Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ฝึกลูกกินข้าวเองกี่ขวบดี? กระตุ้นพัฒนาการด้านใดบ้าง?

ฝึกลูกกินข้าวเองกี่ขวบดี? กระตุ้นพัฒนาการด้านใดบ้าง?

การได้เฝ้ามองดูลูกเติบโต แข็งแรง มีสติปัญญาที่ดี ล้วนแล้วแต่เป็นความสุขของพ่อแม่ทั้งนั้น ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่ต้องการให้ลูกเติบโตและช่วยเหลือตัวเองได้ดี ต้องเริ่มฝึกตั้งแต่เล็กๆ ค่ะ โดยเริ่มได้ตั้งแต่ 9 เดือนเป็นต้นไป ซึ่งวันนี้โน้ตจะชวนคุณพ่อคุณแม่มาฝึกลูกให้กินข้าวเองกันค่ะ การฝึกนี้เป็นการกระตุ้นพัฒนาการลูกได้ดีมาก ว่าแต่ควรจะเริ่มฝึกกี่ขวบดี เพราะเด็กแต่ละคนมีพัฒนาการช้า-เร็วต่างกัน อ่ะ…เรามาดูกันทีละข้อเลยดีกว่า

Youtube : ฝึกลูกกินข้าวเองกี่ขวบดี? กระตุ้นพัฒนาการด้านใดบ้าง?

ทำไมต้องฝึกลูกให้กินข้าวเอง

การฝึกลูกให้กินข้าวเอง นับเป็นด่านแรกๆ ของลูกที่ต้องเรียนรู้ในเรื่องการช่วยเหลือตัวเอง ทำอะไรด้วยตัวเอง เรามาดูกันค่ะว่าการฝึกให้ลูกกินข้าวเอง มีข้อดีต่อพัฒนาการในด้านใดบ้าง

พัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็ก

เป็นการฝึกกล้ามเนื้อมือของลูกได้เป็นอย่างดี เพราะการหยิบจับแต่ละครั้งของลูก จะทำให้ลูกได้กำและแบ รวมถึงการกะน้ำหนักมือได้ดีขึ้นเป็นลำดับ

พัฒนาด้านการทำงานให้สัมพันกัน

เพราะระหว่างที่ลูกน้อยเรียนรู้การจับอาหารเข้าปากหรือใช้ช้อนตักอาหารนั้น เค้าต้องเรียนรู้การทำงานให้สัมพันกันระหว่างมือกับสายตา

พัฒนาการด้านสติปัญญา

ในระหว่างที่ลูกหัดกินนั้น ลูกจะได้เรียนรู้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการสังเกต การคิดวิเคราะห์ การประมวลผล การวางแผน รวมถึงการแก้ปัญหาอยู่ตลอดเวลา เริ่มจากการจับช้อน ตักอาหาร จะตักชิ้นใหญ่หรือชิ้นเล็ก จะเข้าปากได้หรือไม่ ต้องยกช้อนสูงเท่าไหร่ ถ้าอาหารตกก่อนเข้าปากจะทำอย่างไรดี เป็นต้น

ลูกกินข้าวเอง กลัวไม่อิ่ม ทำอย่างไรดี

เริ่มแรกของการฝึกลูกให้กินข้าวเองนั้น อาหารอาจเข้าปากบ้างไม่เข้าปากบ้าง คุณพ่อคุณแม่จะกังวลแล้วว่าลูกกินไม่อิ่มแน่นอน แต่จะทำอย่างไรดี ให้คุณพ่อคุณแม่แบ่งข้าวออกเป็น 2 จาน ดังนี้นะคะ

จานที่ลูกกินเอง

เป็นจานที่ให้ลูกได้ลองกำ ลองตัก ลองป้อนอาหารเข้าปากเอง จานนี้ปล่อยเค้าเต็มที่เลยค่ะ เป็นจานแห่งการเรียนรู้ไปเลย^^

จานที่ทานจริง

สำหรับจานนี้เป็นจานที่ให้คุณพ่อคุณแม่ป้อน รับรองได้จานนี้ไปลูกอิ่มแน่นอน

เทคนิคฝึกให้ลูกกินข้าวเอง

ปล่อยให้เลอะเทอะบ้าง

โน้ตจะบอกว่า “ความเลอะเทอะ” เป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่อยู่แล้วค่ะ แต่ถ้าจะให้เหนื่อยน้อยหน่อยตอนเก็บกวาดเช็ดถู ก่อนกินอาหารให้คุณพ่อคุณแม่หา “ผ้าหรือกระดาษหนังสือพิมพ์มาปูรองที่พื้น” เพื่อตอนเก็บจะได้รวบเก็บทีเดียว แล้วค่อยเช็ดพื้น เช็ดโต๊ะอีกที

ลดของว่างระหว่างมื้อ

ที่ต้องลดของว่างระหว่างมื้อก็เพราะว่าเป็นการ “ป้องกันลูกเล่นข้าว” ถ้าลูกน้อยกินของว่างจนอิ่มแล้ว เค้าก็จะไม่หิวข้าว ไม่อยากกินข้าว อยากเล่นอย่างเดียว ถ้าเป็นแบบนี้ลูกก็จะไม่ได้เรียนรู้ ไม่ได้ฝึกในเรื่องการกินข้าวเอง

ตกแต่งอาหารให้น่ากิน

หลังจากที่เราลดของว่างระหว่างมื้อลงแล้ว การตกแต่งอาหารให้มีสีสันน่ากินก็เป็นการกระตุ้นความอยากกินอาหารของลูกได้เป็นอย่างดี โดยคุณแม่อาจเลือกผักหรือผลไม้ที่ลูกชอบมาปรุงอาหาร เช่น แครอท ฟักทอง บรอกโคลี ข้าวโพด เป็นต้น เท่านี้ก็เป็นการเพิ่มสีสันในอาหารได้ดีแล้วค่ะ

จัดปริมาณอาหารให้เหมาะสม

คุณพ่อคุณแม่เคยไหมคะที่เวลาเราเห็นอาหารที่มันมากเกินไป เพียงดูก็อิ่มแล้ว? นั่นแหล่ะค่ะ เด็กๆ ก็เป็นเหมือนกัน ดังนั้น การจัดปริมาณอาหารให้เหมาะสมกับที่ลูกกินก็นับเป็นการกระตุ้นความอยากกินอาหารได้อีกทางหนึ่ง

ไม่ทำกิจกรรมอื่นระหว่างทานอาหาร

เช่น การปิดทีวี ปิดมือถือ ปิดสื่อทุกสื่อให้เหลือไว้แต่เพียงช่วงเวลาในการกินข้าวเท่านั้น แบบนี้ก็จะทำให้ลูกมีสมาธิอยู่กับการกินอาหารหรือการฝึกได้ดีค่ะ

กินข้าวพร้อมกัน

ข้อนี้ก็สำคัญค่ะ เพราะการที่คุณพ่อคุณแม่ได้กินอาหารร่วมกันกับลูก จะทำให้ลูกได้เรียนรู้พฤติกรรมและวิธีการกินอาหารจากคุณพ่อคุณแม่ได้ดี แอบกระซิบนิดหนึ่งค่ะ ถ้าครอบครัวไหนต้องการฝึกให้ลูกกินผัก แนะนำให้กับข้าวบนโต๊ะอาหารมีผักด้วยทุกมื้อ ทำให้ลูกเห็นค่ะว่าการกินผักของบ้านเรานั้นเป็นเรื่องปกติ

ขึ้นชื่อว่า “การฝึก” เป็นอะไรที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเหนื่อยอยู่แล้ว แต่เชื่อเถอะค่ะ วันหนึ่งเมื่อคุณพ่อคุณแม่เห็นลูกกินข้าวเองได้ ช่วยเหลือตัวเองได้ รับรองค่ะ คุณพ่อคุณแม่ยิ้มไม่หุบแน่นอนค่ะ