วันนี้เราจะมาแนะนำเคล็ดลับและเทคนิคในการดูแลเด็กวัยแรกเกิดถึง 12 เดือน ให้กับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่กัน เพราะการรู้ทันพัฒนาการของเด็กนั้นมีผลมากกว่าที่คุณคิด หากคุณพ่อคุณแม่รู้ว่าในแต่ละเดือนที่ลูกของคุณโตขึ้นเขาจะมีพัฒนาการด้านใดเราก็จะสามารถรู้ว่าเราควรจะคอยส่งเสริมพัฒนาการเหล่านั้นอย่างไรให้ถูกต้องและเหมาะสม
สารบัญ
มาคอยสังเกตุการณ์พัฒนาการในแต่ละด้านของลูกน้อยกัน
ก่อนจะมาเริ่มดูพัฒนาการในแต่ละเดือนของลูกน้อยกันนั้นขออนุญาตแบ่งประเภทของพัฒนาการออกเป็น 2 ประเภท นั่นก็คือ
- การพัฒนาการด้านร่างกาย จะเริ่มเห็นได้ชัดในช่วงอายุ 4 เดือน เป็นต้นไป
อายุ 4 เดือน เริ่มมีน้ำหนักประมาณ 10-18 กิโลกรัม สูง 23-27 นิ้ว และนอนวันละ 14-17 ชั่วโมง
อายุ 8 เดือน เริ่มมีน้ำหนักประมาณ 14-23 กิโลกรัม สูง 25-30 นิ้ว และนอนวันละ 11-13 ชั่วโมง
อายุ 12 เดือน เริ่มมีน้ำหนักประมาณ 17-27 กิโลกรัม สูง 27-32 นิ้ว และนอนวันละ 11-13 ชั่วโมงในแต่ละช่วงอายุคุณพ่อคุณแม่ควรช่วยกันสังเกตว่าลูกน้อยมีน้ำหนัก ส่วนสูง และได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอหรือไม่เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีผลต่อพัฒนาการของลูกน้อยทั้งสิ้น
- การพัฒนาการด้านสังคม อารมณ์ และการเรียนรู้ จะเริ่มเห็นสิ่งเหล่านี้ได้ชัดในช่วงอายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไปเช่นเดียวกันโดยจะเริ่มมีความรู้สึกเช่น ไม่สบายตัว กลัว หรือเหงา และจะทำการร้องไห้ออกมาเพื่อเป็นการปฏิสัมพันธ์ และเมื่อมีเสียงก็จะเริ่มมีการตอบสนองไม่ว่าจะเป็นการเรียกชื่อหรือการได้ยินสิ่งต่างๆ รอบตัว มีความชอบให้อุ้ม ชอบเป่าน้ำลาย และเริ่มมีความทรงจำกับสิ่งต่างๆ เริ่มตั้งแต่การจำตัวเองได้ไปจนถึงการจำและรู้จักสิ่งต่างๆ รอบตัว
1-12 เดือน ของลูกน้อย…มาช่วยกันปรับตัวไปพร้อมลูกน้อยกัน
ถ้าคุณพ่อคุณแม่ยังเป็นมือใหม่เพิ่งมีลูกคนแรกก็ควรติดตามพัฒนาการที่ทางเรากำลังจะแนะนำต่อจากนี้หรือแม้จะเป็นคุณพ่อคุณแม่ที่เคยผ่านช่วงต่างๆ ของพัฒนาการมาครบแล้วแต่กำลังจะมีน้องใหม่ก็ยังควรอ่านคำแนะนำของเราต่อไปเช่นกัน หรือแม้แต่ญาติสนิทมิตรสหายที่ใกล้ชิดกับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ก็สามารถร่วมด้วยช่วยกันสังเกตพัฒนาการต่างๆ ของเด็กเพื่อช่วยกันส่งเสริมให้ถูกต้องไปด้วยกัน
พัฒนาการของเด็ก 1 เดือน
ควรกระตุ้นลูกน้อยผ่านกิจกรรมที่มีการเล่นกัน ยกตัวอย่างเช่น การพูดคุย ร้องเพลงให้ฟังหรือถ้าช่วงไหนไม่ว่างจะเปิดเพลงเบาๆ ให้ฟังแทนก็ได้ และหากได้ลองสังเกตดูดีๆ เมื่อเราทำเสียงสูงเด็กจะทำตาโตเพราะในช่วงนี้ถือเป็นช่วยที่เด็กจะมีปฏิกิริยากับเสียงสูง
และนอกจากนี้ยังควรสัมผัสลูกน้อยของคุณไม่ว่าจะเป็นการโอบกอดอย่างอ่อนโยน นวดตัวเบาๆ คอยหวีผม โดยทุกๆ การกระทำควรเป็นไปอย่างนุ่มนวล สม่ำเสมอ รวมไปถึงควรสบตากับลูกน้อย หาโมบายหรือรูปภาพคนสีขาว-ดำ มาแขวนให้ลูกน้อยได้ดูโดยวางไว้มนระยะห่างประมาณ 13 นิ้ว
พัฒนาการของเด็ก 2 เดือน
เริ่มหาสีสันสดใสเข้ามาเพิ่ม เช่น โมบายก็ควรเป็นสีและเอาไว้ห่างจากสายตาเป็นระยะประมาณ 20 นิ้ว และควรเริ่มออกกำลังกายให้เขาด้วยการยกแขน ยกขา โยกอย่างเบาๆ ในเวลาที่เด็กนอนหงายอยู่ หมั่นคอยอุ้มอย่างอ่อนโยนและคอยสบตากับเขา ให้เขาได้เห็นรอยยิ้มและการพูดคุยที่เป็นมิตร อบอุ่นและอ่อนโยนจากเรา เริ่มเปิดเพลงเพื่อกล่อมเป็นเพลงแนวเบาๆ สบายๆ ให้กับลูกของคุณกันได้แล้วในช่วงเวลาที่เขากำลังจะเริ่มนอนหลับ และที่จะลืมไปไม่ได้เลยคือการหมั่นอุ้มเขาเปลี่ยนท่านอนให้มีหลายท่าทั้งนอนคว่ำ นอนหงาย อุ้มให้เริ่มนั่งโดยให้หัวพิงคนอุ้มไว้
พัฒนาการของเด็ก 3 เดือน
ควรเริ่มให้ลูกน้อยได้สัมผัสถือของเล่นและเริ่มมีการเขย่าเข้ามาร่วมด้วย แต่คุณก็ยังคงต้องคอยประคองมือของลูกน้อยไว้ด้วย อุปกรณ์ที่แนะนำควรเป็นอุปกรณ์ที่ไม่หนักมาเขย่าแล้วเกิดเสียงได้ และการอุ้มในช่วงเดือนนี้จะเริ่มเปลี่ยนไปเพราะเราจะต้องเริ่มเอาหัวของลูกน้อยมาพาดบ่าพาไปเดินเล่นชมธรรมชาติเพื่อให้คอของเด็กแข็งแรงมากขึ้น ควรเริ่มพูดคุยให้มีการโต้ตอบจากเด็กและค่อยๆ เริ่มแนะนำบุคคลต่างๆ ให้เด็กได้มีโอกาสรู้จักมากขึ้น เริ่มแขวนของให้ลูกน้อยได้คว้าเล่น โดยมีระยะของการแขวนห่างจากเด็กประมาณ 1 ฟุต และการอุ้มจะต้องเริ่มปรับเปลี่ยนในท่านั่งทำให้เด็กได้นั่งเองโดยที่ไม่ต้องพิงคนอุ้ม ให้นอนคว่ำแล้วหาสิ่งของที่น่าสนใจมาเรียกให้เด็กมองขึ้นมาเพื่อช่วยบริหารคอนั่นเอง อย่าลืมสบตาลูกน้อยของคุณเหมือนเดิมด้วยแต่เริ่มให้มีการมองตามและเคลื่อนไหวให้มากขึ้น
พัฒนาการของเด็ก 4 เดือน
ในตอนนี้ลูกของคุณสามารถเขย่าของเล่นต่างๆ ให้เกิดเสียงเองได้แล้ว คุณจึงควรเริ่มหาของเล่นที่ปลอดภัยมาให้กับลูกน้อยได้เขย่ารวมถึงบีบเป็นการช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อแขนและมือได้ มีการเล่นใหม่ๆ แทรกเข้ามาเพิ่มระหว่างอาบน้ำคุณควรเริ่มตีน้ำเล่นกับลูกน้อยเพื่อให้เขาได้บริหารร่างกายและการเรียนรู้มากขึ้น เริ่มชูของให้ลูกของคุณสนใจทั้งในเวลาที่นอนคว่ำและนอนหงายเพื่อฝึกการพลิกตัวไปมาของเขาให้ดีขึ้น รวมไปถึงควรมีการเริ่มจับมือของลูกแล้วค่อยๆ ดึงขึ้นมาเป็นการยกศรีษะและลำตัวของเด็กขึ้น
พัฒนาการของเด็ก 5 เดือน
การคลานจะเริ่มทำได้ในเดือนนี้ คุณลองจับเด็กนอนคว่ำแล้วเรียกให้มาหานั่นคือการเริ่มฝึกการคลานที่ดีแต่อย่าลืมดูแลความปลอดภัยโดยรอบให้ดีด้วย ของเล่นต่างๆ เริ่มวางไว้ให้ใกล้มือลูกน้อยของคุณมากขึ้นเพื่อที่เขาจะสามารถเอื้อมมือไปหยิบมาเล่นเองได้ง่ายขึ้น เดือนนี้มีจุดพัฒนาที่เพิ่มขึ้นคือช่วงขาและเท้าคุณจึงควรหากำไลข้อเท้าหรือกระพรวนเท้ามาใส่เพื่อกระตุ้นให้เด็กอยากถีบขามากขึ้นเพราะเมื่อถีบขาแล้วจะมีเสียงดังขึ้นนั่นเอง การพูดคุยควรสบตาและค่อยๆ ขยับปากช้าๆ เพื่อให้ลูกสามารถสังเกตการขยับของปากคุณได้ชัดเจนขึ้น หัดให้ลูกเริ่มจำแนกเสียงต่างๆ ได้ โดยอาจเริ่มจากการสอนเรียกชื่อคนหรือสิ่งต่างๆ นั่นเอง
พัฒนาการของเด็ก 6 เดือน
เริ่มเป็นเดือนที่เด็กจะจดจำและเลียนแบบดังนั้นคุณควรเริ่มที่จะทำเสียงสูงๆ ต่ำๆ เพื่อให้ลูกน้อยได้ลองทำตามดู หลังจากให้ลูกน้อยได้สามารถคว้าของเล่นที่วางใกล้ๆ ตัวกันไปแล้วเดือนนี้ลองชูของเล่นให้สูงขึ้นเพื่อให้เขาได้เริ่มคว้ากันได้แล้ว และมีพัฒนาการใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาในเดือนนี้ด้วยนั่นก็คือพวกเขาจะเริ่มคันเหงือกถึงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่จะเริ่มหาของเล่นที่กัดได้อย่างปลอดภัยมาให้ลูกน้อยเพื่อแก้อาการคันเหงือกกันได้แล้ว การอุ้มก็เริ่มทิ้งระยะออกมาให้เขาได้ทรงตัวเองแต่ก็อย่าลืมให้อยู่ในบริเวณที่สามารถจับสิ่งรอบๆ เพื่อทรงตัวเองได้ด้วย และเริ่มหาของเล่นที่มีความลึกเข้ามาให้เล่น เช่น ถ้วย กล่อง เป็นต้น รวมถึงควรหาลูกบอลเพื่อกลิ้งไปกลิ้งมาให้เด็กๆ ได้คอยมองตามกันเพื่อบริหารการมองและสายตานั่นเอง
พัฒนาการของเด็ก 7 เดือน
เด็กในวัยนี้เริ่มมีการจดจำได้แล้วกิจกรรมที่คุณควรเล่นกับเขาก็คือการเล่น ‘จ๊ะเอ๋’ หรือการเล่นซ่อนหาของเพราะสมองเขาจะเริ่มจดจำการหายไปและกลับมาได้บ้างแล้ว และการเล่นของเล่นจะมีความซับซ้อนมาขึ้นได้ เช่น การหาบล็อกหลายๆ ขนาดมาเพื่อให้ได้ลองขับลองเล่นซ้อนกันไปมา และควรเป็นสิ่งของที่มีหลายสีและหลายพื้นผิวทั้ง ผิวเรียบ หยาบ อ่อน แข็ง เป็นต้น และเริ่มวางของเล่นไว้เป็นเป้าหมายในการคลานมาหาของเด็กๆ ถือเป็นอีกหนึ่งการเสริมพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวที่ดี และยังควรหาของจูงใจให้ลูกน้อยของคุณพยายามลุกขึ้นยืนได้เองอีกด้วย อย่าลืมเพิ่มกิจกรรมให้เขาเช่นการถือแก้วน้ำ ช้อน ขวดนมเองเข้าไปในเด็กอายุช่วงนี้ด้วย
พัฒนาการของเด็ก 8 เดือน
เป็นเดือนที่เราจะต้องเริ่มมาโฟกัสที่การคลานของเด็กๆ อย่างจริงจังมากขึ้นจึงควรจัดบริเวณในการคลานไว้ให้เพียงพอและปลอดภัยกับเด็กๆ และเริ่มพูดคำสั้นๆ เพื่อให้ลูกน้อยได้เริ่มฝึกพูดตาม นอกจากนี้ยังควรเริ่มหาตะกร้ามาเพื่อช่วยฝึกให้ลูกได้ลองโยนของลงไป เพื่อเป็นการฝึกการโยนอย่างมีเป้าหมายและยังช่วยเสริมทักษะในด้านการกะระยะได้อีกด้วย ที่สำคัญควรหาของเล่นมาเพื่อให้มีการทำงานร่วมกันระหว่างมือและตา เป็นวัยที่ควรเริ่มพาออกไปนอกบ้านเพื่อเรียนรู้และรู้จักกับคนใหม่ๆ และสิ่งใหม่ๆ นอกจากในบ้านบ้าง เริ่มสอนการเรียกชื่อส่วนต่างๆ ของร่างกาย ของเล่นเริ่มเปลี่ยนเป็นสิ่งที่เป็นแท่งเพื่อให้ลูกได้หัดใช้นิ้ว เช่น ของเล่นที่เป็นเครื่องตี หรือของกินเช่น ขนมปังแท่งให้ลูกได้ฝึกหยิบเข้าปากด้วยตนเอง
พัฒนาการของเด็ก 9 เดือน
การยืนเริ่มเกิดขึ้นได้ในเดือนนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรช่วยพยุงให้เขาได้ลองยืนเพื่อให้รู้จักการทิ้งน้ำหนักตัวลงบนขาและเท้า เริ่มหาของเล่นที่ต้องหยิบไปปักไปเสียบเพื่อช่วยในการบริหารกล้ามเนื้อมัดเล็กที่นิ้วมือ ในส่วนของการเรียนรู้เขาเริ่มจะรู้เรื่องมากขึ้นควรเริ่มอ่านนิทานให้ฟังและให้เรียนรู้จากการดูภาพของสัตว์ สิ่งของที่คุ้นเคย เมื่อพบเจอสัตว์และสิ่งของก็ควรเริ่มชี้และพูดชื่อให้เขาได้ฟังเพื่อเป็นการเสริมการเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ส่วนการกินเริ่มป้อนให้น้อยลงให้หัดทานเองทั้งข้าวและการดื่มน้พดื่มนมเองอีกด้วย
พัฒนาการของเด็ก 10 เดือน
ควรเริ่มหยิบของเล่นไปวางไว้บนโต๊ะที่สูงพอเอื้อมถึงและแข็งแรงมั่นคงเพื่อฝึกการเกาะยืนของลูกและหัดหยิบของ รวมทั้งยังเปลี่ยนไปชูของเล่นเพื่อให้ได้ฝึกการยืดแขน ยืนตัว และการลุกขึ้นยืนให้กับลูกน้อย เริ่มพาไปจูงมืดเดินเล่นที่สนามหญ้าให้เท้าได้สัมผัสพื้นจริงๆ ด้านของเล่นควรต่อบล็อกเป็นชั้นประมาณ 2-3 ชั้นแล้วให้ลูกน้อยลองต่อตาม รวมทั้งยังหานิทานที่มีสีสันและเล่มใหญ่มาอ่านให้ฟังพร้อมทั้งชี้ให้ดูเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ไปพร้อมกัน
พัฒนาการของเด็ก 11 เดือน
การเดินของลูกน้อยในช่วงนี้แข็งแรงขึ้นมาควรหาบริเวณที่เดินเล่นสะดวกแต่มีที่เกาะให้เขาได้ประคองตัวเดินด้วย เริ่มกล่าวชมเชยเมื่อลูกสามารถทำสิ่งที่เราบอกได้และเริ่มดึงเข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆ ของครอบครัวมากขึ้นแต่ก็จะต้องมีช่วงเวลาที่ทิ้งไว้ให้เขาได้เล่นคนเดียวด้วย และเมื่อมีโอกาสได้ทำกิจกรรมร่วมกันก็ควรคอยแนะนำพูดถึงสิ่งต่างๆ ที่ทำกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็น การอาบน้ำ การกินข้าว แต่งตัว เป็นต้น ของเล่นเริ่มหาจิ๊กซอว์ใหญ่ๆ มาให้ได้ลองต่อ นำของเล่นที่มีเสียงแตกต่างกันมาให้ลูกได้ลองแยกแยะเสียงของสิ่งต่างๆ ไปเรื่อยๆ
พัฒนาการของเด็ก 12 เดือน
เริ่มโฟกัสไปที่เรื่องของการแยกแยะสิ่งต่างๆ ทั้งสิ่งที่มีรูปร่างต่างกัน สอนจัดหมวดหมู่สิ่งต่างๆ ให้ลองเปิดสมุดภาพใหญ่ๆ ด้วยตนเองและคอยชี้ให้ดูรูปต่างๆ เริ่มให้ช่วยเหลือตนเองมากขึ้นทั้งการทานข้าว ดื่มน้ำ ดื่มนม อาบน้ำ แต่งตัว และคอยดึงให้เขามีส่วนร่วมกับสิ่งต่างๆ มากขึ้นทั้งการชี้แล้วถามว่าสิ่งนั้นคืออะไร สอนร้องเพลงง่ายๆ
การดูแลในแต่ละเดือนในช่วง 1 ปีแรกนั้นจำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแล ใส่ใจ และเฝ้าสังเกตอย่างใกล้ชิดเพราะทุกก้าว ทุกเวลา มีผลต่อพัฒนาการของเด็กเป็นอย่างมากจึงเป็นช่วงที่คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นศึกษาวิธีการเรียนรู้ให้เข้าใจและปฏิบัติอย่างถูกต้องเพื่อพัฒนาการที่สดใสของลูกน้อยในอนาคต