Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

โรคชิคุนกุนยาคืออะไร? จะป้องกันได้อย่างไร ?

: โรคชิคุนกุนยาคืออะไร? จะป้องกันได้อย่างไร ?

โรคชิคุนกุนยา หรือ โรคไข้ปวดข้อ โรคร้ายที่คุณแม่ต้องระวังเป็นพิเศษในระหว่างตั้งครรภ์ เพราะสามารถถ่ายทอดไปสู่ลูกน้อยภายในครรภ์ได้ นอกจากนี้ ยังสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย เป็นโรคที่เกิดจากพาหะนำโรคอย่างยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะนำโรคเดียวกันกับโรคไข้เลือดออก จะพบได้ค่อนข้างมากในช่วงหน้าฝน ผู้ใหญ่บางคนยังไม่เข้าใจว่าโรคนี้คืออะไร แตกต่างกับโรคไข้เลือดออกอย่างไรบ้าง ซึ่งมันเป็นโรคที่เมื่อรักษาหายแล้ว แต่จะยังพบอาการบางอย่างที่ยังคงไม่หายไป

โรคชิคุนกุนยาและโรคไข้เลือดออก

โรคชิคุนกุนยาและโรคไข้เลือดออก มีพาหะนำโรคชนิดเดียวกัน นั่นก็คือยุงลาย มีความรุนแรงคล้าย ๆ กัน แต่จะไม่ร้ายแรงถึงชีวิต ซึ่งจะสามารถจำแนกออกจากกันได้ และหากพบโรคชิคุนกุนยาในวัยเด็กอาจส่งผลกระทบถึงขั้นร้ายแรงกับอวัยวะภายในร่างกายได้

โรคชิคุนกุนยาและโรคไข้เลือดออกสามารถจำแนกอาการได้ดังนี้

อาการของโรคชิคุนกุนยา

  • ไข้สูงอย่างเฉียบพลัน อาจวัดไข้ได้ถึง 40 องศาเซลเซียส แต่สามารถมีอาการดีขึ้นได้ภายใน 2-3 วัน
  • ปวดข้อต่อ ปวดกล้ามเนื้อ แบบเฉียบพลัน หรืออาจพบว่ามีภาวะข้ออักเสบ หากพบโรคชิคุนกุนยาในผู้ใหญ่
  • ตาแดง
  • ผื่นแดง ขึ้นตามตัว แขน และ ขา ไม่มากนัก
  • ไม่มีเกล็ดเลือดต่ำ
  • เบื่ออาหาร อาจมีคลื่นไส้และอาเจียนร่วมด้วย

อาการของโรคไข้เลือดออก

  • ไข้สูง มากกว่า 38 องศาเซลเซียส และจะมีไข้มากกว่า 4 วันขึ้นไป
  • ผื่นแดง พบได้เป็นจำนวนมากบนร่างกาย
  • มีเกล็ดเลือดต่ำ
  • มีอาการปวดเมื่อยเล็กน้อย

จากข้อสังเกตที่จะสามารถจำแนกทั้ง 2 โรคนี้ออกจากกันได้ นั่นก็คืออาการปวดข้อที่มีมากเกินกว่าปกติแม้จะดูเหมือนว่าโรคชิคุนกุนยาจะมีอาการที่มากกว่าไข้เลือดออก แต่ก็สามารถรักษาตามอาการให้หายได้ ในขณะที่โรคไข้เลือดออกจะต้องรีบพบแพทย์อย่างเร่งด่วน

ข้อแตกต่างระหว่างโรคชิคุนกุนยาและโรคไข้เลือดออก

  • โรคชิคุนกุนยา ไม่เป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตเหมือนกับไข้เลือดออก แต่หลังจากรักษาจนหายจากโรคได้แล้ว จะยังพบว่ามีอาการปวดข้อเรื้อรัง ซึ่งอาจใช้เวลารักษาที่ยาวนานมากกว่า 2 ปี
  • โรคชิคุนกุนยา ไม่ทำให้เกิดอาการช็อคกับผู้ป่วยได้ เนื่องจากไม่มีสารพลาสม่าหรือสารน้ำรั่วออกจากเส้นเลือดอย่างรุนแรง ที่อาจเกิดขึ้นได้กับโรคไข้เลือดออก
  • โรคชิคุนกุนยา ไม่พบว่ามีเกล็ดเลือดต่ำอย่างเช่นโรคไข้เลือดออก ซึ่งมีผลทำให้เลือดออกรุนแรง

ข้อควรรู้ของโรคชิคุนกุนยา

  • หากคุณแม่ที่ได้รับเชื้อไวรัสของโรคชิคุนกุนยาอยู่ในช่วงตั้งครรภ์ อาจมีการถ่ายทอดเชื้อไวรัสสู่ลูกน้อยในครรภ์ได้
  • โรคชิคุนกุนยาไม่สามารถติดต่อได้ผ่านคนสู่คน

การวินิจฉัยโรคชิคุนกุนยา

การวินิจฉัยที่ดีที่สุดของโรคนี้ คือการเจาะเลือดของผู้ป่วยเพื่อส่งเข้าตรวจกับทางห้องปฏิบัติการ เพื่อเป็นการยืนยันที่แม่นยำที่สุด โดยภายในห้องปฏิบัติการจะสามารถตรวจสอบได้หลายวิธี ได้แก่

การวินิจฉัยด้วยการเพาะเชื้อจากเลือดของผู้ป่วย

วิธีนี้จะสามารถพบเชื้อได้ หากเชื้อไวรัสในเลือดของผู้ป่วยมีมากเพียงพอ นั่นหมายความว่า หากมีเชื้อน้อยก็จะไม่สามารถพบเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาได้

การวินิจฉัยด้วยการ PCR จากเลือดของผู้ป่วย

แพทย์จะทำการเจาะเลือด และนำไปตรวจหาเชื้อในห้องทดลองต่อไป

การวินิจฉัยด้วยการตรวจซีโรโลยี

เป็นการตรวจหาแอนติบอดี้ที่ร่างหายสร้างขึ้น เมื่อมีการติดเชื้อไวรัสของโรคชิคุนกุนยา

วิธีรักษาโรคชิคุนกุนยา

ในปัจจุบันยังไม่มีตัวยาที่สามารถรักษาได้ รวมไปถึงวัคซีนที่จะสามารถป้องกันโรคได้นี้ ซึ่งหากพบว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อไวรัสของโรคชิคุนกุนยา จะใช้วิธีในการรักษาตามอาการของผู้ป่วย และดูแลตนเองรวมถึงเด็กเล็กที่มีอาการด้วยวิธี ดังต่อไปนี้

  • เมื่อมีอาการไข้สูง ให้เช็ดตัวเป็นระยะเพื่อลดไข้
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายฟื้นฟู
  • รับประทานอาหาร ผัก ผลไม้ ที่ช่วยเสริมวิตามินและแร่ธาตุให้แก่ร่างกาย
  • รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง

การป้องกันโรคชิคุนกุนยา

เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดขึ้นจากพาหะนำโรคจากยุงลาย ดังนั้น สิ่งที่ควรทำเพื่อไม่ให้เกิดโรคชิคุนกุนยาในผู้ใหญ่และในเด็ก และห่างไกลจากโรคร้ายนี้ได้ ได้แก่

กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ของยุง

ยุงลายมักจะวางไข่บริเวณที่มีน้ำขัง หากภายในบ้านมีถังน้ำ บ่อน้ำ แนะนำให้นำฝามาปิดไว้ เพื่อป้องกันยุงลงไปวางไข่ได้

ใช้ยากันยุงหรือสมุนไพรไล่ยุง

หากเป็นผู้ใหญ่สามารถใช้ยากันยุงเพื่อป้องกันได้ แต่สำหรับเด็กเล็กแนะนำให้ใช้สมุนไพรที่มีสรรพคุณในการไล่ยุงแทน เนื่องจากปลอดสารเคมีและไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก

มุมอับของบ้านเป็นแหล่งพักอาศัยของยุง

เก็บบ้านให้สะอาดอยู่เสมอ พยายามอย่าให้มีมุมอับภายในบ้าน เนื่องจากเป็นแหล่งที่ยุงมักจะอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม แม้จะพบว่าโรคชิคุนกุนยาไม่เป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้ป่วย รวมถึงมีอาการที่รุนแรงน้อยกว่าไข้เลือดออกอยู่มาก แต่ยังส่งผลกระทบและผลเสียระยะยาวให้กับร่างกายของผู้ป่วยได้เป็นอย่างมาก ยิ่งถ้าเกิดขึ้นกับเด็ก อาจส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นกับอวัยวะภายในร่างกาย อย่างเช่น ตับ ไต และ หัวใจได้ เพราะฉะนั้นหากพบอาการตามข้างต้น แนะนำให้รีบพบแพทย์อย่างเร่งด่วนเพื่อวินิจฉัยและเพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที