Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

อาการเด็กแพ้ยา จะสังเกต และดูแลอย่างไร

อาการเด็กแพ้ยา จะสังเกต และดูแลอย่างไร

อาการเด็กแพ้ยา เป็นอย่างไร จริง ๆ แล้วคุณพ่อคุณแม่หลายท่านอาจจะมองข้ามไปเลย เพราะคิดว่าไม่มีโอกาสที่ลูกจะแพ้ยาได้แน่นอน ซึ่งในการเลี้ยงเด็กจำเป็นมาก ๆ ที่จะต้องคอยสังเกต และเอาใจใส่ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร นม วิตามินเสริมต่าง ๆ อุปกรณ์ เครื่องใช้ เสื้อผ้า รวมไปถึงยาแก้อาการต่าง ๆ สำหรับเด็ก ซึ่งในเด็กบางคนก็รับประทานได้ปกติ แต่สำหรับบางคนกลับมีอาการแพ้

ปัจจัยที่ทำให้เด็กมีโอกาสแพ้ยาได้

ซื้อยาทานเอง ไม่ปรึกษาแพทย์

ซื้อยาให้เด็กรับประทานเอง โดยไม่ได้เข้ารับการปรึกษาแพทย์ ซึ่งสำหรับเด็กเล็กแล้วเพื่อเป็นการป้องกันอาการเด็กแพ้ยา จำเป็นจะต้องเข้าพบแพทย์ทุกครั้งเมื่อเด็กมีอาการเจ็บป่วย หรือไม่สบาย

ให้เด็กทานยาเกินขนาด

อาจจะเพราะด้วยคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครอง ยังมีความรู้ไม่เพียงพอ หรือมีความเข้าใจผิดว่าหากเด็กได้รับยามากขึ้นจะทำให้มีอาการดีขึ้นได้ในระยะเวลาไม่นาน

ขาดความรู้ ความเข้าใจ

คุณพ่อคุณแม่ยังขาดความรู้ หรือขาดการเอาใจใส่ ทำให้ไม่สามารถแยกหรือจำแนกอาการเด็กแพ้ยาได้ และปล่อยไว้เป็นเวลานานจนลูกมีอาการหนัก ซึ่งหากไปพบแพทย์ช้าเกินไปก็อาจจะถึงขั้นเสียชีวิตได้

เกิดจากพันธุกรรม

อาการเด็กแพ้ยายังพบว่า เกิดจากพันธุกรรมได้หากพบว่าคุณพ่อคุณแม่มีประวัติเคยแพ้ยาชนิดใดชนิดหนึ่ง ลูกก็อาจจะแพ้ยาชนิดนั้นเหมือนพ่อและแม่ได้ โดยจะแสดงอาการที่อาจจะเหมือนหรือแตกต่างกัน

อาการเด็กแพ้ยาเบื้องต้น ที่ควรต้องรู้

ความรุนแรงของอาการเด็กแพ้ยาจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของยาและภูมิต้านทานของเด็กแต่ละคน ซึ่งยาชนิดเดียวกันอาจจะทำให้เด็กมีอาการแพ้มากหรือน้อยต่างกันไป โดยแพทย์จะแบ่งระดับความรุนแรงของอาการแพ้ยาของเด็กออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้

อาการเด็กแพ้ยา – ระดับเริ่มต้น

โดยจะแสดงออกทางผิวหนังที่อาจจะทำให้คุณแม่เข้าใจว่าอาจจะเป็นเพียงลมพิษ ผื่นคันธรรมดา ซึ่งลักษณะผื่นแพ้ยาจะเป็นผื่นแดงนูนขึ้นมา มีตุ่มใสและมีอาการคัน หน้าบวม ตาบวม ริมฝีปากบวม มีไข้ร่วมด้วย

อาการเด็กแพ้ยา – ระดับปานกลาง

จะมีอาการอ่อนเพลียแต่หลับได้ไม่นาน จะมีอาการหายใจติดขัด หอบหืด เหมือนเหนื่อย มีอกบุ๋มซึ่งเป็นอาการระบบทางเดินหายใจ ในระยะนี้แพทย์จะต้องให้ดูอาการอย่างใกล้ชิด

อาการเด็กแพ้ยา – ระดับรุนแรง

ลักษณะผื่นแพ้ยาจะเริ่มพุพอง แดงไหม้เหมือนถูกไฟลวกและเริ่มเปื่อย นอกจากนี้ยังมีอาการท้องเสีย มีอาเจียนและมีไข้ร่วมด้วย ในบางรายจะมีตาอักเสบ ปากเปื่อย ซึ่งอาจจะหยุดหายใจได้

แพ้หลังใช้ยาไปแล้วหลายวัน

ยังมีอาการเด็กแพ้ยาที่ยังพบไม่บ่อยนักอยู่อีก ซึ่งพบได้หลังจากมีการใช้ยาไปแล้วหลายวัน หรือเกือบหลายสัปดาห์ ซึ่งก็มีอาการรุนแรงด้วยอาการมีไข้ ปวดข้อ และมีอาการผื่นแพ้ผิวหนังอย่างรุนแรงจนผิวหนังลอก

วิธีแก้อาการแพ้ยาเบื้องต้น

ในกรณีที่คุณพ่อคุณแม่เห็นว่าลูกเริ่มมีผื่นแดงตามร่างกาย ในขณะที่มีการป้อนยาบางชนิดเข้าไป ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่าเป็นอาการเด็กแพ้ยา ในกรณีที่อาการยังไม่รุนแรงให้ทำการแก้ไขเบื้องต้นได้ดังนี้

ให้งดป้อนยาทันที

และให้เก็บยาชนิดนั้นไว้ก่อน หากมีผื่นขึ้นและผี่นมีการเปลี่ยนแปลงให้ถ่ายรูปไว้ทุกครั้ง จากนั้นจะต้องพาเด็กไปพบแพทย์ และให้นำยานั้นไปด้วย เพื่อจะได้ให้แพทย์วินิจฉัย หายาทดแทนและลงประวัติแพ้ยาประเภทนั้น

ให้เด็กดื่มน้ำมาก ๆ

เพื่อให้ช่วยขับยานั้นทางปัสสาวะได้อย่างรวดเร็ว เป็นการช่วยลดอาการรุนแรงจากอาการเด็กแพ้ยาได้ และก็ควรจะต้องพาเด็ก และนำยาที่เด็กรับประทานไปพบแพทย์ และตรวจอย่างละเอียด เพื่อป้องกันและสามารถจะเลี่ยงการใช้ยาได้

ยาที่มักพบบ่อยจากอาการเด็กแพ้ยา

  1. แพ้ยาปฏิชีวนะ หรือยาฆ่าเชื้อ
  2. แพ้ยากันชัก
  3. แพ้ยาแอสไพริน
  4. ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (เอ็นเสด- NSAIDs)
  5. แพ้ยาชา
  6. แพ้ยาเคมีบำบัด
การป้องกันอาการเด็กแพ้ยา

เมื่อลูกมีประวัติการแพ้ยา สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องระวังทุกครั้งเมื่อลูกมีอาการป่วย ไม่ว่าจะไปโรงพยาบาลหรือปรึกษาเภสัชกร สิ่งที่จะต้องทำทุกครั้งก็คือ

  1. คุณแม่จะต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้งว่าลูกมีประวัติแพ้ยาอะไรและมีอาการอย่างไร
  2. และควรจะสอบถามแพทย์ว่ามียาที่คล้ายกันที่ควรจะต้องหลีกเลี่ยงอีกหรือไม่
  3. ควรจะมีข้อมูลของยาทางเลือก ที่ลูกสามารถจะใช้แทนยาที่แพ้ได้
  4. คุณแม่จะต้องพกบัตรแพ้ยาของลูกติดตัวตลอดเวลาและทุกครั้งที่ไปพบแพทย์

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเล็ก จำเป็นอย่างมากที่จะต้องเอาใจใส่ทั้งในเรื่องของอาหาร การเสริมวิตามิน หรือแร่ธาตุต่าง ๆ ตามช่วงอายุซึ่งสำคัญต่อการเจริญเติบโตของลูก รวมไปถึงเมื่อลูกมีอาการป่วยการดูแลเรื่องการให้ยาจะต้องมีความระมัดระวัง และสิ่งสำคัญจะต้องสังเกตอาการป่วยและลักษณะของอาการเด็กแพ้ยาได้ เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพ้ยาอย่างรุนแรงจนเป็นสาเหตุทำให้เด็กเสียชีวิตได้