางไปรับเจ้าสาวที่บ้าน หลังจากที่เจ้าบ่าวเดินทางถึงบ้านของเจ้าสาวแล้ว เจ้าบ่าวจะต้องไปเคารพศาลบรรพชนของเจ้าสาวก่อน จากนั้นจึงให้เจ้าสาวขึ้นเกี้ยว เพื่อมาทำพิธีไหว้ฟ้าดินที่บ้านของเจ้าบาว โดยขณะที่เดินทางนั้น ครอบครัวของฝ่ายหญิงจะมีการสาดน้ำสะอาดตามหลังขบวนเกี้ยว มีความหมายว่า จากนี้ไปลูกสาวได้เป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวของฝ่ายชายแล้ว เหมือนกับการสาดน้ำออกไปนั่นเอง และหลังจากที่เสร็จพิธีไหว้ฟ้าดินแล้ว ก็ถือว่าทั้งคู่เป็นสามีภรรยากันโดยสมบูรณ์ และถูกต้องตามประเพณีแล้ว

ประเพณีการแต่งงานแบบจีนโบราณนับว่าเป็นพิธีที่มีการสืบต่อ ๆ กันมาเป็นเวลาช้านาน ซึ่งบางครอบครัวก็ยังชงใช้อยู่ และในบางครอบครัวก็ตัดขั้นตอนออกไป เพื่อความสะดวกและความเหมาะสมในเรื่องของการจัดการ และเพิ่มการจะทะเบียนสมรสเข้าไปในวันพิธี เพื่อให้การแต่งงานในครั้งนี้เป็นไปได้อย่างสมบูรณ์ตามประเพณี และถูกต้องตามกฎหมาย