Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

เด็กสองภาษา ทารกรับไหวไหม เริ่มฝึกอย่างไรเพราะพ่อแม่ไม่เก่งภาษาอังกฤษ

เด็กสองภาษา ทารกรับไหวไหม เริ่มฝึกอย่างไรเพราะพ่อแม่ไม่เก่งภาษาอังกฤษ

เชื่อเหลือเกินค่ะว่าในยุคปัจจุบันนี้ คุณพ่อคุณแม่ทุกคนต้องการให้ลูกเป็นเด็กสองภาษา บางครอบครัวอาจมากกว่าสองเสียด้วยซ้ำ แต่ก็ยังมีข้อสงสัยว่าลูกน้อยจะสับสนมั้ย? การพูดได้สองภาษาจะมีประโยชน์มากน้อยแค่ไหน? และต้องเริ่มฝึกลูกน้อยอย่างไรเพราะคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ได้เก่งภาษาอังกฤษ?

เด็กสองภาษา คืออะไร?

เด็กสองภาษา” คือ เด็กที่สามารถพูดภาษาหลักได้หรือภาษาของคุณพ่อคุณแม่ได้ 1 ภาษา และภาษาเสริมอีก 1 ภาษาหรืออาจจะมีภาษาที่ 3 หรือ 4 ตามมา

ทารกจะรับไหวไหม?

จากงานวิจัยพบว่า ทารกเริ่มเรียนรู้เสียงในภาษาต่าง ๆ ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เสียงของแม่เป็นเสียงที่ชัดเจนที่สุดที่ทารกได้ยิน และเมื่อลืมตาดูโลกทารกจะสามารถแยกระดับเสียงของภาษาได้ดี สามารถรู้ถึงความแตกต่างของภาษาแม่กับภาษาอื่นได้ดีเช่นกันทุกภาษาในโลกมีทั้งหมดประมาณ 800 เสียง
ทารกแรกเกิดจะมีพรสวรรค์พิเศษที่ติดตัวมาด้วย นั่นคือ “ความสามารถในการแยกความแตกต่างของเสียงทั้ง 800 เสียง” ซึ่งหมายความว่า…

“ทารกสามารถเรียนรู้ภาษาใดก็ตามที่เค้าได้ยินได้ฟังบ่อยๆ”

สังเกตได้จากเด็กที่เกิดและเติบโตที่ภาคใต้ก็จะพูดภาษาใต้ได้ หรือเด็กที่เกิดและเติบโตที่ภาคเหนือก็จะพูดภาษาเหนือได้ เป็นต้น
ดังนั้น ในระหว่าง 6 – 12 เดือน เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด หากจะเริ่มปลูกฝังให้ลูกได้รับรู้ภาษาที่ 2 หากอายุครบ 1 ปี ทารกที่เรียนรู้ภาษาเดียว ความสามารถในการแยกความแตกต่างของเสียงจะลดลง

ส่วนตัวโน้ตเอง เริ่มให้น้องมินได้ทำความคุ้นเคยกับภาษาอังกฤษก็ตั้งแต่เกิดเลยค่ะ เช่น การร้องเพลงภาษาอังกฤษง่าย ๆ เช่น เพลง ABC เป็นต้น

ประโยชน์จากการเป็นเด็กสองภาษา

ถ้าดูจากภาพรวมของสังคมยุคปัจจุบันแล้ว เด็กที่ได้มากกว่า 1 ภาษาย่อมได้เปรียบมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นโอกาสในการเรียนรู้ หรือโอกาสในการทำงาน
…หรือถ้าดูจากงานวิจัย พบว่าเด็กที่สามารถพูดได้สองภาษามีการทำงานของสมองดีกว่า เช่น สามารถเปลี่ยนความสนใจจากงานหนึ่งไปยังอีกงานหนึ่งหรือหลายงานได้และมีการจัดการกับปัญหาได้ดีกว่า
นอกจากนี้ เมื่อเทียบกับเด็กที่พูดได้ภาษาเดียว เด็กที่สามารถเรียนรู้ได้มากกว่า 1 ภาษา เค้าจะเข้าใจพื้นฐานทางภาษาได้ดีกว่า ซึ่งง่ายต่อการต่อยอด หากต้องการเรียนรู้ภาษาที่ 3 และ 4ในอนาคต

เริ่มฝึกอย่างไรดี เพราะคุณพ่อคุณแม่ไม่เก่งภาษาอังกฤษ

จากที่กล่าวมาข้างต้น…

“ลูกอายุเกิน 1 ขวบแล้ว ยังเรียนรู้ได้อยู่อีกมั้ย?”
“คุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกเป็นเด็กสองภาษาจะเริ่มอย่างไรดี?”

ไม่มีใครแก่เกินเรียนและไม่มีอะไรที่สายเกินไป หากเริ่มซะตั้งแต่วันนี้มาเริ่มกันเลยค่ะ

ไม่ต้องจบต่างประเทศ

คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนลูกได้ ถึงแม้ว่าไม่ได้สามารถพูดภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่วเหมือนคนที่เรียนจบต่างประเทศ เพียงแค่ชี้บอกเค้าเป็นภาษาอังกฤษจากกิจวัตรประจำวัน สัตว์หรือสิ่งของรอบตัวก่อน เช่น แปรงฟัน กินข้าว ดื่มน้ำ สุนัข แมว พัดลม ช้อน พระอาทิตย์ พระจันทร์ เป็นต้น

…จากประสบการณ์ผู้เขียนเอง จะสอนเค้าแบบไม่ต้องแปลค่ะ เช่น ด๊อก แคท มูน สตาร์ ไปเลย ไม่ต้องบอกว่า ด๊อก สุนัข แคท แมว คือให้เค้ารับรู้ว่า สิ่งนั้นเรียกว่า ด๊อก ไปเลยให้มโนว่าเราอยู่ต่างประเทศเลยค่ะ เพราะหากแปลด้วยเค้าจะจำแต่ภาษาไทย ซึ่งเป็นภาษาแม่ที่เข้าใจง่ายสุด

อุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียนการสอน

อุปกรณ์การเรียนการสอนก็เป็นตัวเสริมที่สำคัญค่ะ เพราะจะช่วยให้คุณแม่สอนลูกน้อยแบบเป็นหมวดเป็นหมู่ได้มากขึ้น เช่น หนังสือนิทาน 2 ภาษาหรือภาษาเสริมล้วนเลยก็ดีค่ะ หรือบัตรคำในหมวดต่าง ๆ ที่คุณแม่ต้องการจะสอนลูกน้อย
หรือคุณแม่บางคนอาจจะไปจำเพลงมาจากใน youtube แล้วมาร้องเพลงให้ลูกฟัง พร้อมกับจับมือลูกน้อยปรบมือตามก็ได้นะคะ ถือเป็นการช่วยในเรื่องพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็กและการออกเสียงอีกด้วยค่ะ

ค่อยเป็น ค่อยไป

การที่จะได้มาซึ่งเด็กสองภาษานั้น คุณแม่และครอบครัวต้องใจเย็นๆ นะคะ ค่อยเป็นค่อยไป อย่าลืมว่าเด็กแต่ละคนมีพัฒนาการที่ต่างกัน ที่สำคัญ ต้องคอยชม และให้กำลังใจลูกเมื่อเค้าทำสำเร็จ

คุณพ่อคุณแม่ค้นคว้าหาข้อมูล

ต้องบอกว่าในยุคนี้ เด็ก ๆ มีโอกาสเรียนรู้ภาษาอังกฤษได้มากกว่ายุคก่อน ซึ่งคุณพ่อคุณเอง อาจจะไปไปหาช่องภาษาอังกฤษจาก youtube ก็ได้ค่ะ แล้วนำคำศัพท์หรือประโยคต่าง ๆ มาเก็บในไฟล์เอกซ์เซล เมื่อได้เวลาที่จะพูดกับลูกหรือฝึกลูกก็สามารถเปิดดูได้เลย

เลือกสำเนียงให้ลูกในการฝึก

อย่างที่เราทราบกันดีว่าสำเนียงภาษาอังกฤษที่ได้รับความนิยมจะมีอยู่ 2 สำเนียงด้วยกันคือ สำเนียงบริติชอิงลิช (British English) และ สำเนียงอเมริกัน (American English) ซึ่งคนส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะคนไทย) จะเลือกสำเนียงอเมริกันมากกว่า เพราะออกเสียงง่ายกว่า และหนังภาพยนตร์ต่าง ๆ ก็เป็นสำเนียงอเมริกันซะส่วนใหญ่ ทำให้เราเรียนรู้ได้ง่ายกว่านั่นเอง

จากการที่เริ่มฝึกน้องมินตั้งแต่เล็ก ประโยคแรกที่เค้าพูดได้ตอนอายุประมาณ 2 ขวบคือ “I’m impressed” ตอนนี้น้องสามารถแยกสำเนียงได้ระหว่างสำเนียงอเมริกันและสำเนียงอังกฤษ ไม่ได้บอกว่าลูกเก่งค่ะ แต่สิ่งนี้เป็นบทพิสูจน์ว่าสมองของลูกรับสิ่งต่าง ๆ ได้มากกว่าที่เราคิด

ความเข้าใจผิด ๆ ที่ไม่ควรทำ หากอยากให้ลูกเป็นเด็กสองภาษา

เข้าใจว่าลูกจะเรียนรู้ภาษาอังกฤษได้เองโดยอัติโนมัติ

คุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจเข้าใจว่า ถึงแม้ว่าจะไม่ได้สอนลูกในภาษาอังกฤษ ลูกก็สามารถเข้าใจได้เอง ซึ่งความจริงแล้วหากเด็กไม่ได้รับการฝึกฝนอย่างถูกต้อง สิ่งที่ได้ เด็กจะเป็นเด็กที่เข้าใจในภาษาที่สองได้ แต่ไม่สามารถพูดสื่อสารออกมาได้

ลงทุนผิดประเภท

มีหลายครอบครัวที่ทุ่มเทซื้อของเล่น หรือหนังสือภาษาอังกฤษมามากมาย หวังว่าลูกคงจะได้เรียนรู้จากสื่อเหล่านี้ แต่แท้ที่จริงแล้ว คุณพ่อคุณแม่ต่างหากค่ะ ที่เป็นครูที่ดีที่สุดของลูก นอกจากที่คุณพ่อคุณแม่จะสอนลูกเองแล้ว ลองหาโอกาสพาลูกเข้าไปในกลุ่มที่มีการสื่อสารภาษาอังกฤษดู แบบนี้ก็จะทำให้ลูกได้เรียนรู้เร็วขึ้น และเป็นการประหยัดเงินในกระเป๋าคุณพ่อคุณแม่อีกด้วยค่ะ

แก้คำผิดให้ลูกทุกครั้งที่ลูกพูด

เข้าใจว่าคุณพ่อคุณแม่หวังดีค่ะ แต่การแก้คำผิดที่ลูกพูดทุกครั้งจะเป็นการทำให้ลูกเสียกำลังใจ และไม่มั่นใจที่จะพูดออกมาอีก การแก้คำผิดทำได้ค่ะ แต่ถ้าเป็นอะไรที่เล็ก ๆ น้อย ๆ คุณพ่อคุณแม่ก็ปล่อยไปบ้างก็จะเป็นการดีกว่านะคะ คิดซะว่าเพื่อให้ลูกได้มีกำลังใจในการเรียนรู้ต่อไป

ใช้ทีวีเป็นครูช่วยสอน

เพราะทีวีเป็นการสื่อสารแบบทางเดียว พูดแล้วจบก็จบกัน เด็ก ๆ จะไม่ได้รับการฝึกใด ๆ จากทีวี ยกเว้นเสียแค่ว่า มีคุณพ่อคุณแม่นั่งดูอยู่ด้วย ถ้าหากลูกมีคำถามช่วงไหน แล้วคุณพ่อคุณแม่ก็ตอบลูกได้แบบนี้ก็จะดีกว่าการปล่อยให้ลูกอยู่กับทีวีตามลำพังค่ะ

Mindset ที่ผิด

ด้วยความคิดที่ว่า “ไม่ได้สอนลูกมาตั้งแต่เด็ก ๆ มาสอนตอนนี้จะไม่ทันแล้ว” ความจริงแล้วขอเพียงให้ลูกมีความมุ่งมั่น มีความตั้งใจในการเรียนรู้ ไม่ว่าลูกจะอายุเท่าไหร่ก็สามารถเรียนรู้ได้ค่ะ โดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยให้กำลังใจลูก พร้อมเดินไปด้วยกันกับลูกก็พอค่ะ

เห็นมั้ยล่ะคะว่า ไม่มีอะไรยากเลยหากคุณพ่อคุณแม่ต้องการให้ลูกน้อยเป็นเด็กสองภาษาหรืออาจจะสามหรือสี่ในอนาคต เพียงแต่ตอนนี้อย่าปล่อยให้เวลาทองหลุดลอยไป…เท่านั้นพอ แล้วเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าลูกถึงวัยที่จะเริ่มเรียนภาษาอังกฤษได้แล้ว? หรือว่าถ้าเราสอนลูกไปแล้ว จะเป็นการสอนที่ถูกจังหวะและตรงตามวัยหรือเปล่า? ถ้าเป็นอย่างนั้นไปติดตามกันต่อกับททความนี้เลยค่ะ “เริ่มพูดภาษาอังกฤษกับลูกตอนไหน ควรให้ลูกเรียนภาษาอังกฤษกี่ขวบถึงจะได้ผล


ลังเลอยู่ใช่ไหมว่าจะฝึกลูกพูดภาษาอังกฤษกี่ขวบถึงจะได้ผล? และมีอะไรที่รองรับหรือไม่ว่าสมองของลูกรับได้จริง? ไปดูงานวิจัยชิ้นนี้กันเลยค่ะ คลิกที่นี่