Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ประกันสังคม กรณีคลอดบุตร มีหลักเกณฑ์อย่างไร เบิกได้เท่าไหร่ ใช้เอกสารอะไรบ้าง

ประกันสังคม กรณีคลอดบุตร มีหลักเกณฑ์อย่างไร เบิกได้เท่าไหร่ ใช้เอกสารอะไรบ้าง

คุณแม่หลาย ๆ คนดีใจที่คลอดลูก ได้เห็นหน้าลูก หลังจากหลงรักกันตั้งแต่ยังไม่เห็นหน้า แต่เดี๋ยวก่อน…คุณแม่ก็อย่าเพิ่งลืมเรื่องค่าใช้จ่ายในเรื่องการคลอดลูกนะคะ เพราะสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานเขามีนโยบายรองรับในเรื่องของการคลอดบุตรอยู่ค่ะ

วันนี้โน้ตรวมเอาหัวข้อสำคัญ ๆ มาไว้ให้คุณแม่ที่นี่แล้วค่ะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหลักเกณฑ์การเบิก เบิกได้เท่าไหร่ เอกสารที่ต้องใช้มีอะไรบ้าง ไปค่ะ เราไปไล่เรียงกันทีละข้อเลย

หลักเกณฑ์ของผู้ประกันตนหญิง กรณีคลอดบุตร เบิกได้เท่าไหร่

ไปดูรายละเอียดกันเลยค่ะ ว่ามีอะไรบ้าง

  • คุณแม่ต้องมีการจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ไม่น้อยกว่า 15 เดือนก่อนการคลอดบุตร
  • จ่ายค่าบริการทางการแพทย์แบบเหมาจ่าย กรณีคลอดบุตรให้แก่ผู้ประกันตนในอัตรา 13,000 บาท ต่อการคลอดบุตรหนึ่งครั้ง
  • สำหรับผู้ประกันตนหญิงมีสิทธิรับเงินสงเคราะห์กรณีหยุดงาน เพื่อการคลอดบุตร โดยเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นระยะเวลา 90 วัน
  • สำหรับการใช้สิทธิบุตรคนที่ 3 จะไม่ได้รับสิทธิเงินสงเคราะห์เพื่อการคลอดบุตร
  • กรณีที่คุณพ่อและคุณแม่เป็นผู้ประกันตนทั้งคู่ ให้ใช้ในการเบิกค่าคลอดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่จำกัดจำนวนบุตร/ครั้ง

สถานที่ยื่นเรื่อง

คุณพ่อคุณแม่สามารถไปยื่นเรื่องได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ หรือสำนักงานประกันสังคมจังหวัด และสาขาที่สะดวก ยกเว้นที่สำนักงานใหญ่บริเวณกระทรวงสาธารณสุขนะคะ

การพิจารณาสั่งจ่าย

ทางสำนักงานประกันสังคมจะพิจารณาสั่งจ่ายเป็น…

  • เงินสด/เช็ค (ให้ผู้มีสิทธิมาขอรับด้วยตนเองหรือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นมารับแทน)
  • ส่งธนาณัติให้ผู้ประกันตน
  • โอนเข้าบัญชีธนาคารตามบัญชีของผู้ที่ขอรับประโยชน์ทดแทน

เอกสารประกอบการยื่นคำขอประโยชน์ทดแทน กรณีคลอดบุตร

เอกสารที่จะพูดถึงต่อไปนี้ คุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียมไปให้ครบนะคะ จะได้ไม่ต้องเสียเวลาไปยื่นหลายรอบ

  1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส. 2-01 ผู้ประกันตนกรอกข้อความครบถ้วน พร้อมลงลายมือชื่อผู้ยื่นคำขอ
  2. สำเนาสูติบัตรบุตร 1 ชุด (กรณีคลอดบุตรแฝด ให้แนบสำเนาสูติบัตรของคู่แฝดด้วย)
  3. สำหรับผู้ประกันตนชายให้แนบสำเนาทะเบียนสมรสไปด้วย หรือกรณีที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสให้แนบหนังสือรับรองของผู้ประกันตนไปด้วย
  4. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรก ซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ยื่นคำขอ โดยมีธนาคารที่รองรับ ดังนี้
  • ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
  • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
  • ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)
  • ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
  • ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
  • ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
  • ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)
  • ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
  • ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด

หมายเหตุ

หากผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนไม่เห็นด้วยกับการสั่งจ่ายประโยชน์ทดแทน สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง

หลังคลอด ได้รับเงินสงเคราะห์บุตร

โน้ตขอแถมท้ายให้กับคุณแม่ที่เพิ่งคลอดบุตรอีกสักเรื่องนะคะ หลังคลอดบุตรแล้วคุณพ่อคุณแม่ยังจะได้รับเงินสงเคราะห์ในการเลี้ยงบุตรอีกด้วยค่ะ โดยจะได้รับเงินแบบเหมาจ่ายเดือนละ 600 บาทต่อบุตร นับตั้งแต่แรกเกิดจนอายุ 6 ปีบริบูรณ์ แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขนี้นะคะ

  • ต้องจ่ายเงินประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน
  • เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย
  • ยกเว้นบุตรบุญธรรมหรือบุตรที่ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่น
  • อายุตั้งแต่แรกเกิด – 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนไม่เกิน 3 คน
  • ยกเว้นกรณีบุตรเสียชีวิต

หมายเหตุ

หากคุณแม่คลอดลูกแฝด 2 คน คุณแม่ก็จะได้รับเงินประกันสังคมสงเคราะห์บุตรเป็นจำนวน 1,200 บาท ซึ่งสามารถจ่ายสูงสุดได้ไม่เกิน 3 คน นะคะ แล้วถ้าหากคุณแม่ลืมยื่น สามารถไปยื่นย้อนหลังได้ค่ะแต่ต้องไม่เกิน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ส่งเงินประกันสังคมตามที่กระทรวงแรงงานกำหนดนะคะ

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ รู้อย่างนี้แล้วก็เตรียมเอกสารให้พร้อมนะคะคุณแม่ ที่สำคัญอย่าลืมเตรียมตัวด้วย เพื่อรับเงินสงเคราะห์จากสำนักงานประกันสังคม อย่างน้อยก็ช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องแบกรับภาระเรื่องค่าใช้จ่ายมากนัก แต่งานนี้ต้องวานให้คุณพ่อช่วยแล้วล่ะค่ะ เพราะคุณแม่เจ็บแผลคลอดอยู่^^

อ้างอิง
กองทุนประกันสังคม