Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ลูกไม่ยอมนอนทำอย่างไรดี…

ลูกไม่ยอมนอนทำอย่างไรดี…

ทำไมลูกไม่ยอมนอนสักที ทำทุกวิถีทางแล้วก็ยังเอาไม่อยู่ “ลูกจ๋า นี่แม่ไง” จำกันได้ไหม ถ้าคุณแม่ต้องเผชิญสถานการณ์เช่นนี้ ทำใจให้สงบแล้วตั้งสติให้ดีนะคะ

จากการที่ลูกเหมือนเป็นส่วนหนึ่งในร่างกายอยู่ในท้องของแม่ แม่ทานอะไรลูกก็ได้รับด้วย แม่สบายใจอารมณ์ดีหรือแม่หงุดหงิดอารมณ์เสียลูกก็รับรู้ ไม่ว่าแม่จะทำอะไรทุกอย่างล้วนส่งผลถึงลูกหมดเมื่อลูกอยู่ในท้องแม่

เมื่อเขาได้ออกมาสู่โลกกว้างใบนี้ โดยมีลมหายใจของเขาเอง มีชีวิตเป็นของเขาเอง แม้จะไม่ได้เชื่อมต่อกันด้วยสายรก แต่สายใยแห่งความรักแนบแน่น บทบาทต่อไปของแม่ผู้ให้ชีวิตคือการฟูมฟักดูแลให้เขาเติบโตมีพัฒนาการสมวัยด้วยหัวใจแห่งความรัก

นับจากวินาทีแรกที่ได้ยินเสียงลูกร้อง “อุแว้ๆๆ” น้ำตาแห่งความปลื้มปีติยินดีก็ปริ่มๆอยู่ที่ขอบตาโดยอัตโนมัติ มันเต็มตื้น ยินดี วันนี้ที่รอคอยของแม่ทุกคน ได้เห็นลูกออกมาโดยสมบูรณ์ปลอดภัย สัมผัสถึงลมหายใจแรกแห่งชีวิตของลูกน้อย

Youtube : ลูกไม่ยอมนอนทำอย่างไรดี…

ลูกวัย 0-3 เดือน

เมื่อทารกอยู่ในครรภ์มารดาในพื้นที่อันจำกัดทารกได้รับการปกป้องจากสิ่งต่างๆมากมาย ในสภาวะที่ออกมาสู่โลกภายนอกอันมีเนื้อที่ไม่จำกัด เด็กจึงรู้สึกเคว้งคว้าง เมื่อเขาวาดแขนขาไปมา ลูกน้อยต้องการสัมผัสอ้อมกอดแห่งความอบอุ่น เพื่อปลอบประโลมเขาให้มั่นใจว่า “เขาจะไม่เดียวดายในโลกใบนี้
ใจสู่ใจ” ใจแม่สู่ใจลูก เราต้องมาทำความรู้จักกันแล้วนะ คุณแม่อาจจะคิดว่าเรารู้จักลูกอย่างดีตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา แต่เมื่อลูกน้อยออกมาจากท้องแม่แล้ว คุณแม่ต้องเรียนรู้บทเรียนแห่งชีวิตบทใหม่

มาเริ่มรู้จักลูกน้อยกันเถอะ คุณแม่ต้องสังเกตนาฬิกาชีวิตของลูกนะคะ ค่อยๆเรียนรู้ ทำความรู้จักกับเจ้าตัวน้อย

อุณหภูมิ

ทารกถ่ายเทความร้อนส่วนใหญ่ของร่างกายบริเวณศีรษะ การอยู่ในที่เย็นๆ หรือห้องแอร์ เราจึงควรสวมหมวกเพื่อปกป้องกระหม่อมที่เปิดอยู่ เป็นส่วนกะโหลกศีรษะที่ยังอ่อน กะโหลกศีรษะด้านหลังจะแข็งกว่า ส่วนที่ค่อนมาด้านหน้าใช้เวลาประมาณ 18 เดือนจึงจะปิด

เราไม่ควรให้เด็กๆอยู่ในสถานที่ๆร้อนเกินไป เพราะจะทำให้เกิดความระคายเคือง และเกิดผดผื่นคัน กับผิวอันบอบบางของลูกน้อย ทำให้ลูกน้อยไม่สบายตัว และอาจเป็นสาเหตุของอาการงอแงไม่ยอมนอนได้ ควรอยู่ในที่ๆอากาศถ่ายเทได้สะดวก

ปริมาณนมเพียงพอหรือไม่

อาหารที่วิเศษที่สุดของทารก คือ น้ำนมแม่ที่อุดมไปด้วยสารอาหารแถมยังมีภูมิต้านทานโรคให้ลูกด้วย นอกจากนี้ ช่วงเวลาที่ให้นมลูกคือช่วงเวลาทองลูกจะได้ทั้งสัมผัสรักเติมเต็มใจและความอิ่มท้องเติมเต็มกาย

ตามคำแนะนำจากคุณหมอ ทารกต้องการนมทุกๆ 2-3 ชั่วโมง คุณแม่ควรสังเกตว่าลูกน้อยต้องการนมปริมาณเท่าใด เด็กบางคนทานน้อย เด็กบางคนทานจุ คุณแม่ต้องป้อนนมให้เพียงพอต่อความต้องการของเขา เพราะถ้าลูกทานนมไม่เพียงพอ จะรบกวนการนอนและอาจทำให้ลูกตื่นบ่อยได้ นอกจากนี้ ควรรักษาความอบอุ่นให้กับอวัยวะต่างๆของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งอวัยวะที่เกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร ดังนั้น อาหารของเด็กต้องอุ่นพอเหมาะ ตามอุณหภูมิของร่างกาย และหลังจากให้นมลูกเรียบร้อยแล้วควรอุ้มหรือลูบหลังให้ลูกเรอทุกครั้ง เพื่อช่วยไม่ให้ลูกปวดท้องแน่นท้อง

การจัดการแสง

เด็กเล็กๆ ยังสู้แสงจ้ามากไม่ได้ เช่น แสงแดดแสงไฟ ดังนั้น การจัดบริเวณที่ทารกอยู่ให้มีแสงที่พอเหมาะ เลี่ยงแสงจ้า ในเด็กระยะ 0-6 สัปดาห์ เพื่อให้ลูกสบายตาและสามารถสำรวจโลกภายนอกได้ดี

เสียง

เด็กวัยนี้จะผวาง่ายเวลาได้ยินเสียงดังมากๆ อาจทำให้แขนขาสะดุ้งสุดตัว บางคนจึงแนะนำให้ห่อตัวลูกเพื่อให้ลูกหลับได้นาน ไม่นอนสะดุ้ง บางทีลูกอาจร้องไห้ไม่หยุดเมื่อได้ยินเสียงอึกทึก เพราะฉะนั้น ขณะที่ลูกต้องการพักผ่อนก็ควรอยู่ในที่สงบเงียบ

คุณแม่ไม่ถึงกับต้องย่องเบาเวลาอยู่กับลูกนะคะ ทำให้เป็นธรรมชาติ ให้ลูกน้อยค่อยๆปรับความคุ้นชินกับเสียงที่เกิดขึ้นในบ้าน
รู้หรือไม่ว่าเสียงที่ลูกโปรดปรานที่สุด คือ เสียงคุณพ่อคุณแม่นั่นเอง

ลองพูดคุยกับลูกบ่อยๆ ถึงแม้ว่าลูกยังพูดไม่ได้แต่เขารับรู้ความรักความรู้สึกผ่านเสียงของคุณได้นะคะ
ร้องเพลงกล่อมเวลาเขาต้องการหลับ จะช่วยให้ลูกผ่อนคลายและหลับได้ง่ายขึ้น แต่ก็ต้องสังเกตพฤติกรรมของลูกนะคะ บางคนชอบให้ร้องเพลง บางคนชอบให้สัมผัส ให้ลูบหลังตบก้นเบาๆ ก็พอ

การเลี้ยงลูกในวัย 0-3 เดือนนี้ ทารกยังไม่สามารถทำอะไรได้เองเลย เราจึงต้องจัดเตรียมทุกอย่างให้เขาตลอด 24 ชั่วโมง สิ่งที่สำคัญที่เด็กต้องการคือความรัก การเลี้ยงดู ความสบายกายสบายใจ
หมั่นสังเกตเสียงร้อง เพราะเขายังพูดไม่ได้ สิ่งที่สื่อสารได้คือการร้อง เสียงร้องแบบใดคือ หิว เปียกแฉะ อยากให้เปลี่ยนผ้าอ้อม ร้องโยเยเพราะปวดท้องท้องอืด หรือร้องเพราะเบื่อ อยากให้อุ้ม อยากให้เล่น เป็นต้น เรียนรู้และเติบโตไปพร้อมๆกับลูกของเรานะคะ