Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

วิธีช่วยลูกจากการสำลักอาหาร หรือสิ่งแปลกปลอมอย่างถูกวิธี

วิธีช่วยลูกจากการสำลักอาหาร หรือสิ่งแปลกปลอมอย่างถูกวิธี

การสำลัก” คือ การที่มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปที่หลอดลม ลูกน้อยจะมีอาการไออย่างมาก ซึ่งการไปนี้เองเป็นกลไกในการขับสิ่งแปลกปลอมออกจากท่อหลอดลม หากไอและขับออกมาได้สำเร็จ ลูกน้อยจะหยุดไอและหายเป็นปกติ
แต่ในกรณีที่ขับออกไม่สำเร็จ แต่สิ่งแปลกปลอมนั้นมีขนาดเล็กอาจลงไปสู่ทางเดินหายใจส่วนล่าง อาจส่งผลให้มีการติดเชื้อตามมา มีไข้ ไอเรื้อรัง เพราะสิ่งแปลกปลอมนั้นมีเชื้อโรค แต่ในกรณีที่สิ่งแปลกปลอมมีขนาดใหญ่พอที่จะอุดท่อหลอดลมขนาดใหญ่ อาจทำให้ลูกน้อยหายใจไม่ออกเฉียบพลัน ขาดออกซิเจน (สมองสามารถขาดออกซิเจนได้นานเพียง 4 นาทีเท่านั้น) หัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิตได้ซึ่งวันนี้เราจะมาพูดถึงวิธีการป้องกันและช่วยเหลือลูกน้อยอย่างถูกวิธีกันค่ะ โดยแบ่งออกเป็นลูกน้อยที่อายุไม่ถึง 1 ขวบและลูกน้อยที่อายุมากกว่า 1 นะคะ

ปัจจัยที่จะทำให้ลูกสำลักนม อาหาร หรือสิ่งแปลกปลอม

สามารแบ่งออกได้เป็น 2 ปัจจัยหลัก ดังนี้

ปัจจัยภายใน

  • เด็กแรกเกิดที่มีปัญหาด้านอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการดูดกลืนที่ผิดปกติ เช่น ปากแหว่งเพดานโหว่ ช่องต่อของระบบทางเดินอาหารและระบบทางเดินหายใจมีปัญหา หรือมีภาวะหูรูดทางเดินอาหารที่ยังปิดได้ไม่สมบูรณ์
  • เด็กแรกเกิดที่มีปัญหาเรื่องโรคหัวใจ โรคปอด ทำให้ต้องหายใจถี่ขึ้น เร็วขึ้น
  • มีพัฒนาการที่ล่าช้า หรือเคยมีประวัติชักมาก่อน จึงมีโอกาสเสี่ยงที่จะสำลักได้ง่าย

ปัจจัยภายนอก

  • ถ้าลูกสำลักนม เนื่องจากวิธีการให้นม แต่ถ้าลูกดูดนมจากเต้า โอกาสที่จะสำลักมีน้อย เพราะน้ำนมแม่จะไหลก็ต่อเมื่อมีการดูด แต่ถ้าเป็นการให้นมจากขวดนม ไม่ว่าลูกจะดูดหรือไม่ดูด น้ำนมก็จะไหลออกมาอยู่ดี เพราะฉะนั้น ถ้าคุณแม่ให้นมลูกในลักษณะที่ผิดท่า ไม่ถูกวิธี เช่น ป้อนนมในขณะที่ลูกนอนราบกับพื้น ป้อนนมในขณะที่ลูกกำลังร้องไห้ หรือป้อนนมลูกไป ชวนลูกคุยไป แถมเล่นไปอีก โอกาสสำลักก็ง่ายขึ้นค่ะ
  • เลือกใช้จุกนมที่ผิดขนาด ไม่เหมาะกับช่วงวัย ทำให้ปริมาณที่ลูกได้รับจากการกินนมนั้นมากเกินไป

วิธีการป้องกัน

หนึ่งในหลายๆ สาเหตุที่ทำให้เด็กเล็กเสียชีวิตจากภาวะทางเดินหายใจก็คือการอุดตันจากสิ่งแปลกปลอม ค่อยข้างพบบ่อยในเด็กเล็กเพราะชอบนำสิ่งของเข้าปากแล้วสำลักลงหลอดลมซึ่งการป้องกันมีดังนี้ค่ะ

  1. ไม่ให้ของชิ้นเล็กๆ แก่เด็กๆ
  2. เก็บสิ่งของให้พ้นมือเด็ก เก็บในที่ที่ลูกน้อยไม่สามารถเอื้อมหยิบได้ เช่น เมล็ดถั่ว กระดุม เมล็ดข้าวโพดองุ่น ลูกเกด ขนมเยลลี่ ลูกปัด ลูกเต๋า เหรียญบาท แบตเตอรี่ ชิ้นส่วนของเล่น หรือแม้แต่ชิ้นส่วนลูกโป่งที่แตก
  3. สิ่งของใดก็ตามที่มี“ขนาดเล็กกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางของแกนกระดาษชำระ” ถือว่าเป็นอันตรายและมีความเสี่ยงที่ลูกน้อยจะเอาเข้าปาก ควรวางไว้ในที่ที่ลูกน้อยเอื้อมไม่ถึงนะคะ
  4. หากลูกน้อยกำลังทานอาหารที่ต้องอาศัยการเคี้ยว ต้องคอยบอกลูกน้อยเสมอนะคะ ว่าค่อยๆ เคี้ยวให้ละเอียด อย่ารีบร้อนกลืน (หรือแม้แต่ดื่มน้ำหรือดูดนมจากขวดก็ตาม)
  5. ไม่ทานอาหารขณะนอนราบ
  6. ไม่พูด, หัวเราะ หรือวิ่งเล่น ขณะมีอาหารอยู่ในปาก

วิธีช่วยเหลือลูกน้อยอย่างถูกวิธี

ลูกน้อยอายุน้อยกว่า 1 ขวบที่ยังไม่หมดสติ:

ขณะที่คุณแม่กำลังช่วยเหลือลูกน้อย วานให้คนอื่นโทรหารถฉุกเฉิน แต่หากคุณแม่อยู่กับลูกเพียงลำพัง คุณแม่ก็ต้องช่วยลูกไปด้วยและพยายามโทรหาตามรถไปด้วย

Tips : ควรเขียนเบอร์ฉุกเฉินตัวใหญ่ๆ แปะไว้ที่ผนังด้านในส่วนที่มองเห็นได้ง่ายด้วยนะคะ
  1. วิธี Back Blows : อุ้มลูกน้อยไว้ทีท่อนแขนโดยศีรษะต่ำกว่าลำตัวประมาณ60 องศา ใช้ต้นแขนของคุณแม่เป็นที่รองแขน โดยใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้ประคองบริเวณคาง เพื่อบีบแก้มให้อ้าปากค้างไว้
    “ใช้สันมืออีกข้างทุบแรงๆ บริเวณกึ่งกลางของหลัง ระดับแนวกระดูกสะบัก ทำติดกัน 5 ครั้งเร็วๆ”
  2. วิธี Chest Thrusts : หากลูกน้อยไม่ไอ หายใจ หรือสิ่งแปลกปลอมยังไม่หลุดออกมา ให้เปลี่ยนเป็นท่านอนหงาย ศีรษะต่ำกว่าลำตัว ใช้นิ้วชี้กลางและนิ้วกลางของข้างที่ถนัด กดที่กระดูกกลางอกระดับที่ต่ำลง 1 ซม. จากเส้นที่ลากระหว่างหัวนมทั้งสองข้างของลูกน้อย กดลึกประมาณ 1-2 ซม. ทำ 5 ครั้ง ห่างกันนาน 1 วินาที
    หากยังไม่หลุดให้กลับไปทำข้อ 1 และ 2 สลับกัน
  3. เพื่อตรวจเช็คดูว่าสิ่งแปลกปลอมออกมารึยัง ให้ใช้นิ้วชี้เพียงนิ้วเดียว กวาดไปตามกระพุ้งแก้ม แล้วเกี่ยวเอาสิ่งแปลกปลอมออกมา
    ห้าม! ไม่ให้ใช้ 2 นิ้ว เพราะนิ้วคุณแม่อาจจะยิ่งไปดันสิ่งแปลกปลอมให้กลับลงไปอีก
    ห้าม! ใช้วิธีนี้กับลูกน้อยที่มีสติ เพราะลูกอาจขัดขืน แล้วดิ้น ยิ่งทำให้สิ่งแปลกปลอมยิ่งลึกลงไปอีก
  4. หากไม่เห็นสิ่งแปลกปลอม จัดให้ลูกน้อยนอนหงาย ลำคอตรง ตรวจดูว่าลูกน้อยหายใจหรือไม่ หากพบว่าไม่หายใจ ให้ทำการเป่าปากและจมูก เพื่อช่วยหายใจ 2 ครั้ง เป่าให้แรงพอขนาดที่คุณแม่เห็นว่าทรวงอกขยาย คอยตรวจดูว่าลูกน้อยหายใจหรือยัง หากยัง…ให้ทำซ้ำวนไปที่ข้อ 1, 2 และ 4จนกว่ารถฉุกเฉินจะมา

ลูกน้อยอายุมากกว่า 1 ขวบที่ยังไม่หมดสติ :

ให้โทรเรียกรถฉุกเฉินทันที

วิธี Heimlich Maneuver : ยืนหรือคุกเข่าด้านหลังลูกน้อย ใช้แขนทั้งสองข้างโอบรอบเอว โดยมือข้างหนึ้งกำเป็นกำปั้น ด้านนิ้วโป้งวางอยู่ใต้กระดูกสิ้นปี่แต่เหนือสะดือเล็กน้อย วางมืออีกข้างทับบนกำปั้น ออกแรงกดมือทั้งสองเข้าไปที่ท้อง พยายามดันมือขึ้นไปด้านเพื่อดันให้สิ่งแปลกปลอมกระเด็นหลุดออกมา ทำซ้ำจนกว่าลูกน้อยจะไอหรือหายใจได้เอง

หากลูกหมดสติให้ทำดังนี้ค่ะ

  • ให้ลูกนอนหงายราบกับพื้น คุณแม่ยืนคร่อมหันหน้าไปทิศทางเดียวกับศีรษะ วางส้นมือทับซ้อนกันตำแหน่งต่ำกว่ากระดูกลิ้นปีแต่เหนือสะดือ ดันมือเข้าไปที่ท้องในทิศทางด้านศีรษะ ทำซ้ำ 6-10 ครั้ง
  • หากเด็กยังไม่หายใจ ให้ทำการช่วยหายใจด้วยการบีบจมูกแล้วเป่าลมเข้าปาก 2 ครั้ง ให้พอที่คุณแม่จะสังเกตเห็นทรวงอกลูกขยาย และทำซ้ำข้อ 2 จนกว่ารถฉุกเฉินจะมา

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ อาการสำลักอันตรายมากกว่าที่คุณแม่คิดใช่มั้ยล่ะคะ ยังค่ะยังไม่จบแค่นี้ เพราะการสำลักอาจนำไปสู่โรคปอดติดเชื้อได้ สำลักนมเข้าปอดเป็นอย่างไร? อาการปอดติดเชื้อเป็นอย่างไร? และที่สำคัญจะรับมือย่างไร? สามารถติดตามได้จากบทความนี้ค่ะ


ปอดลูกติดเชื้อ ชักเกร็ง เพราะสำลักนม นมเข้าปอดได้อย่างไร? และจะมีผลต่อพัฒนาการหรือไม่? เรื่องจริงจากคุณแม่ที่แชร์ประสบการณ์ค่ะ คลิกที่นี่