Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

แนะวิธีการอ่านหนังสือนิทานขั้นเทพ ยิ่งอ่านบ่อย ยิ่งกระตุ้นพัฒนาการลูก

แนะวิธีการอ่านหนังสือนิทานขั้นเทพ ยิ่งอ่านบ่อย ยิ่งกระตุ้นพัฒนาการลูก

เพราะพัฒนาการเป็นสิ่งสำคัญ การปลูกฝังให้ลูกรักการอ่าน และเป็นเด็กที่มีจินตนาการก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน กิจกรรมการอ่านหนังสือดูเหมือนจะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สามารถช่วยการกระตุ้นพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ให้ลูกได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านความจำ หรือเสริมความรู้ แต่…ปัญหาคือ เด็กไม่ค่อยสนใจฟังเท่าไหร่ สมาธิหลุดบ่อย วันนี้โน้ตมีเทคนิคการอ่านหนังสือนิทานขั้นเทพมาฝากค่ะ จะอ่านอย่างไร ไปติดตามกันค่ะ

วิธีการอ่านหนังสือนิทานขั้นเทพ

เลือกเรื่องราวให้เหมาะสม

เหมาะสม” ถ้าจะขยายความให้เข้าใจง่ายก็คือ เหมาะสมทั้งในเรื่องของวัย พัฒนาการ สิ่งที่ลูกชอบ หรือเป็นประสบการณ์ เป็นเรื่องราวใกล้ตัวของลูก อาทิ เรื่องสัตว์ ต้นไม้ หรืออาจเป็นเรื่องการทำขนม ฯลฯ รวมไปถึงความยาวของนิทานที่อ่าน เพราะเด็กยิ่งเล็กมาก สมาธิเค้าก็จะสั้นตามไปด้วยขึ้นอยู่กับช่วงวัย และถึงแม้เด็กในวัยเดียวก็มีความชอบในสิ่งต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน ดังนั้น การที่คุณพ่อคุณแม่เคยอ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟังแล้ว แต่ลูกไม่ชอบ ก็ไม่ได้แปลว่าลูกจะไม่รักการอ่านหนังสือนะคะ

นอกจากนี้ การเลือกเรื่องราวที่สามารถคาดเดาตอนจบได้ ลูกก็จะรู้สึกเบื่อ หรือเลือกเรื่องที่ซับซ้อนเกินไปลูกก็รู้สึกว่าต้องใช้ความคิดมากไปอีก เพราะฉะนั้นก่อนตัดสินใจซื้อหนังนิทานสักเล่ม ใจเย็น ๆ ค่อย ๆ เลือกนะคะแม่

ปรับเสียงสูงต่ำให้ต่างกันไป

ข้อนี้โน้ตลองมาแล้วกับตัวเองค่ะ สมัยที่ลูกยังเป็นทารก เคยรู้มาว่าให้คุณแม่ลองทำเสียงสูง เสียงต่ำเล่นกับลูกดู ลูกจะสนใจมากกว่าเสียงของแม่ในโทนเดิม ๆ ครั้งแรกที่ลองทำ “เออ…มันได้ผลแห๊ะ” ลูกหันขวับเลย มองโน้ตด้วยสายตาว่า “เอ๊ะ…แม่ทำเสียงอะไรน่ะ?” สักพักก็นอนยิ้ม

พอโตขึ้นมาหน่อย เวลาอ่านนิทานให้ลูกฟังก็จะใช้การพากย์หลาย ๆ เสียงตามจำนวนตัวละคร เพิ่มอรรถรสในการเล่าและฟังนิทานได้มากทีเดียวค่ะ ลูกนั่งฟังได้จนจบเรื่องเลย

มีอุปกรณ์เสริม

บางครั้งการเล่านิทานอย่างเดียวอาจจะดูน่าเบื่อไปสักนิด ให้คุณพ่อคุณแม่ลองหาอุปกรณ์เสริม อาทิ ตุ๊กตามือ ตุ๊กตาสวมนิ้วเล็ก ๆ หรือจะใช้กระดาษวาดขึ้นเองก็ได้ค่ะ แล้วตัดให้ได้รูปทรง แบบนี้ก็จะทำให้ลูกเข้าใจเรื่องราวมากขึ้น ทำให้ลูกได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเล่านิทานมากขึ้นมากกว่าแค่นั่งฟังอย่างเดียว นับเป็นการกระตุ้นความสนใจของลูกได้ดีทีเดียวค่ะ (ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่จำเรื่องราวในนิทานได้ สคริปต์ไม่ต้องแป๊ะมาก แล้วมาเล่าให้ลูกฟัง แบบนี้ก็จะเพิ่มสนุกได้มากขึ้นค่ะ)

กระตุ้นให้คิดตามและถามได้

ในระหว่างการอ่าน หรือจะเป็นช่วงที่คุณพ่อคุณแม่กำลังอ่านอยู่ก็ได้ค่ะ ชักชวนลูกให้คิดตามโดยการตั้งคำถาม อาทิ

“เพื่อน ๆ เค้าไปอยู่ไหนกันแล้วนะ?”
“หนูชอบตัวละครไหนที่สุดคะ? เพราะอะไร?”
“ถ้าเป็นหนู หนูจะทำอย่างไรคะ?”

ปัจจุบัน หนังสือนิทานส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือนิทานที่เน้นสอนในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม มารยาท กาลเทศะ ความอดทน การแบ่งปัน ฯลฯ ถ้าช่วงนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องการสอนลูกในเรื่องอะไรก็ลองเลือกเรื่องให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริงดูนะคะ

อ่านสม่ำเสมอ

โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถกำหนดเวลาที่แน่นอนให้ลูกเลยก็ได้ค่ะ เช่น หลังอาหารเช้า (กรณีปิดเทอม หรือเสาร์-อาทิตย์) หรือก่อนเวลาเข้านอน และเริ่มจากหนังสือที่ใช้เวลาอ่านไม่นาน จากนั้นค่อย ๆ เพิ่มความยาวไปทีละนิด เป็นพฤติกรรมที่ทำทุกวัน เมื่อเกิดเป็นพฤติกรรมที่ทำทุกวัน ก็จะเคยชินเป็นนิสัย ติดการอ่านหนังสือไปเอง และ…ขณะอ่านนิทานต้องปิดสิ่งเร้าทุกอย่างด้วยนะคะ ไม่ว่าจะเป็นทีวี มือถือ หรือแทปเล็ต จะได้ไม่รบกวนสมาธิของทั้งคนอ่านและคนฟังค่ะ

ยิ่งอ่านบ่อย ยิ่งดี

ไม่ได้หมายความว่าคุณพ่อคุณแม่ต้องซื้อหนังสือใหม่ ๆ บ่อย ๆ ซื้อจนเต็มบ้าน หนังสือเยอะไม่ได้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของลูก แต่ขึ้นอยู่กับ “ช่วงเวลาคุณภาพ” ที่คุณพ่อคุณแม่มีให้กับลูกมากกว่า ไม่เป็นไรเลย หากคุณพ่อคุณแม่จะหยิบหนังสือเดิม ๆ มาอ่านให้ลูกฟังซ้ำ ๆ กว่าจะถึงตอนนั้นโน้ตว่าคุณพ่อคุณแม่สามารถคิดนิทานให้ลูกอ่านได้เองแล้วล่ะค่ะ เมื่อถึงตอนนั้นคุณพ่อคุณแม่ก็ทำหนังสือนิทานได้เองจากการเขียนและวาดก็ได้ค่ะ

ชวนอ่านสิ่งต่าง ๆ รอบตัว

เวลาเราเดินทางไปที่ไหนสักแห่ง เราจะเห็นตัวอักษร ตัวเลขเต็มไปหมด นั่นแสดงว่า การอ่านไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในหนังสืออย่างเดียว ลองชี้ชวนให้ลูกอ่านไปด้วยกันนะคะ ไม่ว่าจะเป็นป้ายร้านอาหาร ป้ายฉลากสินค้า ป้ายโฆษณา ป้ายบอกทาง ฯลฯ เพื่อเป็นการยกระดับความสามารถในการอ่านของลูกค่ะ

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ คุณพ่อคุณแม่คิดออกหรือยังว่าวันนี้จะอ่านนิทานเรื่องอะไรให้ลูกฟังดี^^