Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ลูกนั่งหลังค่อม หลังโก่ง ส่งผลต่อพัฒนาการที่ล่าช้า

ลูกนั่งหลังค่อม หลังโก่ง ส่งผลต่อพัฒนาการที่ล่าช้า

เมื่อพูดถึงเรื่องของ “การนั่ง” เชื่อว่าแม้แต่ผู้ใหญ่หลาย ๆ คน เองก็ยังเผลอนั่งหลังค่อม โดยเฉพาะเวลาที่นั่งทำงานเพลิน ๆ ใจกำลังจดจ่ออยู่กับงานข้างหน้า แต่เรื่องของการนั่งหลังค่อมนี้ ถ้าคุณพ่อคุณแม่จะสังเกตดี ๆ ลูก ๆ ก็มีนั่งค่อมนะคะ เยอะเสียด้วยสิ ซึ่งการที่ลูกนั่งหลังค่อมบ่อย ๆ จะส่งผลเสียต่อพัฒนาการลูกอย่างไร วันนี้แม่โน้ตมีข้อมูลมาฝากค่ะ

ภาวะหลังค่อมแบ่งออกได้เป็น 2 สาเหตุ หลัก ๆ คือ

  • หลังค่อมโดยเกิดจากกระดูกสันหลังคดมากผิดปกติ
  • หลังค่อมอันเกิดจากความเคยชิน อาทิ ท่านั่งขณะทำงาน นั่งขัดสมาธิ รวมไปถึงอิริยาบถต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน

พฤติกรรมที่ทำให้เกิดภาวะหลังค่อม

ภาวะหลังค่อมเป็นภาวะที่เกิดจากการทำท่าทางและอิริยาบถที่ไม่ถูกต้อง ซ้ำเดิมเป็นระยะเวลานาน ซึ่งท่าทางที่ผิดดังกล่าวนี้ สามารถเกิดได้ตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ ซึ่งพฤติกรรมที่ควรเลี่ยงดังกล่าว ได้แก่

การนั่ง

  • นั่งไขว่ห้าง : ท่านี้จะส่งผลให้น้ำหนักไปตกอยู่ที่อุ้งเชิงกรานข้างใดข้างหนึ่งมากกว่า ส่งผลให้กระดูกคดงอ โดยเฉพาะกระดูกสันหลังและอุ้งเชิงกราน เป็นเหตุให้เกิดอาการปวดคอและหลังตามมาได้
  • นั่งกอดอก : ด้วยท่านี้จะทำให้กระดูกสะบักและหัวไหล่นั้นถูกยืดออก ท่านี้จะส่งผลให้หลังช่วงบนจะงองุ้มเข้า ทำให้ช่วงคอยื่นออกไปข้างหน้าโดยอัตโนมัติ ส่งผลโดยตรงต่อการทำงานของระบบประสาทที่ไปเลี้ยงส่วนแขน
  • นั่งหลังงอหรือหลังค่อม : ท่านี้เห็นผลเร็วค่ะ โดยเฉพาะกับเวลาที่ต้องนั่งทำงานเป็นเวลานานโดยที่ไม่มีการเปลี่ยนอิริยาบถ จะทำให้กล้ามเนื้อเกร็ง ก่อให้เกิดการคั่งของกรดแลคติก ส่งผลให้เกิดอาการปวดเมื่อยที่หัวไหล่ และสะโพก
    นั่งเก้าอี้แบบไม่เต็มก้นหรือไม่พิงพนักเก้าอี้ : ท่านี้กล้ามเนื้อขาจะรับน้ำหนักมากและนาน ส่งผลต่อกระดูกสันหลัง จึงส่งผลให้เกิดอาการปวดหลังเรื้อรังได้

การยืน

  • ยืนหลังค่อม หรือยืนแอ่นตัวไปด้านหน้า : ท่านี้จะทำให้แนวของกระดูกผิดปกติไป จึงทำให้ปวดหลัง
  • ยืนโดยทิ้งน้ำหนักไปที่ขาข้างใดข้างหนึ่ง : ท่านี้จะส่งผลให้เกิดตะคริวตามมา บางรายหากมีน้ำหนักตัวมาก เมื่อนาน ๆ ไปจะเริ่มมีอาการปวดเข่าได้

การนอน

  • นอนคว่ำ : ไม่ว่าจะนอนคว่ำเพื่ออ่านหนังสือ หรือนอนคว่ำเพื่อหลับในเวลากลางคืน ท่านี้จะทำให้กระดูกสันหลังแอ่นมากเกินไป ทำให้ปวดหลัง ปวดคอได้
  • นอนขดตัว : การนอนหดขา หดแขน และหดตัว จะทำให้กระดูกสันหลังคดงอผิดรูป รวมถึงอาจมีอาการเจ็บกล้ามเนื้อได้

ตามแฟชั่น

  • รองเท้าส้นสูงเกิน 1 นิ้วครึ่ง : เรื่องของรองเท้าส้นสูงเป็นความชื่นชอบของผู้หญิงหลาย ๆ คน เพราะมันช่วยเสริมสร้างบุคลิกให้ดูโดดเด่นและสวยงาม แต่ข้อเสียคือ การใส่รองเท้าส้นสูงเป็นเวลานานและส้นสูงเกินไป จะส่งผลต่อกระดูกสันหลังได้
  • สะพายกระเป๋าที่ไหล่ข้างเดียว : ส่วนใหญ่แล้วกระเป๋าสวย ๆ ของผู้หญิงเราก็จะเป็นแบบสะพายไหล่ข้างเดียว ซึ่งถ้าสะพายแบบนี้ซ้ำ ๆ ข้างเดียวกันเป็นเวลานาน จะส่งผลต่อกล้ามเนื้อ และกระดูกข้างนั้น ๆ ที่ต้องแบกรับน้ำหนักมาก กระดูกจะคดงอ

ปัญหาด้านพัฒนาการที่เกิดจากลูกนั่งหลังค่อม

ลูกนั่งหลังค่อม ส่งผลต่อพัฒนาการในหลายข้อ ดังนี้

  • ลูกมีปัญหาด้านการเขียน และพัฒนาการที่สัมพันธ์กันระหว่างมือกับสายตา
  • ทำให้จดรายละเอียดในวิชาต่าง ๆ รวมถึงการบ้านได้ไม่ครบ
  • มักจะปวดหลัง ไหล่ และแขน เหตุจากการสั่งการกล้ามเนื้อนั้น ยังสั่งแยกมัดได้ไม่คล่อง
  • มีอุปสรรคและมีปัญหาทางด้านทักษะกีฬา

กว่าลูก ๆ จะหลังค่อมจนคุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตเห็นได้นั้นต้องใช้ระยะเวลาค่ะ แต่ทันทีที่คุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นได้แล้วนั้นอาจจะต้องใช้เวลานานกว่าจะปรับให้กลับมาเหมือนเดิม ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่จะทำให้ลูกหลังค่อม กันไว้ดีกว่าแก้ดีกว่าค่ะ แต่ถ้าเริ่มเห็นว่าลูกเริ่มมีอาการปวดหลัง หรือปวดไหล่อันเกิดจากท่าทางที่ผิดปกติไป ให้คุณพ่อคุณแม่ใช้ “ท่าบริหารแก้หลังค่อม ที่ใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่” มาเป็นตัวปรับพฤติกรรมแบบนี้ก็ได้เช่นกันค่ะ


รู้สึกว่าลูกเริ่มมีไหล่ห่อนิด ๆ เหมือนหลังค่อมเลย แก้อย่างไรดี? การแก้อาการหลังค่อม สามารถแก้ได้วยท่าบริหารค่ะ ซึ่งเราได้รวบรวมมาไว้แล้วที่นี่ ทำได้ง่าย ๆ คลิกเลย

อ้างอิง daily.khaosod.co.th, bumrungrad.com