Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

วิธีทำให้ลูกหลับยาวตอนกลางคืน หลับสบาย นอนง่ายมากขึ้น

วิธีทำให้ลูกหลับยาวตอนกลางคืน หลับสบาย นอนง่ายมากขึ้น

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่เพิ่งคลอดลูก จะรู้กันดีว่า ช่วง 3-4 เดือนแรกลูกน้อยจะตื่นทุกๆ 3-4 ชั่วโมงเพื่อทานนม เมื่อลูกตื่น คุณพ่อคุณแม่ก็ตื่นตามไปด้วย (พ่อบางท่านอาจไม่ตื่น แต่คุณแม่ตื่นแน่นอน) เป็นอะไรที่เหนื่อยกันสุดๆ ช่วงนี้ ซึ่งการนอนของเด็กแต่ละช่วงวัยก็จะพบปัญหาต่างกัน เด็กบางคนพอโตขึ้น ชอบเล่นกลางคืน หลับกลางวันก็มีค่ะ วันนี้เราลองมาทำความเข้ากันเรื่องการนอน และวิธีการแก้ไขกันดีกว่าค่ะ

พัฒนาการเด็กกับการนอน

จากการวิจัยเรื่องการนอนของทารก พบว่า ทารกจะใช้เวลาในการนอน 16 ชั่วโมงต่อวัน โดยจะตื่นและร้องเพราะความหิวทุก 3-4 ชั่วโมง (ทารกบางคน 2-3 ชั่วโมงก็มี) เรียกได้ว่าช่วง 3 เดือนแรก คุณพ่อคุณแม่กลายเป็นหมีแพนด้าไปตามๆ กัน แต่เมื่อลูกน้อยเติบโตขึ้น เค้าก็จะนอนได้นานขึ้น ซึ่งพบว่าร้อยละ 70 ของเด็กอายุ 3 เดือน จะเริ่มหลับยาวได้ตลอดคืน และในขณะที่อายุ 4 เดือน เด็กหลายคนจะหลับได้นานถึง 8 ชั่วโมง

สาเหตุที่ทำให้ลูกตื่นกลางดึก

ทารกที่ตื่นกลางดึกสาเหตุส่วนใหญ่มาจากความหิว

เวลากลางวัน

คุณพ่อคุณแม่มักให้นมลูกห่างกันแค่ 1-2 ชั่วโมง ลูกจึงเกิดความเคยชินพอกลางดึกยังคงหิว ต้องทานนมบ่อยเหมือนตอนกลางวัน

เวลากลางคืน

คุณพ่อคุณแม่ตอบสนองการตื่นในเวลากลางคืนด้วยการให้นมทุกครั้ง เรียกว่า ไม่ว่าลูกจะร้องจริงจัง ร้องดัง ร้องเบา ร้องแอ๊ะ ก็รีบเอาขวดนมใส่ปากทันที ซึ่งก็เหมือนกับฝึกลูกน้อยให้ตื่นมาทานนมกลางดึกตลอด แทนที่คุณพ่อคุณแม่จะได้พักนานขึ้นกลับกลายเป็นไม่ต่างอะไรกับตอนแรกคลอดเลย

เพราะธรรมชาติของทารก เมื่อเราเอาขวดนมใส่ปาก กลไกทางระบบประสาทที่เรียกว่า รีเฟลกซ์ (Sucking Reflex) จะทำงานทันที ไม่ว่าจะเป็นจุกนมหรือเต้านมของคุณแม่ เด็กจะตอบสนองด้วยการดูดอัตโนมัติ และแน่นอน…เด็กหยุดร้อง แบบนี้แหละค่ะ ที่ทำให้เราเชื่อกันว่าลูกร้องเพราะหิวนม เอานมป้อนทีไร หยุดร้องทุกที (ความจริงคือ กินไป ร้องไปไม่ได้อยู่แล้วโนะ^^) และลูกก็กลายเป็นถูกฝึกให้คุ้นเคยกับการตื่นมากินนมกลางดึก

หาสาเหตุลูกร้องก่อน

หากลูก 4 เดือนแล้ว แต่ยังคงตื่นมาร้องกลางดึกอยู่ (ซึ่งจริง ๆ ควรจะหลับยาว) ให้คุณพ่อคุณแม่หาสาเหตุเบื้องต้นก่อนนะคะ เช่น เปียกอุจจาระ ปัสสาวะหรือไม่ อากาศร้อน หรือเย็นเกินไป ปวดท้อง หรือถ้าไม่ใช่สาเหตุที่เหล่านี้ ให้คุณแม่ลองตบก้นเบาๆ หรืออุ้มปลอบดูก่อนซักพัก แต่ถ้าลูกไม่หยุดร้องจริง ๆ ก็ให้ลูกน้อยดูดน้ำจากขวดนมแทนการให้นมนะคะ
คุณพ่อคุณแม่อย่าสับสนกับ “ร้องโคลิก (Colic)” นะคะ เพราะร้องโคลิกอายุจะอยู่ที่แรกเกิด – 3 เดือนค่ะ

ในช่วงนี้ช่วงที่ลูกร้องโคลิก ให้คุณพ่อคุณแม่พยายามหาสิ่งต่าง ๆ มาเบี่ยงเบนความสนใจลูก เช่น ของเล่น หรืออุ้มลูกพาไปเดินเล่น แต่ถ้าลูกยังไม่หยุดร้อง ให้คุณพ่อคุณแม่อุ้มลูก กอดลูกไว้ เพื่อลูกจะได้รู้สึกอบอุ่น รู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่ทิ้งเขาไปไหนค่ะ


ลูกร้องโคลิก คุณแม่จะรับมืออย่างไรดี? ไปดูกันค่ะ

ตารางการนอนของทารก

ก่อนจะไปดูวิธีที่จะทำให้ลูกหลับยาวในตอนกลางคืน โน้ตอยากชวนคุณพ่อคุณแม่มาดูตารางการนอนของทารกกันซักนิดก่อนดีกว่าค่ะ

  • ปกติแล้วการนอนทารกจะนอนเป็นช่วง ๆ โดยรวมแล้วประมาณ 16 – 18 ชั่วโมง แล้วก็จะนอนติดต่อกันแบบยาว ๆ ในช่วงกลางคืน ส่วนช่วงกลางวันทารกจะนอนน้อยลงจนเหลือแค่ 2 งีบ เช้า บ่าย จะเป็นไปในลักษณะนี้จนถึงอายุประมาณ 12 – 15 เดือน การงีบในช่วงกลางวันก็จะไม่มีแล้ว
  • การนอนของทารกวัย 1 เดือน
    • จำนวนการนอน 3 – 4 ครั้งต่อวัน
    • รวมชั่วโมงการนอนกลางวันประมาณ 7 – 8 ชั่วโมง
    • รวมชั่วโมงการนอนกลางคืนประมาณ 8 – 9 ชั่วโมง
    • รวมชั่วโมงการนอนทั้งหมดแล้วประมาณ 15 – 16 ชั่วโมง
  • การนอนของทารกวัย 3 เดือน
    • จำนวนการนอน 3 ครั้งต่อวัน
    • รวมชั่วโมงการนอนกลางวันประมาณ 5 – 6 ชั่วโมง
    • รวมชั่วโมงการนอนกลางคืนประมาณ 9 – 10 ชั่วโมง
    • รวมชั่วโมงการนอนทั้งหมดแล้วประมาณ 14 – 15 ชั่วโมง
  • การนอนทารกวัย 6 เดือน
    • จำนวนการนอน 2 – 3 ครั้งต่อวัน
    • รวมชั่วโมงการนอนกลางวันประมาณ 3 – 4 ชั่วโมง
    • รวมชั่วโมงการนอนกลางคืนประมาณ 10 – 11 ชั่วโมง
    • รวมชั่วโมงการนอนทั้งหมดแล้วประมาณ 14 – 15 ชั่วโมง
  • การนอนของทารกวัย 9 เดือน
    • จำนวนการนอน 2 ครั้งต่อวัน
    • รวมชั่วโมงการนอนกลางวันประมาณ 3 ชั่วโมง
    • รวมชั่วโมงการนอนกลางคืนประมาณ 11 ชั่วโมง
    • รวมชั่วโมงการนอนทั้งหมดแล้วประมาณ 14 ชั่วโมง

วิธีทำให้ลูกหลับยาวตอนกลางคืน

พยายามให้ลูกหลับบนเบาะหรือเตียงทุกครั้ง

ฝึกลูกให้นอนเองที่เบาะ ต้องใจแข็งนะคะ ไม่อย่างนั้นเค้าจะชินกับการที่ต้องอุ้มหลับ ซึ่งส่งผลให้คุณพ่อคุณแม่เกิดอาการปวดหลังได้ค่ะ (อุ้มนาน) ที่สำคัญเวลาที่เค้ามีน้ำหนักมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่จะยิ่งปวดหลังใหญ่เลยค่ะ

จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม

เช่น ไม่มีเสียงรบกวน ไม่ควรมีข้าวของเครื่องใช้เยอะในห้องนอนนะคะ เพราะห้องนอนควรเป็นที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ร่างกายจะได้รับออกซิเจนเต็มที่ ปิดไฟนอน ไม่ควรมีทีวีในห้องนอนหรือหากเลี่ยงไม่ได้ ให้ปิดทีวีนอนไม่เปิดค้างไว้จนให้ทีวีดูเรานะคะ

ไม่ควรเล่นกับลูกก่อนเวลานอน 1 ชั่วโมง

เพราะจะทำให้ลูกสนุก ตื่นเต้น และไม่ง่วงเลยก็มี ผู้เขียนว่าเปลี่ยนการเล่นสนุกมาเป็นอ่านนิทานให้ลูกฟังดีกว่าค่ะ

เพราะทารกโดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรก ทารกต้องการการปรับตัวค่ะ จริง ๆ คุณแม่ด้วยแหละค่ะ^^ แต่ถ้าคุณแม่เข้าใจเหตุผลที่ลูกตื่นกลางดึกแล้ว การปรับพฤติกรรมลูกก็ไม่ใช่เรื่องยากแล้วล่ะค่ะ เพียงแต่ต้องอาศัยความใจเย็นซักหน่อย เป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวนะคะ