Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ลูกกลัวเสียงประทัด จะปลอบใจอย่างไรดี

ลูกกลัวเสียงประทัด จะปลอบใจอย่างไรดี

เรื่องของความกลัวเป็นสิ่งที่ห้ามกันไม่ได้ หรือแม้แต่จะพยายามแก้ไข บางครั้งก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยาก แต่ก็ดีกว่าไม่เริ่มที่จะแก้ไข “เรื่องของเสียงประทัด” ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เด็กหลาย ๆ คนกลัว เพราะด้วยเสียงที่ดัง และดังอย่างต่อเนื่อง ผนวกกับการแตกกระจายของตัวประทัดเอง เมื่อเด็ก ๆ ได้เห็นก็ยิ่งทำให้รู้สึกหวาดกลัวมากขึ้นไปอีก และจะทำอย่างไรดีหากมีลูกขี้กลัว? จะทำอย่างไรกันดี วันนี้เรามีแนวทางมาแนะนำค่ะ

อาการของเด็กที่กลัวเสียงประทัด

โดยมากเด็กที่กลัวเสียงประทัด มักมีอาการ ดังนี้

  • ร้องโวยวาย, ร้องไห้ บางรายหากกลัวมากอาจกรีดร้องได้
  • ผวา และสั่นตลอดเวลาที่ได้ยินเสียงประทัด
  • มือ และเท้าชา
  • ใจสั่น, ใจเต้นแรง

สาเหตุที่ลูกกลัวเสียงประทัด

การที่ลูกน้อยกลัวเสียงประทัด เกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

อายุยังน้อย

เพราะลูกเพิ่งเกิดมาได้แค่ 3 ปี 5 ปี เอง ดังนั้น ช่วงนี้เป็นช่วงที่เขายังไม่รู้ในอะไรอีกหลาย ๆ อย่าง และต้องเรียนรู้กันอีกในหลาย ๆ อย่าง เด็กจึงยังแยกไม่ออกว่า สิ่งไหนที่ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะด้วยเสียงที่ดังเมื่อผนวกเข้ากับจินตนาการของเด็กเองก็จะทำให้เด็กเกิดความกลัวขึ้นมาได้

มีประสบการณ์ไม่ดีเกี่ยวกับเสียง

เด็กอาจเคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดีเกี่ยวกับเสียงมาก่อน เช่น อาจได้ยินเสียงที่ดัง ขณะที่อยู่คนเดียว จึงทำให้เกิดความระแวง จินตนาการต่อเองว่าเสียงนี้ต้องเป็นสัญญาณแห่งเรื่องราวที่ไม่ดี

รู้สึกไม่ปลอดภัย

เพราะเสียงที่ดัง หรือเสียงที่มีการเอะอะโวยวาย โดยมากเรามักเราจะเข้าใจว่าต้องมีเรื่องร้ายหรือเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นแน่นอน ดังนั้นเด็ก ๆ ก็เช่นกันค่ะ

เคยถูกหลอกให้กลัว

ข้อนี้เกิดจากผู้ใหญ่ที่ต้องการให้เด็กหยุดทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งทันที ก็มักจะใช้วิธีการหลอก เช่น ถ้าเสียงประทัดมาแสดงว่าจะมีการปรากฎตัวของภูติผีปิศาจที่จะมารับตัวเด็กดื้อไปอยู่ด้วย

วิธีปลอบใจ เมื่อลูกกลัวเสียงประทัด

ความกลัวเมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะแก้ไขต้องอาศัยระยะเวลาค่ะ นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ก็ยังมีส่วนสำคัญ ในการปลอบลูก และให้กำลังใจลูก ดังนี้

ฝึกให้ชิน

เพราะการที่คนเราได้ทำอะไรบ่อย ๆ หรือซ้ำ ๆ จะทำให้เกิดความคุ้นชิน รวมถึงในเรื่องความกลัวของเสียงประทัดเช่นกัน ให้คุณพ่อคุณแม่ลองเปิดเสียงประทัด หรือคลิปรายการที่มีเสียงประทัดให้ลูกฟัง แต่เปิดแบบเบา ๆ ลักษณะเหมือนว่าเราดูทีวีปกติ เปิดไว้สัก 10 วินาทีพอค่ะ ที่ว่าไม่ควรเปิดเสียงดัง เนื่องจากจะกลายเป็นเพิ่มความกลัวให้ลูกมากขึ้นได้

เตรียมอุปกรณ์ช่วยเหลือ

หากต้องการพาลูกไปเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ แนะนำว่าควรเตรียมอุปกรณ์ที่เป็นตัวช่วยไปด้วยทุกครั้ง เพราะไม่อาจรู้ได้เลยว่าที่ใดจะมีการจุดประทัด อุปกรณ์ช่วยเหลือ ได้แก่ ที่ครอบหู, ตุ๊กตาตัวโปรด หรือแม้แต่ผ้าห่มที่ลูกใช้ประจำ

บอกล่วงหน้า

หากคุณพ่อคุณแม่จะพาลูกไปเที่ยวในสถานที่ที่คาดว่าน่าจะมีประทัด ให้บอกกับลูกล่วงหน้า เพื่อที่ลูกจะได้รับรู้, เข้าใจ และจะได้เตรียมตัวรับมือเมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์นั้น ๆ และถ้าหากว่าเมื่อเจอกับเหตุการณ์จริงแล้ว ลูกยังคงแสดงความกลัว และไม่สบายใจที่จะอยู่ในเหตุการณ์นั้น ๆ ให้คุณพ่อคุณแม่พาลูกออกจากจุดนั้นทันที

การที่ต้องให้คุณพ่อคุณแม่รีบพาลูกออกจากสถานการณ์นั้น ๆ ทันที เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจาก คุณพ่อคุณแม่ต้องรักษา “ความเชื่อใจ” ที่ลูกมอบให้ไว้ให้ได้ค่ะ เมื่อลูกเกิดความเชื่อใจในตัวคุณพ่อคุณแม่แล้ว เขาก็จะพร้อมที่จะเผชิญเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้ได้อีกในอนาคตค่ะ เพราะลูกรู้ว่าเมื่ออยู่กับคุณพ่อคุณแม่แล้ว เขารู้สึก “ปลอดภัย”

ไม่ดุลูก

เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกได้ยินเสียงประทัด แล้วเกิดอาการกลัว สิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งเลยก็คือ การดุลูกด้วยเสียงที่ดัง เพราะหากคุณพ่อคุณแม่ต้องการให้ลูกเลิกกลัวเสียงประทัดที่ดังด้วยการดุลูกด้วยเสียงที่ดังเช่นกัน แบบนี้ยิ่งจะทำให้ลูกกลัวมากขึ้น

หากอาการมากขึ้น ควรพบแพทย์

เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณพ่อคุณแม่เห็นว่าลูกมีอาการกลัวมากขึ้น อาทิ หายใจติดขัด, สั่นกลัว จนต้องเอามือมาปิดหู, ตาเลิ่กลั่ก หรือมีอาการสั่นกลัวมากอย่างเห็นได้ชัด แนะนำว่าควรรีบพาไปพบแพทย์ เนื่องจากมีแนวโน้มว่าลูกอาจมีอาการในกลุ่ม Phobia หรือที่เรียกกันว่า สภาวะการกลัวในขั้นต้นนั่นเอง

คงไม่มีคุณพ่อคุณแม่คนไหนที่ดสบายใจเมื่อเห็นลูกมีอาการกลัวเสียงประทัด แต่การแก้ไขก็ควรค่อยเป็นค่อยไป และการแก้ไขที่ดีที่สุดคือ การให้ความเข้าใจกับลูก และอ้อมกอดอันอบอุ่นของคุณพ่อคุณแม่ค่ะ