Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

มาจัดการโซเชียลมีเดียให้ลงตัวกับลูกกัน

โซเชียลมีเดียเป็นสิ่งที่ปฎิเสธไม่ได้เลยว่ามีความสำคัญกับการใช้ชีวิตประจำวันของพวกเราในปัจจุบันเป็นอย่างมากเพราะแค่กดไม่กี่ครั้งเราก็สามารถติดต่อสื่อสารและรู้ทันข่าวสารได้ในเวลาอันรวดเร็วเพิ่มความสะดวกสบายให้กับชีวิตเราง่ายกันขึ้นเยอะเลย แต่แน่นอนว่ามีอีกอย่างที่ทุกคนรู้กันดีนั่นก็คือทุกอย่างมีสองด้านเสมอ โซเชียลมีเดียก็เช่นกันมีทั้งข้อดีและข้อเสียแล้วยิ่งถ้าข้อเสียนั้นอาจจะเป็นสิ่งที่ส่งผลมาสู่ลูกของคุณที่เกิดมาในยุคไฮเทคแบบนี้และทุกอย่างรอบตัวเขาตั้งแต่เขาเกิดมาก็เป็นแบบนี้ไปซะแล้วดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จำเป็นที่จะต้องสอนให้เขารู้จักและเข้าใจการใช้โซเชียลมีเดียให้ถูกทางและเหมาะสมเอาไว้เพื่อให้เขารู้เท่าทันและได้รับประโยชน์จากโซเชียลมีเดียอย่างแท้จริงแทนจะดีกว่า

มาเริ่มจัดการทุกอย่างให้ลงตัวกันดีกว่า

1.เทียบสถานการณ์กับอายุของลูกแล้วปรับให้เหมาะสม

ในความเป็นจริงแล้วอายุของเด็กที่เหมาะกับการเริ่มเข้าไปใช้โซเชียลมีเดียยกตัวอย่างเช่น Facebook นั้นจะมีอายุที่แนะนำกันอยู่ที่วัย 13-15 ปีขึ้นไป แต่ในขณะนี้เด็กที่อายุต่ำกว่าเกณฑ์ดังกล่าวก็มีความสามารถในการเรียนรู้สิ่งเหล่านี้กันได้แล้วและหากเขาได้รับการขัดใจไม่ให้เล่นเป็นไปได้ว่าเขาอาจจะแอบไปสมัครบัญชีลับๆ มาไว้เล่นและคุณพ่อคุณแม่ก็จะไม่สามารถตรวจสอบได้อีกด้วย

ดังนั้นคุณต้องลองหาไอเดียที่เหมาะสมเพื่อให้ลูกได้เล่นและอยู่ในสายตาอย่างเช่นในตอนนี้ Facebook ก็รู้ถึงปัญหานี้จึงพยายามช่วยแก้ไขโดยการสร้าง Messenger Kids แอพฯ ที่จะทำให้เด็กๆ วัย 6-12 ปีสามารถแชทกับเพื่อนๆ ได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีบัญชี Facebook นั่นเอง

2.คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้จักและรู้ทันทุกโซเชียลมีเดีย

แม้ว่า Facebook แอพฯ ยอดนิยมจะพยายามช่วยเหลือแล้วในระดับหนึ่งแต่มันก็ยังมีอีกหลายสื่อที่เด็กๆ สามารถเข้าถึงและสนใจมันได้อีกทั้ง Twitter, Youtube, Instagram เป็นต้น คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องศึกษาและหาวิธีป้องกันเช่น อาจจะสมัครบัญชีให้ลูกและตั้งค่าเป็นการใช้งานสำหรับเด็กหรือปิดเป็นส่วนตัวเอาไว้เพื่อที่จะสามารถคัดกรองการเข้ามาติดตามลูกๆ ได้เป็นต้น

3.เล่าให้ลูกฟังและอธิบายให้เข้าใจชัดเจนเกี่ยวกับอันตรายจากโซเชียลมีเดีย

กรณีศึกษาและเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงน่าจะมีส่วนสำคัญในการช่วยให้เด็กๆ เข้าใจและเห็นภาพรวมไปทั้งระวังตัวกันมากขึ้นได้แต่อย่างไรก็ตามคุณพ่อคุณแม่ก็จำเป็นต้องคอยสอนและแนะนำซ้ำๆ เพื่อให้เขาค่อยๆ เรียนรู้เพราะเด็กๆ จะขาดการไตร่ตรองและคิดให้รอบคอบก่อนจะทำอะไรแน่นอนว่าเขายังขาดประสบการณ์ในการใช้ชีวิตแต่คุณพ่อคุณแม่ก็ทำได้เพียงป้อนข้อมูลและคอยดูแลกันต่อไปเพื่อให้เขาได้มีโอกาสเรียนรู้ด้วยตัวเองและเข้าใจมันได้อย่างแท้จริงนั่นเอง

4.ให้บริเวณการเล่นโซเชียลมีเดียของลูกอยู่ใกล้ตา

คุณพ่อคุณแม่อาจจะไม่ต้องไปนั่งจ้องตลอดเวลาว่าเขากำลังทำอะไรอยู่แต่เมื่อวางอุปกรณ์ต่างๆ ไว้ในที่ใกล้ตาก็จะสามารถควบคุมดูแลลูกได้ดีในระดับหนึ่งแต่ก็ต้องไม่กดดันเขาจนมากเกินไปเช่นกัน และอาจจะมีกฎเกณฑ์กันเพิ่มเติมว่าห้ามนำอุปกรณ์ต่างๆ ไปเล่นเพียงลำพังเพราะนอกจากจะห่างไกลสายตาแม้เด็กๆ จะไม่ได้ทำอะไรผิดแต่เขาก็อาจจะเล่นเพลินจนลืมทำการบ้านและพักผ่อนแถมยังอาจมีผลต่อสายตาของเขาอีกด้วย

5.ต้องมีกฎกันบ้าง

เริ่มแรกเลยที่ต้องมีกฎนั่นก็คือเวลาในการเล่นนั่นเองเพราะถือเป็นทั้งการจำกัดขอบเขตในการเล่นให้คุณพ่อคุณแม่ควบคุมได้และยังไม่ยอมให้หน้าจอและแสงสีฟ้าจากอุปกรณ์ต่างๆ มาทำร้ายสายตาของลูกได้อีกด้วย อย่าลืมที่จะเข้าไปเช็คการตั้งค่าของลูกให้ปลอดภัยอยู่เสมอ รวมทั้งคุณอาจจะต้องกำหนดว่าจะเล่นได้ก็ต่อเมื่องานที่ต้องรับผิดชอบของเขาเสร็จเรียบร้อยแล้วด้วย

แต่จำเป็นมากที่คุณต้องทำทุกอย่างให้อยู่บนความพอดีเพราะถ้าคุณบังคับและกดดันลูกมากเกินไปนั่นอาจจะทำให้ความใส่ใจของคุณทำร้ายเขาทำให้เขาเครียดและไม่กล้าปรึกษาเมื่อเกิดเรื่องราวขึ้นบนโซเชียลมีเดียก็เป็นได้

ความพอดีของทั้งการดูแลใส่ใจจากคุณพ่อคุณแม่และความพอดีในการเล่นโซเชียลมีเดียของลูกนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องสมดุลกันเพื่อที่จะทำให้ทั้งสองฝ่ายมีความสุขร่วมกันและสามารถแบ่งปันสิ่งดีๆ ที่ได้จากโซเชียลมีเดียร่วมกันได้มากขึ้นอย่างไม่มีกำแพง พ่อแม่ก็กล้าที่จะถามไถ่ความเป็นไปและลูกเองก็กล้าที่จะบอกเล่าและปรึกษานั่นถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและเป็นการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อที่จะกระชับความสัมพันธ์ภายในครอบครัวได้อีกด้วย