Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ลูกยังพูดจาเป็นภาษาต่างดาว เพราะอะไร? สาเหตุใกล้ตัวที่ไม่ควรละเลย

ลูกยังพูดจาเป็นภาษาต่างดาว เพราะอะไร? สาเหตุใกล้ตัวที่ไม่ควรละเลย

ปกติแล้วเด็กเมื่อเข้าวัย 2 ขวบ จะเริ่มมีการพูดสื่อสารได้บ้างเป็นคำสั้นๆ เช่น ไม่ได้ ไม่เอา ไม่ไป และจะเริ่มพูดได้เป็นประโยคที่ยาวมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออายุได้ประมาณ 2-3 ขวบ

“โดยทั่วไปพัฒนาการด้านการพูดของเด็กจะเริ่มขึ้นตั้งแต่อายุ 8 เดือน – 1 ขวบครึ่ง เด็กจะเริ่มเรียนรู้และจดจำคำศัพท์และฝึกพูดคำสั้นๆ อาทิ พ่อ แม่ ไม่ ไป บาย หรือจุ๊บ เป็นต้น”

จริงอยู่ค่ะ เด็กแต่ละคนต่างกัน มีพัฒนาการในด้านต่างๆ ช้า-เร็วต่างกัน โดยเฉพาะพัฒนาการด้านภาษาและการพูด คุณพ่อคุณอาจไม่ต้องกังวลมากก็จริงแต่ก็ไม่ควรละเลยนะคะ เพราะบางกรณีอาจเป็นไปได้ว่าลูกมีความผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้น ซึ่งเด็กควรได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องและตรงจุด

Youtube : ลูกยังพูดจาเป็นภาษาต่างดาว เพราะอะไร? สาเหตุใกล้ตัวที่ไม่ควรละเลย

สาเหตุที่ทำให้ลูกพูดจาภาษาต่างดาว

ความผิดปกติทางร่างกาย

จากนี้ไปให้คุณพ่อคุณแม่ลองใส่ใจสังเกตดูว่าทำไมลูกไม่ยอมพูดหรือพูดออกมาแล้วแต่สื่อสารไม่เข้าใจซักที โดยพิจารณาอาการอื่นๆ ร่วมด้วยนะคะ เช่น ลูกมีอาการหูหนวก เป็นโรคสมาธิสั้น หรือมีภาวะออทิสติกหรือเปล่า

หากพบว่ามีข้อผิดปกติดังกล่าวหรือหากคุณพ่อคุณแม่ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่พบนั้นจะใช่สาเหตุที่ทำให้ลูกพูดจาภาษาต่างดาวหรือเปล่า แนะนำควรพาลูกไปพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไปค่ะ

ความผิดปกติจากพันธุกรรม

โรคติดต่อทางพันธุกรรมไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นการติดต่อกันโดยตรงจากคุณพ่อคุณแม่นะคะ แต่อาจเป็นมรดก (เอ…เรียกมรดก จะดีไหมน้า^^) ที่ตกทอดมาจากรุ่นคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยายก็ได้ค่ะ ซึ่งท่านมีพัฒนาการเรื่องการพูดและการสื่อสารที่ช้า หรืออาจติดนิสัยพูดด้วยภาษาต่างดาวที่ไม่มีความหมาย ลูกๆ หลานๆ จึงมีพฤติกรรมเหล่านี้ติดมาด้วย

แต่ข้อนี้คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยกระตุ้นและช่วยฝึกลูกได้ค่ะ สอนคำศัพท์ลูก พูดคุยกับลูก ฝึกลูกพูดอย่างสม่ำเสมอ เมื่อถึงวัยที่ลูกจะพูด เค้าจะสามารถพูดได้และสื่อสารได้เองตามปกติค่ะ

พูดหรือเล่นกับลูกด้วยภาษาต่างดาวเช่นกัน

พ่อแม่รังแกฉันสุดๆ” ค่ะ เพราะอะไร? เพราะบางครอบครัวเห็นว่าลูกพูดภาษาต่างดาวมา ก็เอาแต่ขำ แถมพูดตามลูกอีกต่างหาก เห็นว่าลูกขำ ก็ทำให้คุณพ่อคุณแม่ขำกับลูกด้วยเห็นเป็นเรื่องสนุก ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ จะทำให้ลูกยิ่งเข้าใจว่า “อ๋อ…หนูสื่อสารอย่างนี้พ่อแม่เข้าใจแน่ๆ อย่างนั้นหนูก็ไม่จำเป็นต้องฝึกพูดแบบคนทั่วไปสินะ” ทำให้ลูกไม่เปิดรับภาษาที่ถูกต้อง และที่สำคัญจะทำให้ลูกเข้าใจผิดว่าการพูดภาษาต่างดาวนี้ คุณพ่อคุณแม่ก็เข้าใจ จึงทำให้เด็กยังคงพูดต่อไปเรื่อยๆ
ดังนั้น เมื่อคุณพ่อคุณแม่ได้ยินลูกพูดภาษาต่างดาว ควรแก้คำที่ลูกพูดเสียใหม่ให้ถูกต้อง เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ ได้จดจำคำศัพท์ต่างๆ พร้อมทั้งการออกเสียงที่ถูกต้องอย่างสม่ำเสมอ เหล่านี้จะทำให้ลูกเรียนรู้ จดจำ และสื่อสารได้ไวขึ้นค่ะ

ให้ลูกอยู่กับหน้าจอมากเกินไป

อย่างที่เรารู้กันว่าหน้าจอก็คือ แทปเล็ต มือถือ โทรทัศน์ และคอมพิวเตอร์ หากคุณพ่อคุณแม่ปล่อยให้ลูกอยู่กับสิ่งเหล่านี้มากเกินไป จะทำให้ลูกเลียนแบบการพูดเร็ว หรือพูดไม่เป็นภาษาแบบตัวการ์ตูน

สำหรับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 0-2.6 ขวบ ยังไม่ควรให้ลูกรู้จักสิ่งเหล่านี้เด็ดขาดนะคะ ยกเว้นว่าถ้าคุณพ่อคุณแม่อยากให้เด็กได้รู้จักบ้าง แนะนำว่าไม่ควรเกิน 1 ½ ชม. ต่อวัน และที่สำคัญ ควรมีคุณพ่อคุณแม่อยู่ด้วยทุกครั้ง เพื่อสอนเค้าในสิ่งที่ถูกต้อง แต่หากให้ลูกดูเกินเวลาตามที่ได้กล่าวไปอาจทำให้ลูกสายตาสั้นหรือสมาธิสั้นได้ค่ะ

ปล่อยให้ลูกเล่นคนเดียวนานเกินไป

ต้องบอกว่าบางครอบครัวคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้มีเวลามาดูแลลูกทั้งวัน จึงทำให้ลูกต้องอยู่กับตัวเอง เล่นคนเดียว ดังนั้น จึงทำให้คุณพ่อคุณแม่พลาดโอกาสที่จะได้เรียนรู้ว่าวันๆ หนึ่งลูกของเราได้เรียนรู้หรือได้ฝึกเรื่องอะไรไปบ้าง เพราะลูกไม่มีคนช่วยฝึก ไม่มีใครสอน ทำให้ลูกไม่รู้วิธีการสื่อสาร ไม่มีคำศัพท์ในหัว ไม่รู้ว่าสิ่งนี้เรียกว่าอะไร บอกความรู้สึกตัวเองไม่ถูก สุดท้ายลูกก็จะหงุดหงิดตัวเอง เมื่อเป็นอย่างนี้ สิ่งเดียวที่ลูกจะทำได้ก็คือ ร้องไห้ เพราะหงุดหงิดตัวเองไม่รู้จะสื่อสารอย่างไรให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจ ส่งผลต่อสุขภาพจิตลูกอีกด้วยนะคะ

เบื้องต้นหากคุณพ่อคุณแม่ไม่มีเวลาดูแลลูกด้วยตัวเอง คงต้องอาศัยการขอความร่วมมือจากผู้เลี้ยงให้ช่วยฝึกลูกแทน แต่หากคุณพ่อคุณแม่เลี้ยงลูกเอง แนะนำให้พูดคุยกับลูกอย่างสม่ำเสมอ สอนคำศัพท์ให้เค้า เริ่มง่ายๆ จากสิ่งรอบตัวที่เห็นก่อนก็ได้ค่ะ แบบนี้ก็จะทำให้ลูกมีพัฒนาการและทักษะการพูดที่ไวขึ้น สื่อสารได้ดีขึ้นตามวัยค่ะ